สกู๊ปพิเศษ : ปิดตำนาน จิ้งเหลนไฟ อาลัยแด่ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

สกู๊ปพิเศษ : ปิดตำนาน จิ้งเหลนไฟ อาลัยแด่ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

เกิดข่าวเศร้ากับวงการลูกหนังเมืองไทยอีกรอบเมื่อ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร อดีตนักฟุตบอลชื่อดังทีมชาติไทยเจ้าของฉายา “จิ้งเหลนไฟ” ลื่นล้มในห้องน้ำที่บ้านพักจนเสียชีวิต ในวัย 81 ปี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม
โดยศพของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร ตั้งบำเพ็ญกุศล ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต 5 แยกวัชรพล กทม. เป็นเวลา 5 คืน

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทยก่อนที่จะไปโด่งดังในสายวิชาการ เป็นอาจารย์ และไปถึงระดับคณบดีรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนจะเกษียณ ในแวดวงการเมืองทราบกันดีว่า อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เป็นนักวิจารณ์ นักวิเคราะห์ด้านการเมืองระดับเอกอุคนหนึ่งของเมืองไทยกระทั่งลมหายใจสุดท้ายของชีวิต…

เพื่อเป็นการร่วมไว้อาลัยแด่การจากไปของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร จึงขอย้อนเส้นทางการเป็นนักฟุตบอลตั้งแต่สมัยลูกหนังขาสั้นกระทั่งไปติดธงไตรรงค์ของ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เป็นชาว จ.กรุงเทพมหานคร เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2482 เติบโตในชุมชนบริเวณสนามกีฬาศุภชลาศัย เริ่มเตะฟุตบอลตั้งแต่วัย 8 ขวบ และใช้ชีวิตในวัยเยาว์ในฐานะเด็กเก็บบอล จบการศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนเทศบาลวัดช่างแสง ก่อนสอบเข้าศึกษาในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์

Advertisement

เส้นทางลูกหนังของ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ริ่มต้นขึ้นตอนเป็นลูกแม่รำเพย เขาเริ่มฉายแสงแสดงศาสตร์ลูกหนังออกมาจนติดทีมโรงเรียนเทพศิรินทร์ ตอนวัย 17 ปี ได้เคยเป็นคู่ซ้อมแปบอลให้กับสุชาติ มุทุกันต์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่ดังมากในสมัยนั้น ตอนอยู่ ม.8 ระหว่างที่เล่นในสนามกีฬาศุภชลาศัย มีผู้ใหญ่มาถาม อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ว่าไอ้หนูอยากเล่นฟุตบอลพระราชทานถ้วยน้อยไหม สุดท้ายได้เล่นให้กับทีมช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ลงแข่งฟุตบอลถ้วย ข เก็บประสบการณ์มาและย้ายไปเล่นให้กับทีมศิษย์เก่าเทพศิรินทร์

ต่อมาระหว่างที่ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เข้าเรียนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ในปี พ.ศ.2501 ก็ติดทีมชาติชุดเยาวชนไทยไปแข่งรายการเยาวชนแห่งเอเชีย ครั้งที่ 1 ที่ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรกที่ได้ไปต่างประเทศ ในทีมชุดนี้มีนักเตะดังอย่าง วิชิต แย้มบุญเรือง ร่วมทีมอยู่ด้วย รวมไปถึงเพื่อนซี้ของ “จิ้งเหลนไฟ” สมัยที่อยู่เทพศิรินทร์อย่าง สุพจน์ พานิช(ล่วงลับ) ก่อนที่ทั้งคู่จะมาสร้างตำนาน “สุพจน์ฮาล์ฟซ้าย – อัษฎางค์ฮาล์ฟขวา” ในเวทีทีมชาติชุดใหญ่ด้วยกันในเวลาต่อมาด้วย

การติดทีมเยาวชนทีมชาติไทยของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร เป็นจุดเริ่มต้นบนถนนทีมชาติด้านลูกหนังของเด็กหนุ่มร่างสูงใหญ่จากเมืองหลวง เพราะ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ได้ไต่เต้ามาติดชุดเยาวชน 19 ปี 23 ปี และชุดใหญ่ในเวลาต่อมา ภายใต้สังกัดธนาคารกรุงเทพ

Advertisement
ขอบคุณภาพจาก สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เคยให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” ไว้ว่า ตอนเด็กๆ เริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เอากระดาษมาขยุ้มเป็นก้อนแล้วเอาหนังสติ๊กมาพันเล่น เอาลูกเทนนิสที่เขาทิ้งมาเตะเล่นกัน พอดีบ้านผมอยู่ข้างสนามกีฬา เวลาที่ฝรั่งชาวต่างชาติมาแข่ง เราก็เป็นเด็กเก็บบอลให้เขาอยู่หลังโกล์ และคอยดูเขาเล่น พอฟุตบอลเลิกยังไม่มืด ก็เอาเทคนิคที่เขาใช้ เขาทำท่าอะไรเราก็เอามาฝึกกันกับฟุตบอลจริง เมื่อกี้เขาไขว้หลังแบบนี้ เราก็เอามาฝึก

“สิ่งที่น่าจดจำในวัยเด็กช่วงเวลานั้น ฟุตบอลไทยได้ไปโอลิมปิกเกมส์ เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1956 ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย คือตอน พ.ศ.2499 ทีนี้พวกเขาไม่มีคู่ซ้อมเลยเอาเด็กสนามกีฬามาไปซ้อมด้วย ไม่น่าเชื่อว่าตอนนั้นผมในวัย 17 ปี จะได้เคยเป็นคู่ซ้อมให้กับ สุชาติ มุทุกันต์ ซึ่งเป็นนักฟุตบอลที่ดังมากในสมัยนั้น แต่เด็กสนามกีฬานี่คล่องทุกคน เบสิกดีมาก เลี้ยงเก่ง พวกนักฟุตบอลโอลิมปิก ทั้ง สำเริง ชัยยงค์, วันชัย สุวารี, ประสันต์ สุวรรณสิทธิ์”

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เคยเล่าต่อไปว่า บรรยากาศในแคมป์ทีมชาติตอนนั้นผมอายุ 19 หัวผมยังเกรียนอยู่เลย สมัยนั้นไม่มีโค้ชต้องดูแลกันเอง พวกรุ่นพี่ก็มักบอกให้ผมเตะไปข้างหน้าอย่าเลี้ยง แต่ผมดูฝรั่งเล่นเยอะก็พยายามเลี้ยง ครองบอล ส่งไม่ให้เสีย เลยโดนจับนั่งสำรอง แต่เราไม่สนใจและเล่นสไตล์ของเรามาตลอดจนได้รับการยอมรับ แต่ก่อนผมเล่นแรง เกเร มึงเตะมากูเตะไป พักครึ่งก็ออกมาสูบบุหรี่ แต่วันหนึ่งเราได้มีโอกาส ปรึกษากับ นพ.ประกอบ บุรพรัตน์ เขาก็เตือนเราว่าสูบบุหรี่ไม่ดีนะ มันทำให้เหนื่อยเร็ว พอเราติดทีมชาติมันมีความหมายมาก เพราะเป็นยาก หลังจากนั้นก็เลิกบุหรี่เลยเพื่อที่จะเล่นให้เก่งขึ้น แล้วก็เคารพกติกา เลิกตุกติก

“เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อ เป็นความภูมิใจครั้งแรกของเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นคนสำคัญมีคนมาเชียร์ มาให้กำลังใจ ดังนั้น เราต้องฟิต เลยกลายเป็นคนที่วิ่งเยอะที่สุดในทีมจนเป็นฉายาจิ้งเหลนไฟ ตอนนั้นตัดสินใจว่าอย่างอื่นไม่เอาเลยให้ฟุตบอลเป็นหลัก หางานทำเพื่อเล่นฟุตบอล และเรียนหนังสือให้จบ สมัยนั้น รัฐศาสตร์ต้องสอบเข้า ผมก็สอบได้ และเรียน 4 ปี จบนะ ส่วนการทำงานก็ตกลงกับธนาคารออมสินไว้ว่าจะเข้างาน 10 โมง เลิก 3 โมงเย็น”

“ถ้าวันไหนไม่มีซ้อมบอลแล้วมีวิชาเรียนก็กลับเข้าไปเรียนต่อ นี่เป็นชีวิตผมเลย เพราะฉะนั้นชีวิตแบบเด็กมหาวิทยาลัยนี่ไม่มีเลย ช่วงนั้นเพิ่งกลับมาจากไปแข่งเอเชี่ยนคัพได้หมาดๆ แต่อย่างที่บอกชีวิตในการเล่นทีมชาติก็ตรากตรำพอสมควร และคิดว่าไม่สามารถที่จะฟิตไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว ประกอบกับรุ่นน้องที่อยู่ที่สหรัฐฯ ได้ชักชวนให้ไปเรียนต่อ จึงตัดสินใจเลิกเล่นทีมชาติใน พ.ศ.2510 ตอนอายุได้ 28 ปี แล้วก็ไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา”

กลับมาจากสหรัฐ ตอนแรกก็จะไปสมัครเป็นตำรวจ แต่พอดียื่นใบสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อน ซึ่งเขากำลังหาคนสอนอาชญาวิทยาอยู่พอดี เลยได้เป็นอาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ เพราะสมัยนั้น รัฐศาสตร์ถือว่าเป็นสาขาในคณะนิติศาสตร์

จนกระทั่งมีการตั้งคณะรัฐศาสตร์ใน พ.ศ.2516-2517 จึงได้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ พอเราต้องมาอยู่ในคณะนี้ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น เรื่องการเมืองการปกครองต้องอ่านอย่างละเอียด จนมีความรู้ความเข้าใจ

ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง อีกหนึ่งเพื่อนสนิทของอัษฎางค์ ปาณิกบุตร เล่าถึงเพื่อนผู้ล่วงลับว่า ในแง่การเป็นนักกีฬาของ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร คิดว่าเขาเป็นคนซีเรียส เอาจริงเอาจัง แล้วตัวเขาก็ดีมากๆ ด้วย เขาไม่กินเหล้า เขาไม่สูบบุหรี่ เขาเป็นคนมีระเบียบวินัยสูง มีหยอกเพื่อนมั่ง แต่ถ้าเพื่อนไม่มีวินัยเขาพูด เขาด่าตรงๆ ด่าแรงๆ เลย ตนเองเจอเขาครั้งแรกตอนติดทีมเยาวชนเอเชีย ค.ศ.1961 ด้วยกัน เขาเล่นฮาล์ฟขวา ส่วนตัวเองเล่นฮาล์ฟซ้าย เขารูปร่างสูง อาจไม่คล่องตัว

แต่เขามีจุดเด่นที่การวางบอลยาว การครอสบอลดี นั่นคืออาวุธลับของทีมเยาวชนชุดนั้นเลย ต่อมาผมกับเขาก็ติดทีมชาติกันมาตลอด ไปคว้าแชมป์ซีเกมส์ด้วยกัน ลุยเมอร์เดก้า คัพ ด้วยกัน ตอนไม่เล่นทีมชาติผมก็เจอกับเขาตลอด บอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ก็เจอกัน ระดับสโมสรก็เจอกัน เขาเล่นแบงค์กรุงเทพ ผมเล่นทหารอากาศ

“เขาเป็นคนน่ารัก เข้ากับทุกคนได้ดี มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ตอนเขาเลิกเล่นบอลไปเรียนต่อ ผมก็ไปเรียนต่อเหมือนกัน จนกลับมาเจอกันอีกก็มีโอกาสไปกินข้าวกัน ไปตีเทนนิสกันอยู่บ้างตามประสาเพื่อนเก่า ผมไม่แปลกใจที่เขาไปโด่งดังกับการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเพราะสมัยเขาเล่นบอลเขาก็พวกชอบแสดงความคิดเห็น คิดอะไรพูดอย่างนั้นเลย เขาเป็นคนตรงไปตรงมา จนกระทั่งเขามาจากไป ผมยังรู้สึกใจหาย” ดร.วิชิตกล่าว

วงการฟุตบอล และวงการนักวิจารณ์การเมืองสูญเสียบุคลากรทรงคุณค่าไปอย่างไม่มีวันกลับ

ขอร่วมอาลัยแด่การจากไปของ อัษฎางค์ ปาณิกบุตร มา ณ โอกาสนี้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image