ความไม่แน่นอนของ ‘โตเกียว 2020’ เรื่องใหญ่ที่กระทบหัวใจคนหลายล้าน

ความไม่แน่นอนของ ‘โตเกียว 2020’ เรื่องใหญ่ที่กระทบหัวใจคนหลายล้าน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนของ โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่าจะจัดการแข่งขันได้หรือไม่ เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะในกรุงโตเกียวที่ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่

กำหนดการแข่งขันที่เลื่อนออกไปเป็นระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม – 8 สิงหาคม 2021 ทำให้หลายฝ่ายมองว่ามีเวลามากพอในการที่จะลุ้นให้มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือการหาแนวทางป้องกันที่ได้ผล แต่คนจำนวนมากก็ยังอยากให้เลื่อนการแข่งขันออกไปอีกรอบ หรือไม่ก็ยกเลิกไปเสียเลย

จากการทำโพลสำรวจบริษัท 13,000 แห่งในญี่ปุ่น 53.6 เปอร์เซ็นต์แสดงความเห็นว่าอยากให้เลื่อนออกไปอีกครั้ง หรือยกเลิกไปเลย ส่วนประชาชนกว่า 2 ใน 3 โหวตให้เลื่อนการแข่งขันหรือยกเลิกเช่นกัน แต่ข้อจำกัดของโตเกียว 2020 คือ ถ้าไม่สามารถจัดได้ในปี 2021 ก็จะต้องยกเลิกเท่านั้น

Advertisement

จอห์น โคทส์ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล(ไอโอซี) ได้แสดงความคิดเห็นกับทางสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ไม่ว่าโควิด-19 จะถูกป้องกันการแพร่กระจายได้หรือไม่ โอลิมปิกเกมส์จะต้องเดินหน้าต่อไป และแข่งขันตามกำหนดเดิมเท่านั้น

เช่นเดียวกับ โทชิโระ มูโตะ ซีอีโอของการแข่งขันโตเกียว 2020 บอกว่า วัคซีนไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการกำหนดว่าโอลิมปิกครั้งนี้จะแข่งขันได้หรือไม่ ถ้าสามารถพัฒนาออกมาใช้ได้ทันเวลาก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าไม่ทันก็ต้องจัดกันต่อไป ไอโอซีและองค์การอนามัยโลกมีการหารือกันในเรื่องวัคซีนแล้ว ก็ได้รับคำตอบว่าวัคซีนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญจริงๆ ส่วนเรื่องการจัดแบบไม่มีคนดูนั้น ฝ่ายจัดการแข่งขันจะพยายามไม่ให้เกิดขึ้น

งบประมาณก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ญี่ปุ่นต้องแบกรับอย่างมหาศาล ว่ากันว่าตอนนี้ใช้เงินไปแล้ว 12,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(390,060 ล้านบาท) สูงกว่าที่กำหนดไว้ครั้งแรกเป็นเท่าตัว และกลายเป็นโอลิมปิกที่แพงที่สุดไปโดยปริยาย เนื่องจากต้องเพิ่มงบประมาณในการดูแลสถานที่และบริหารจัดการในช่วงที่เลื่อนการแข่งขันออกไป 1 ปี

Advertisement

เซอิโกะ ฮาชิโมโตะ รัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องการเป็นเจ้าภาพโตเกียว 2020 กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไม่ว่าจะต้องจ่ายเท่าไร ญี่ปุ่นก็ต้องจ่ายเพื่อให้การแข่งขันครั้งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์

“ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันครั้งนี้ เตรียมการแข่งขันกันอย่างตั้งใจ รวมทั้งนักกีฬาทุกคนก็พยายามอย่างมากที่จะมาร่วมแข่งขันท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังเผชิญ ทำให้ตอนนี้ต้องทำทุกทางเพื่อป้องกันไม่ให้โควิด-19 มามีผลกระทบกับการแข่งขัน และจะต้องจัดต่อไปแม้ว่าจะต้องจ่ายเงินเท่าไรก็ตาม” ฮาชิโมโตะกล่าว

อีกเรื่องที่ยังเป็นประเด็น คือ การเดินทางเข้าญี่ปุ่นของนักกีฬากว่า 200 ชาติ จะมีการบริหารจัดการอย่างไร?
โคทส์บอกว่าเรื่องนี้เป็นงานใหญ่ของเจ้าภาพที่จะต้องบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพราะญี่ปุ่นไม่ได้มีมาตรการเดียวในการจัดการกับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งก็ต้องทำให้ดีและไม่เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกัน

แน่นอนว่าต้องมีการกักตัว แต่จะจัดการอย่างไร มีการตรวจหาเชื้อที่เข้มข้นขนาดไหน การป้องกันการแพร่ระบาดหลังจากนักกีฬาทั้งหมดเข้ามาใช้ชีวิตในหมู่บ้านนักกีฬาแล้ว จะเป็นอย่างไร แฟนกีฬาจะสามารถเข้าชมการแข่งขันได้หรือไม่ ถ้าเข้าได้ จะมีมาตรการระหว่างกองเชียร์ท้องถิ่นกับกองเชียร์ต่างชาติอย่างไร มีคำถามที่รอคำตอบมากมายไปหมด

ในเรื่องของแฟนกีฬาที่จะเข้ามาชมในสนามนั้น ญี่ปุ่นลองใช้การแข่งขันเบสบอลและฟุตบอลเจลีก ในการหาหนทางที่เหมาะสมในการให้แฟนกีฬาเข้าชม ก่อนหน้านี้ได้ให้แฟนๆ เข้าชมได้ครึ่งหนึ่งของความจุสนาม และทำตามข้อบังคับต่างๆ ในการป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งก็ผ่านไปได้ด้วยดีและยังใช้อยู่จนถึงตอนนี้ คาดว่าอาจจะใช้รูปแบบเดียวกันในโตเกียว 2020

ถึงแม้จะยังยืนยันกันว่า โอลิมปิกเกมส์ 2020 รวมทั้งพาราลิมปิกเกมส์ 2020 จะยังจัดตามกำหนดเดิมที่ทราบกัน แต่ถ้าพิจารณาจากวันที่ไอโอซีและคณะกรรมการจัดการแข่งขันยืนยันว่าโอลิมปิกไม่เลื่อนและไม่เลิก ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักใหม่ๆ แต่การกดดันของประเทศยักษ์ใหญ่ทั้งสหรัฐอเมริกา, แคนาดา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย ที่จะไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันนั้น สุดท้ายแล้วญี่ปุ่นและไอโอซีก็ต้องยอมถอย ทำให้น่าคิดว่าก่อนการแข่งขันแล้วโควิด-19 ยังคงป่วนโลกอยู่แบบนี้ ชาติมหาอำนาจจะออกมาสนับสนุนให้โอลิมปิกเดินหน้าต่อหรือยกเลิกไป

คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดครั้งนี้ถ้วนหน้า แต่เหมือนว่าญี่ปุ่นเจองานหนักสุด เพราะการเตรียมการทุกอย่างเสร็จสิ้นแทบจะสมบูรณ์แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องของงบประมาณมหาศาล แต่เป็นเรื่องของจิตใจของคนทำงาน ถ้ามองในภาพกว้างอาจจะบอกกันว่า ต้องทำใจเพราะใครๆ ก็ได้รับผลกันทั้งนั้น แต่ถ้ามองลึกไปในความรู้สึกแต่ละคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาสาสมัครสูงอายุที่อยากจะมีส่วนร่วมกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ นักกีฬาที่ซ้อมมาแล้ว 4 ปี และตัวเองเป็นตัวเต็งเหรียญทอง เด็กๆ ที่ซ้อมการแสดงในพิธีเปิด-ปิดมาตลอดปี และยังต้องซ้อมต่อไปเพราะต้องเลื่อนการแข่งขัน บริษัทห้างร้านที่วางแผน เตรียมงาน ลงทุนกันมาหมดแล้ว หรือกองเชียร์ทั่วโลกที่ยังกำบัตรเข้าชมการแข่งขันอยู่ในมือ และรอลุ้นว่าเขาจะยังได้ไปอยู่ในสนามตามวันเวลาที่กำหนดไว้ในตั๋ว

เพราะโอลิมปิก คือ มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ถ้ายกเลิกไป ก็คงไม่ต่างกับการที่แผ่นดินไหวไปทั่วโลก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image