สกู๊ปหน้า 1 ผลกระทบและความสูญเสีย “โอลิมปิกเกมส์” เลื่อนหนีไวรัส

หลังจากยื้อมาอยู่นาน ในที่สุด ญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าภาพการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ในฐานะเจ้าของการแข่งขัน ก็มีมติร่วมกัรนในการเลื่อนการแข่งขัน โตเกียว 2020 ออกไป 1 ปี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19

ญี่ปุ่นและไอโอซีโดนกดดันอย่างหนักจากรอบด้าน โดยเฉพาะคนในแวดวงกีฬา เริ่มต้นเป็นเสียงเรียกร้องจากนักกีฬาและระดับองค์กรกีฬานานาชาติ

ต่อมาจึงเริ่มเป็นความเคลื่อนไหวระดับประเทศ โดยมี แคนาดา เป็นเจ้าแรกที่ประกาศว่า จะไม่ส่งนักกีฬาร่วมแข่งขัน หากไม่เลื่อนโตเกียวเกมส์ออกไป ต่อมาคีย์แมนวงการกีฬา สหราชอาณาจักร ก็ออกมาเปรยว่า “ทีมจีบี” อาจจะไม่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ถ้ายังฝืนจัดต่อไป ขณะที่มหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา ออกมาเคลื่อนไหวหนุนให้เลื่อน

นำไปสู่การต่อสายตรงระหว่าง ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับ โธมัส บาค ประธานไอโอซี จนนำไปสู่บทสรุปอย่างกะทันหันดังกล่าวเมื่อช่วงดึกวันที่ 24 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งที่เดิมนั้น ไอโอซีและญี่ปุ่นต่างยืนกรานมาตลอดว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัดสินใจ เนื่องจากยังเหลือเวลาอีก 4 เดือนกว่าจะถึงพิธีเปิดการแข่งขัน และจะประวิงเวลารอถึงเดือนพฤษภาคมจึงค่อยตัดสินใจ

Advertisement

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 76 ปี ที่โอลิมปิกเกมส์ไม่สามารถจัดในปีที่กำหนดตามวงรอบ 4 ปีครั้งได้

ก่อนหน้านี้ เคยเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ต้องยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 3 ครั้ง คือในปี 1916 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับ สงครามโลก ครั้งที่ 1 และปี 1940 ที่กรุงโตเกียว (ก่อนจะย้ายไปกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์) และปี 1944 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วง สงครามโลก ครั้งที่ 2

Advertisement

สงครามโลก ครั้งที่ 2 ยังทำให้โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ปี 1940 ที่เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น และปี 1944 ที่เมืองคอร์ติน่า ประเทศอิตาลี ต้องยกเลิกไปเช่นกัน

การเลื่อนการแข่งขันนั้น แม้ผลกระทบจะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการยกเลิกการแข่งขันไปเลย แต่ก็ส่งผลโดยตรงกับเจ้าภาพญี่ปุ่น โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ เนื่องจากญี่ปุ่นลงทุนไปมหาศาล และหวังว่าโตเกียวเกมส์จะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจที่ซบเซาหลายส่วนให้กลับมาคึกคักได้

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นวูบดิ่งไปเพราะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มาอย่างสาหัสแล้ว

สิ้นปี 2019 คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 ประเมินว่า ญี่ปุ่นลงทุนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ไป 1.35 ล้านล้านเยน (4 แสนล้านบาท) แบ่งเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว 5.97 แสนล้านเยน (1.76 แสนล้านบาท) คณะกรรมการจัดการแข่งขัน 6.03 แสนล้านเยน (1.78 แสนล้านบาท) และรัฐบาลกลาง 1.5 แสนล้านเยน (4.4 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าตัวเลขจริงๆ ที่ถูกใช้ไปตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพนั้น เบ็ดเสร็จอาจสูงกว่าที่มีการประเมินเกือบ 10 เท่า!

ภาคเอกชนเองก็เข้าไปร่วมลงทุนในฐานะสปอนเซอร์รวมแล้วถึง 3.48 แสนล้านเยน (1.03 ล้านบาท) ซึ่งมากเป็นประวัติการ นี่ยังไม่รวมสปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการเจ้าใหญ่ๆ ที่เซ็นกับไอโอซีโดยตรง ตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝั่งญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า, บริดจสโตน และพานาโซนิค

โกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจระดับโลก ประเมินว่า การเลื่อนการแข่งขันจะทำให้ญี่ปุ่นขาดทุนเป็นตัวเลขกลมๆ ถึง 6-7 แสนล้านเยน (1.77-2.06 แสนล้านบาท)

ตัวอย่างของความสูญเสียที่เกิดขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวหดหายต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโรคระบาด เนื่องจากที่ผ่านมา กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของญี่ปุ่นคือ จีน (คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติปีที่แล้ว) พอเจอโควิดเข้าไป นักท่องเที่ยวจีนก็หดหาย พอไม่จัดโอลิมปิก ก็ไม่ต้องหวังนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ

พอไม่มีโอลิมปิกเกมส์ ก็ไม่เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะธุรกิจร้านค้าและการโรงแรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง ไหนจะผิดสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่ขายไปเกือบหมดแล้ว

ขณะที่การแข่งขันกีฬาหลายชนิดไม่ได้ใช้การสร้างสนามแห่งใหม่ แต่ใช้การเช่าฮอลหรือสนามที่มีอยู่เดิมทำการแข่งขัน อาทิ มวยปล้ำ เทควันโด และฟันดาบ เช่าฮอลล์เอนกประสงค์ มาคุฮาริ เมสเซ ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อเลื่อนจัด ก็สูญเงินส่วนนี้ไปเปล่าๆ และยังไม่รู้ว่าเมื่อขยับโปรแกรมแข่งไปแล้ว จะไปชนกับอีเวนต์อื่นที่จองไว้ล่วงหน้าหรือไม่

หมู่บ้านนักกีฬาซึ่งสร้างในรูปแบบแมนชั่นหรืออพาร์ตเมนต์ยิ่งกระทบหนัก เนื่องจากส่วนนี้มีการวางแผนปรับไปเป็นคอนโดมีเนียมที่ทำสัญญากับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 10 แห่ง และมีการขายห้องพักหรือเปิดเช่าล่วงหน้าไว้แล้ว 4,145 ยูนิต พอเลื่อนการแข่งขันออกไป จากเดิมที่มีแผนจะโอนกรรมสิทธิ์และให้ประชาชนย้ายเข้าได้ในเดือนมีนาคม ปี 2023 ก็ต้องขยับออกไปอีก ซึ่งหมายถึงการชดเชยหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามมา

เหล่านี้คือตัวอย่างคร่าวๆ ของมูลค่าและภาระที่ญี่ปุ่นต้องแบกรับ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งรัฐบาลและไอโอซีพยายามยืดเวลาให้ถึงที่สุดจึงจะตัดสินใจประกาศเลื่อนก่อนหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image