สกู๊ปพิเศษ ตามดูวิถี นิวนอร์มอล ของวงการลูกหนัง

สกู๊ปพิเศษ ตามดูวิถี นิวนอร์มอล ของวงการลูกหนัง

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 เริ่มคลี่คลายในหลายประเทศ รัฐบาลชาติต่างๆ ก็เริ่มผ่อนผันมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่การแข่งขันกีฬาก็เริ่มทยอยกลับมาแข่งทั้งแบบชิมลางและอย่างจริงจังกันบ้างแล้ว
บุนเดสลีก้า เยอรมนี เป็นลีกฟุตบอลลีกใหญ่ของยุโรปเจ้าแรกที่ตัดสินใจกลับมาเตะฤดูกาล 2019-20 อีกครั้ง เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายดำเนินการแข่งขันให้จบฤดูกาลให้ได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโควิด ทำให้เกิดกฎข้อบังคับและหลักปฏิบัติมากมาย เพื่อป้องกันและควบคุมไม่ให้การแข่งขันกลายเป็นช่องทางแพร่ระบาดของโรคไปเสีย
จึงเกิดเป็นวิถีปฏิบัติแบบใหม่ หรือที่ตอนนี้หลายคนเรียกกันติดปากว่า “นิวนอร์มอล” ซึ่งคาดว่าคงจะได้เห็นจากเกมฟุตบอลอีกหลายลีกในช่วงหลายเดือนนับจากนี้ ซึ่งมีอะไรบ้างนั้น ลองไปพิจารณากัน…

เช็กอุณหภูมิ-ฆ่าเชื้อลูกบอล-รถบัสหลายคัน
แต่ละทีมต้องจัดรถบัสหลายคันในการเดินทางสู่สนาม เพื่อให้นักเตะสามารถ “เว้นระยะทางสังคม” ไม่ต้องนั่งติดกันบนรถ โดยทั้งผู้เล่นและสต๊าฟโค้ชต้องเข้ารับการกักตัวที่โรงแรม 1 สัปดาห์ และรับการตรวจหาไวรัสสม่ำเสมอ
ลงจากรถก็ต้องสวมหน้ากาก ตรงไปสนามซ้อม ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ หรือสื่อที่ได้รับอนุญาตเข้าสนาม ต้องวัดอุณหภูมิก่อนทุกครั้ง โดยจำกัดคนเข้าสนาม (เฉพาะบุนเดสลีก้า) ไม่ให้เกิน 213 คน แบ่งเป็นในสนาม (นักเตะ โค้ช เด็กเก็บบอล) 98 คน และบนอัฒจันทร์ (เจ้าหน้าที่รักษษความปลอดภัย สื่อ และแพทย์สนาม) 115 คน ส่วนฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อนุญาตให้อยู่นอกสนามไม่เกิน 109 คน
ก่อนเริ่มเกมและก่อนเริ่มครึ่งหลัง เด็กเก็บบอลจะต้องฆ่าเชื้อลูกบอลทั้ง 30 ลูก แล้วไปวางไว้ตรงจุดที่เตรียมไว้ ให้นักเตะไปหยิบมา โดยไม่ให้ส่งผ่านมือกันและกัน
ข้างสนาม โค้ชและนักเตะสำรองต้องสวมหน้ากาก และนั่งเว้นระยะห่างกัน โดยอนุญาตให้เฉพาะเฮดโค้ชไม่ต้องสวมหน้ากาก จะได้ตะโกนสั่งลูกทีมได้

Advertisement

สัมผัสข้อศอกแทนการกอด
แน่นอนว่าในการแข่งขันย่อมเลี่ยงการปะทะไม่ได้ แต่เมื่อยิงประตูได้แล้ว นักเตะต้องเลี่ยงการสัมผัสตัวกัน โดยเฉพาะการกอดแสดงความดีใจ แต่ให้ใช้วิธีเอาศอกแตะกัน หรือสุดแล้วแต่ผู้เล่นทีมนั้นๆ จะครีเอตท่าฉลองประตูแบบเว้นระยะทางสังคมได้น่าประทับใจขนาดไหน
อย่างไรก็ตาม ช่วงการลงสนามนัดแรกที่ผ่านมา ก็มีบางทีมที่ละเมิดหรืออาจจะหลงลืมแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เช่น แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ซึ่งทางลีกก็ตักเตือนไปเฉยๆ เพราะไม่ได้ออกเป็นกฎข้อบังคับที่จะลงโทษกันได้

อัฒจันทร์ว่างเปล่า
เพื่อเลี่ยงการรวมตัวของคนหมู่มาก จึงต้องแข่งขันกันแบบปิดสนาม ห้ามแฟนบอลเข้า ทำให้บางครั้งผู้ชมการถ่ายทอดสดจะได้ยินเสียงนักเตะหรือสต๊าฟโค้ชคุยกันข้างสนาม หรือไม่ก็ได้ยินเสียงเตะบอลดังกว่าปกติ
บางครั้งพอยิงประตูได้หรือจบการแข่งขัน นักเตะหลายทีมต่างเข้าไปปรบมือใส่อัฒจันทร์ที่ว่างเปล่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องไปขอบคุณแฟนๆ ส่วนการจับมือนั้นถือเป็นข้อห้ามสำคัญทั้งก่อนและหลังเกม บางทีมจึงเปลี่ยนมาเอาเท้าหรือศอกสัมผัสกันแทน
ขณะที่การให้สัมภาษณ์หลังเกมนั้น ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์จะนำไม้ติดไมโครโฟน เพื่อเว้นระยะในการสัมภาษณ์โค้ชและนักเตะ ส่วนการแถลงข่าวก็จะใช้ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อความปลอดภัย

Advertisement

คุมเข้มนอกสนาม
ขึ้นชื่อว่าแฟนบอล บางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะต้องโฉบไปใกล้ๆ สนามที่ทีมรักของตัวเองแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทีมกำลังลุ้นแชมป์หรือลุ้นหนีตกชั้น
เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละเมืองจึงต้องคุมเข้มในเรื่องนี้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะเกมลีกเพิ่งกลับมาแข่งขัน และยังไม่ใช่ช่วงไคลแม็กซ์ อีกทั้งประชาชนหลายประเทศตื่นตัวกับโรคระบาดมากขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยังไม่พบเหตุการณ์น่าหนักใจในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะพอใจในสถานการณ์ขณะนี้ โดยแฟนบอลส่วนหนึ่งมองว่า เหตุผลที่สโมสรต่างๆ ฝืนกลับมาเตะให้จบฤดูกาล แทนที่จะทำเหมือนบางลีก อาทิ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ซึ่งตัดสินใจตัดจบ ดีกว่าให้นักเตะ โค้ช หรือผู้เกี่ยวข้องส่วนอื่นมาเสี่ยงกัน มีเหตุผลเดียวเท่านั้นคือเรื่อง “เงิน”
เพราะถ้าตัดจบจริง อาจมีปัญหาต้องคืนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่ได้รับไปแล้ว ยิ่งลีกใหญ่ ลีกดัง ค่าลิขสิทธิ์ยิ่งแพง แค่ไม่มีบอลเตะหรือห้ามคนดูเข้าสนามก็เสียรายได้ไปมหาศาลแล้ว ทีมต่างๆ จึงไม่พร้อมจะสูญเงินก้อนโตเวลานี้
อย่างไรก็ตาม ได้มีแฟนบอล เอาก์สบวร์ก นำป้ายผ้าไปผูกบนอัฒจันทร์ ข้อความว่า “ฟุตบอลให้ชีวิต แต่ธุรกิจของพวกนายมันห่วย” เพื่อเป็นการประท้วง

หลังจบการแข่งขันแต่ละแมตช์ช่วงสุดสัปดาห์ นักเตะและโค้ชหลายคนยอมรับว่า เป็นบรรยากาศแปลกๆ กร่อยๆ อย่างไรบอกไม่ถูก โดยเฉพาะการเตะในสนามโล่งๆ หรือการต้องคอยระมัดระวังตัวตลอดเวลา

แต่ก็เป็นวิถีปฏิบัติที่ต้องทำตัวให้ชิน เพราะไม่รู้ว่าเจ้าไวรัสมหาภัยตัวนี้จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไร…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image