ชำแหละ’โอลิมปิก’ กับเหรียญ’ทอง’ไม่’แท้’

ไมเคิล เฟลป์ส (ซ้าย) รับเหรียญทองและช่อมะกอกในโอลิมปิกเกมส์ 2004 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

หนึ่งในวัฒนธรรมหรือประเพณีปฏิบัติของการแข่งขันกีฬาที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือการมอบเหรียญรางวัลให้กับผู้ชนะอันดับ 1-2-3 ของการแข่งขัน โดยแบ่งระดับด้วยสีทอง-เงิน-ทองแดง

ถึงจะทำกันจนเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่ว่าการแข่งขันกีฬาตั้งแต่ยุคโบราณกาลมอบเหรียญรางวัลโลหะ 3 สีให้กับผู้ชนะแต่อย่างใด เพราะโอลิมปิกเกมส์ดั้งเดิมในยุคกรีกโบราณนั้น ผู้ชนะเลิศแต่เพียงผู้เดียวจะได้รับช่อมะกอกจากต้นมะกอกที่ขึ้นในเมืองโอลิมเปีย สถานที่แข่งขัน เป็นรางวัล

และตอนที่ โอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ ถือกำเนิดในปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ผู้ชนะก็ยังไม่ได้เหรียญทองมาคล้องคอ แต่เป็นเหรียญเงินบวกกับช่อมะกอก และอันดับ 2 ได้เหรียญทองแดง เช่นเดียวกับปี 1990 หรือโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 2 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งส่วนใหญ่จะมอบถ้วยรางวัลให้กับผู้ชนะมากกว่าจะเป็นเหรียญรางวัล ไม่ก็เหรียญเงินทรงสี่เหลี่ยม

กระทั่งโอลิมปิกเกมส์หนที่ 3 ที่เมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ในปี 1904 เทรนด์ของการมอบเหรียญทอง-เงิน-ทองแดง จึงเริ่มต้นขึ้น โดยคาดว่าได้รับอิทธิพลมาจากสมาคมกรีฑาสมัครเล่นแห่งสหรัฐที่มอบเหรียญ 3 ระดับให้กับนักกีฬาเป็นเจ้าแรกเมื่อปี 1884 และเริ่มแพร่หลายขึ้นเรื่อยๆ ในเวลาต่อมา

Advertisement

สำหรับการแบ่งเกรดของเหรียญเป็น “ทอง-เงิน-ทองแดง” นั้น ว่ากันว่ามาจากตำนานกรีกเรื่องยุคสมัยของมนุษย์ เริ่มจาก ยุคทอง (Golden Age) ในช่วงที่มนุษย์กับเทพเจ้าอยู่ร่วมกัน, ยุคเงิน (Silver Age) ซึ่งชีวิตวัยเยาว์ของมนุษย์ยืนยาวนับร้อยปี และ ยุคสัมฤทธิ์ (Bronze Age) ยุคสมัยแห่งวีรบุรุษ (คนละยุคกับยุคสัมฤทธิ์ในประวัติศาสตร์โลกช่วง 1206-1150 ปีก่อนคริสตกาล) โดยคำว่า “ทองแดง” ที่เราใช้ๆ กันจนติดปากนั้น มาจากคำว่า bronze หรือทองสัมฤทธิ์ ไม่ใช่ copper ซึ่งหมายถึง ทองแดง ที่เป็นตัวธาตุ แต่มีความใกล้เคียงกัน

และข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการคือ ถึงแม้ว่าผู้ชนะเลิศจะได้รับเกียรติยศสูงสุดอย่างการครอบครองเหรียญทอง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่ได้รับจะเป็นโลหะมูลค่าสูงอย่าง “ทอง” จริงๆ แต่อย่างใด ยกเว้นแค่เพียง 2 ครั้ง คือโอลิมปิกเกมส์ ปี 1904 และปี 1908 เท่านั้นที่เจ้าภาพใจป้ำมอบเหรียญทองแท้ๆ ให้กับนักกีฬา

ส่วนครั้งหลังๆ มา จะเป็นเหรียญเงินชุบทอง ขณะที่เหรียญเงินมีเงินผสมทองแดง และเหรียญทองแดงก็อาจไม่ใช่ทองแดงแท้ แต่มีดีบุกกับสังกะสีผสมอยู่ด้วย

Advertisement

รูปทรงของเหรียญนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นวงกลมแบนๆ อย่างที่คุ้นตาในปัจจุบัน เช่นตอนปี 1900 ซึ่งเป็นทรงสี่เหลี่ยม หรือโอลิมปิกเกมส์ 1912 ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ก็เป็นเหรียญทรงรี ส่วนปี 1956 ตอนที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นเจ้าภาพนั้นมีเพียงกีฬาขี่ม้าที่จัดแข่งในสตอกโฮล์ม ครั้งนั้นสวีเดนเจ้าภาพเฉพาะกิจมอบเหรียญที่บางที่สุดในประวัติศาสตร์ วัดความหนาได้เพียง 2.5 มม. ขณะที่เหรียญหนาที่สุดคือที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ปี 1992 หนาถึงเกือบ 1 ซม.

สำหรับเหรียญที่ใหญ่ที่สุด ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.5 ซม. คือปี 2012 และเล็กที่สุด เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 ซม. ปี 1908 ทั้ง 2 ครั้งล้วนจัดขึ้นที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยเหตุที่เหรียญ “ลอนดอนเกมส์” ปี 1908 ต้องเล็กนั้นก็เป็นเพราะเหตุผลที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ เหรียญดังกล่าวเป็นทองคำแท้นั่นเอง!

เหรียญทอง ปี 1908 ชั่งน้ำหนักได้ 72 กรัม เมื่อเทียบเรตราคาทองคำสากลในปัจจุบัน จะมีราคาถึง 2,947 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 103,000 บาท!

สำหรับเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ระหว่างวันที่ 5-21 สิงหาคมนี้นั้น เจ้าภาพบราซิลเปิดตัวออกมาตั้งแต่หลายเดือนก่อน เป็นเหรียญรางวัลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.5 ซม. ส่วนขอบหนา 6 มม. แต่ตรงกลางจะนูนขึ้น หนา 11 มม.

ถ้าเหรียญ “รีโอเกมส์” ดังกล่าวเป็นทองแท้ จะมีน้ำหนักเกือบ 1 กก. และมีมูลค่าถึง 39,812 ดอลลาร์สหรัฐ (1.4 ล้านบาท) ตามเรตราคาทองคำปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริง เหรียญ “ทอง” ของโอลิมปิกครั้งนี้มีน้ำหนักประมาณ 1/2 กก. ทำจากเงิน 91.4%, ทองแดง 7.4% และมีทองคำแท้ประกอบอยู่ 1.2% หรือหนักราว 6 กรัม ซึ่งคิดมูลค่ารวมได้ 546 ดอลลาร์สหรัฐ (19,000 บาท) แทน

หมายความว่าถ้านับเฉพาะโอลิมปิกเกมส์ไม่กี่ครั้งหลัง เหรียญรางวัลจากลอนดอนเกมส์จะมีมูลค่ามากที่สุด เนื่องจากย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ราคาทองและราคาเงินค่อนข้างสูงกว่าตอนนี้ ตกมูลค่าเหรียญทองละ 651 ดอลลาร์สหรัฐ (22,800 บาท) ณ เวลานั้น

ด้วยเกร็ดข้อมูลน่าสนใจเหล่านี้บอกให้เรารู้ว่า ทุกครั้งที่นักกีฬาคนใดขึ้นแท่นรับรางวัลหลังจากชนะเลิศรีโอเกมส์ในครั้งนี้ บนคอของเขาอาจจะคล้อง “เหรียญทอง” ก็จริง…

แต่ในความเป็นจริง มันก็คือ “เหรียญเงิน (ชุบทอง)” เหรียญหนึ่งเท่านั้น!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image