‘ไทยลีก’ เวอร์ชั่นยุโรป การเปลี่ยนแปลงเพราะภัยโรคระบาด

จากการที่ฟุตบอล “โตโยต้า ไทยลีก 2020” รวมถึงฟุตบอลลีกภายในประเทศไทยทั้งหมด ถูกระงับการแข่งขันเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

และด้วยความที่สถานการณ์ในประเทศไทยยังไม่ดีขึ้น ทำให้การแข่งขันยังไม่สามารถหาข้อสรุปกันได้ว่าจะกลับมาแข่งขันกันได้เมื่อไหร่

จนกระทั่งการประชุมระหว่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ​ และบรรดาสโมสรสมาชิกในไทยลีก1 และไทยลีก 2 ได้มีการสรุปข้อเสนอที่จะเลื่อนการแข่งขันออกไปจนถึงเดือนกันยายน

ในข้อเสนอดังกล่าว ยังมีใจความสำคัญคือการปรับปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลลีกภายในประเทศใหม่ จากเดิมที่เคยแข่งขันกันระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนตุลาคม เป็นระยะเวลา 9 เดือน จากนั้นแต่ละสโมสรจะได้พักราว 1 เดือนก่อนจะเรียกนักเตะกลับมาเข้าแคมป์เพื่อเตรียมฤดูกาลใหม่

แต่ปฏิทินแบบใหม่ จะนำเอาแบบฉบับของฟุตบอลลีกชั้นนำในยุโรปมาใช้ คือการเปิดฤดูกาลราวๆ เดือนกันยายน ก่อนจะไปจบลงที่เดือนพฤษภาคม จากนั้นพัก 1 เดือน แล้วก็กลับมาเริ่มรวมทีมอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม เตรียมพร้อมต่อไป

Advertisement

สำหรับเหตุผลหลักที่สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องการจะปรับรูปแบบการแข่งขันมาเป็นแบบยุโรป ก็เนื่องจากว่าที่ผ่านมานั้น รูปแบบการแข่งขันในประเทศไทยอิงจากปฏิทินการแข่งขันของสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย (เอเอฟซี) และสหพันธ์ฟุตบอลแห่งอาเซียน (เอเอฟเอฟ) ซึ่งปฏิทินการแข่งขันดังกล่าว จะทำให้การแข่งขันในประเทศไทย ต้องเจอกับช่วงที่เป็นฤดูฝน

ในช่วงดังกล่าวเป็นช่วงผ่านครึ่งทางของการแข่งขันในระบบลีก ซึ่งมันมีความเข้มข้นของการแข่งขันมากขึ้น แต่ว่ามักจะต้องประสบกับปัญหาฝนตกลงมาอย่างหนัก จนบางครั้งต้องลงแข่งในสภาพสนามและสภาพอากาศที่ย่ำแย่ บางครั้งหนักข้อจนถึงต้องเลื่อนการแข่งขันออกไป ดังนั้นถ้าปรับปฏิทินการแข่งขันใหม่ ให้พ้นช่วงที่ฝนตกหนักที่สุดอย่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ได้ ก็จะเป็นเรื่องดีของทุกทีม

Advertisement

ถ้าหากว่าฟุตบอลไทยไม่ต้องแข่งขันกันในช่วงหน้าฝน ข้อดีที่จะเห็นแน่นอนคือเราจะได้เห็นฟุตบอลไทยลงแข่งขันกันในสนามที่มีสภาพสมบูรณ์ อีกทั้งเรื่องของคุณภาพในการถ่ายทอดสด และจำนวนผู้ชมที่จะเข้าในสนามก็จะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ส่วนในเรื่องตลาดซื้อขายนักเตะนั้น ก็จะมีการปรับใหม่ จากเดิมที่ตลาดซื้อขายหลักจะอยู่ช่วงปลายปี จนถึงต้นปี ส่วนรอบเล็กนั้นจะอยู่ช่วงระหว่างเลกแรกไปเลกสอง ราว 1 เดือน แต่ถ้าหากเปลี่ยนใหม่ ก็จะเป็นเหมือนของฟุตบอลยุโรปเช่นกัน คือรอบหลักจะอยู่ช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ส่วนรอบเล็กจะอยู่ในเดือนมกราคม

ปฏิทินเดิมนั้นตลาดซื้อขายของไทยจะคล้ายกับญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และจีน ดังนั้นที่ผ่านมานักเตะที่จะย้ายมาร่วมทีมในไทยลีกนั้น จะเป็นนักเตะที่มาจาก 3 ลีกดังกล่าว แต่ถ้าจะเป็นนักเตะจากลีกยุโรปนั้น จะต้องรอนักเตะหมดสัญญาเป็นฟรีเอเยนต์เสียส่วนใหญ่

ดังนั้นถ้าปรับปฏิทินการแข่งขันใหม่ ก็จะมีข้อดีคือตลาดซื้อขายของไทยลีกจะอิงตามยุโรป ก็จะเปิดโอกาสให้แต่ละทีมนั้น สามารถดึงผู้เล่นในยุโรปมาเล่นที่นี่ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การปรับตารางแข่งขันใหม่แบบนี้ ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงแต่ข้อดีเท่านั้น เพราะว่าข้อเสียก็มีไม่น้อยเช่นกัน

อันดับแรกเลยคือด้วยความที่ไทยอยู่ภายใต้การแข่งขันของเอเอฟซี และเอเอฟเอฟ เป็นหลัก ดังนั้นการปรับปฏิทินแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมแข่งขันของทีมชาติไทยในหลายๆ รายการ อย่างเช่นกีฬาซีเกมส์ ที่แข่งในช่วงปลายปี เช่นเดียวกับ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ หรือในช่วงต้นปีก็จะมี เอเชี่ยนคัพ อีกด้วย

อย่างในเอเชี่ยนคัพ คือค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นหนึ่งในทัวร์นาเมนต์สำคัญระดับทวีป ที่ต้องส่งผู้เล่นชุดใหญ่ที่สุดไปแข่งขัน ดังนั้นปีไหนที่จะมีการแข่งขัน ก็คงจะต้องวางโปรแกรมโดยเว้นช่วงเอาไว้เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบต่อทีมชาติไทย

แต่ในส่วนของซีเกมส์หรือซูซูกิ คัพ ไม่ใช่รายการที่ตรงกับปฏิทินฟีฟ่าเดย์ ดังนั้นไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการบังคับขอนักเตะจากสโมสรต่างๆ มาเล่นให้กับทีมชาติ ทำให้ทีมชาติไทยอาจจะต้องเลือกส่งทีมชุดยู-19 หรือว่าผสมยู-21 ไปแข่งขันแทน

ก็อาจจะทำให้ผลงานของทีมชาติไทยในระดับอาเซียนตกลงไป ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องมานั่งตอบคำถามแฟนบอลกันอีกยามที่ผลงานไม่ดีและพ่ายในระดับอาเซียน
ข้อต่อมาคือเรื่องของสัญญานักเตะต่างๆ ที่ทำกันอยู่ในตอนนี้ อาจจะต้องมีการปรับสัญญาขนานใหญ่ เพราะเดิมทีจะเป็นสัญญาที่เริ่มต้นปี จบสิ้นปี แต่ครั้งนี้จะต้องปรับใหม่ให้ตรงตามฤดูกาลแข่งขัน

ไม่เว้นแม้แต่สัญญาการถ่ายทอดสด เพราะตอนนี้ที่เซ็นกันอยู่นั้นก็คือสัญญาแบบต่อปี ถ้าหากปรับใหม่ก็จะต้องเป็นสัญญาแบบข้ามปี ตามโปรแกรมการแข่งขันแบบใหม่
ขณะที่การเปลี่ยนแปลงปฏิทินการแข่งขันไปตรงกับปฏิทินแบบยุโรป ก็เท่ากับว่าช่วงการแข่งขันต่างที่มีความสำคัญ อย่างเช่นช่วงเปิดฤดูกาล หรือช่วงการลุ้นแชมป์ จะไปตรงกับของยุโรปเหมือนกัน จะทำให้ความน่าตื่นเต้นของฟุตบอลไทยลดน้อยลง เพราะคนยังคงให้ความสำคัญกับฟุตบอลยุโรปเหมือนเดิม

อีกทั้งแทนที่จะมีช่วงเวลาให้คนหันมาสนใจดูฟุตบอลไทย ในช่วงที่ฟุตบอลยุโรปนั้นปิดฤดูกาลกันอยู่ กลายเป็นเวลาชนกันแบบนี้ ถ้าหากไม่น่าดึงดูดจริงๆ คนจำนวนผู้ชมก็จะลดลงอย่างแน่นอน

ข้อสุดท้ายคือการปรับตลาดซื้อขายแบบใหม่ อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกนักเตะไทยไปเล่นใน 3 ลีกหลักของเอเชียได้ยากมากขึ้น เพราะว่าช่วงเวลาไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง**เจลีก ญี่ปุ่น** ที่ตอนนี้มีนักเตะไทยไปลงเล่นหลายต่อหลายคน

ต้องบอกว่านี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลไทย ที่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อาจจะเป็นเพราะภัยธรรมชาติ และคือการหาทางออกที่จะทำให้การแข่งขันสามารถเดินหน้าต่อได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันที่ยังเหลืออยู่

เพียงแต่ว่าการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ดูจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบขายผ้าเอาหน้ารอด เพราะยังคงมีปัญหาตามมาอีกมากมายที่จะต้องรอแก้ไขอยู่ ไหนจะต้องวางโปรแกรมให้ครบในช่วงที่เหลือ ที่เป็นช่วงที่จะมีการแข่งขันฟีฟ่าเดย์เกือบทุกเดือน และมีซูซูกิ คัพ ช่วงปลายปีอีก

ก็รอดูกันต่อไปว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะเกิดผลดีผลเสียมากแค่ไหน และจะส่งผลอะไรกับวงการฟุตบอลไทยบ้าง

เพียงแต่ตอนนี้ก็จะเหงาๆ สักหน่อย เพราะรออีกเกือบ 5 เดือน ฟุตบอลไทยจึงจะกลับมาแข่งขันกันใหม่อีกครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image