สกู๊ปพิเศษ เปิด 5 เหตุผล ยังไม่เลื่อน ‘โอลิมปิก2020’

หลังจากโดนกดดันอย่างหนักจากรอบด้าน ในที่สุด คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็เริ่มมีท่าทีโอนอ่อนเรื่องการพิจารณาเลื่อนการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อย่างจริงจัง ทั้งที่ยืนกรานหนักแน่นมาโดยตลอดว่ายังไม่ต้องรีบร้อนตัดสินใจ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก

หลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใดทั้ง ญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าภาพ และไอโอซีในฐานะเจ้าของการแข่งขัน จึงดื้อดึง หรือปล่อยเวลาให้ยืดเยื้อขนาดนี้แทนที่จะรีบตัดสินใจ เพราะขนาดศึกกีฬาใหญ่ในรอบปีเดียวกันอย่าง ยูโร 2020 ยังเลื่อนไปแล้ว 1 ปีเรียบร้อย

สำนักข่าว เอเอฟพี ได้สรุปข้อมูลและเหตุผลน่าสนใจว่าเหตุใดทั้งไอโอซีและญี่ปุ่นจึงประวิงเวลาการตัดสินใจมาเนิ่นนานขนาดนี้ ดังนี้…

– ยังเหลือเวลาอีก 4 เดือน
ก่อนหน้านี้ โธมัส บาค ประธานไอโอซี ย้ำแล้วย้ำอีกว่า การแข่งขันจะจัดตามกำหนเวลาเดิม คือพิธีเปิดในวันที่ 24 กรกฎาคม
บาคบอกว่า ช่วงเวลา 4 เดือนนี้ ยังคาดเดาอะไรไม่ได้ โดยเฉพาะสถานการณ์โรคระบาด จึงยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัดสินใจ และควรรับฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญให้รอบด้านก่อน โดยไอโอซีได้ตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาติดตามสถานการณ์อยู่แล้ว
ในทางตรงข้าม บาคบอกว่าการด่วนตัดสินใจเลื่อนแข่งล่วงหน้านานๆ อาจจะเป็นการไม่รับผิดชอบอยู่สักหน่อย เพราะถึงเวลานั้นจริงๆ ย่อมมีความเป็นไปได้หลายอย่าง

Advertisement

– ยอมสยบแค่สงครามโลกเท่านั้น
ที่ผ่านมา โอลิมปิกเกมส์เคยยกเลิกการแข่งขัน 3 ครั้ง คือในปี 1916, 1940 และ 1944 ซึ่งสาเหตุที่ต้องยกเลิกการแข่งขันก็เพราะสถานการณ์สงครามโลก
แต่หลังจากนั้น แม้ว่าโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ใหญ่ๆ อีกหลายครั้ง เช่นวิกฤตเศรษฐกิจปี 1987 หรือสงครามอ่าวปี 1991 แต่โอลิมปิกเกมส์ซึ่งจัดในช่วงนั้น (คือปี 1988 ที่กรุงโซล และปี 1992 ที่นครบาร์เซโลนา) ต่างก็เดินหน้าจัดต่อไป
นาตาลี เนนง ซิมเมอร์มันน์ หัวหน้าสาขาปารีสของบริษัท ออนลี่ สปอร์ตส์ แอนด์ แพชชั่น ซึ่งดูแลด้านการตลาดกีฬา กล่าวว่า การยกเลิกหรือเลื่อนจัดโอลิมปิกเกมส์ มีผลต่อภาพลักษณ์ของการแข่งขันโดยตรง
เนื่องด้วยโอลิมปิกเกมส์คือสัญลักษณ์แห่งการรวมพลังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวไม่ว่าจะเผชิญกับอุปสรรคหรือความยากลำบากขนาดไหน และที่ผ่านมา โอลิมปิกจะยอมถอยให้เพียงสงครามโลกซึ่งกระทบในวงกว้างจริงๆ รวมถึงมีเรื่องการเมืองระดับโลกเข้ามาเกี่ยวข้องเท่านั้น

– ญี่ปุ่นมีอำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้าย
แม้ว่าไอโอซีในฐานะเจ้าของการแข่งขันจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรต่อไปกับ “โตเกียวเกมส์” แต่อำนาจตัดสินใจในท้ายที่สุดเป็นของคณะกรรมกรจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นในฐานะเจ้าภาพ โดยคำแนะนำจาก องค์การอนามัยโลก (WHO)
แพทริก คลาสเตรส แห่งศูนย์โอลิมปิกศึกษาและกีฬาโลก มหาวิทยาลัยโลซานน์ กล่าวว่า นอกจากหารือกับ WHO แล้ว คณะกรรมการจัดการแข่งขันยังต้องคุยกับสหพันธ์กีฬาชาติต่างๆ เอเยนซีด้านการตลาด และสื่อให้รอบด้านก่อนตัดสินใจด้วย

Advertisement

– ผลกระทบด้านเศรษฐกิจครั้งใหญ่
ไอโอซีจะแบ่งสรรรายได้จากโอลิมปิกเกมส์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ให้กับองค์กรกีฬาระดับต่างๆ เช่นในการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ไอโอซีมีรายได้สูงถึง 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.71 แสนล้านบาท) ถ้าเลื่อนการแข่งขัน จะกระทบกับงบอุดหนุนองค์กรกีฬาทั่วโลกอย่างแน่นอน
หนึ่งในแหล่งรายได้หลักของไอโอซี คือสถานีโทรทัศน์ เอ็นบีซี ของสหรัฐ ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขัน ขายโฆษณาการถ่ายทอดโตเกียวเกมส์ไปแล้ว 970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2.91 หมื่นล้านบาท)
ในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากจะมีการเลื่อนการแข่งขัน สถานีโทรทัศน์เหล่านี้ย่อมต้องการมีปากเสียงในการกำหนดวันแข่งใหม่ เพราะต้องปรับผังรายการให้สอดคล้องกันด้วย
แน่นอนว่าเมื่อขายโฆษณาไปแล้ว ไม่มีถ่ายทอด ก็ต้องมีการจ่ายเงินชดเชย หรือถ้าเลวร้ายจัดแข่งไม่ได้ ต้องยกเลิกไปเลย จะเป็นหายนะครั้งใหญ่ที่ภาคธุรกิจหลายส่วนต้องแบกรับ

– เจ้าภาพขาดทุนยับ
ฌอง ลูป์-ชัปเปอเลต์ นักวิชาการโอลิมปิเกมส์จากโลซานน์ กล่าวว่า เจ้าภาพลงทุนไปมหาศาลจากการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพ ทั้งวางระบบสาธารณูปโภค ทั้งการคมนาคม และที่พัก โดยเฉพาะการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อรองรับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ 11,000 คน ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องหาทางรับมือ
เนื่องด้วยโดยปกติแล้ว หมู่บ้านนักกีฬาซึ่งสร้างในรูปของอพาร์ตเมนต์นั้น มักจะวางแผนใช้เป็นที่พักอาศัยของคนทั่วไปหลังจบการแข่งขัน อาจมีการเปิดขายเปิดเช่าผ่านบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์เรียบร้อยไปแล้ว
ถ้าเลื่อนการแข่งขัน ประชาชนที่ตั้งใจจะเข้าพักหลังจบการแข่งตามกำหนดเดิมก็ต้องเปลี่ยนแผน ต้องหาที่พักชั่วคราว ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ต้องหาทางเยียวยาให้กับบุคคลเหล่านี้

ยังไม่นับเรื่องที่เจ้าภาพหวังใช้โอลิมปิกเกมส์ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซามานาน ยิ่งต้องมารับมือโรคระบาด ยิ่งเสียงบประมาณไปอีก

ถ้าเลื่อนโอลิมปิกเกมส์ออกไป หรือถึงขั้นเลวร้ายคือยกเลิกไปเลย ไม่รู้ต้องใช้เวลาอีกนานขนาดไหน กว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะตั้งหลักกลับมาได้อีกครั้ง!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image