‘ฝ้าย’สุกัญญา ศรีสุราช ในวันที่เอาชนะ’ไอดอล’ของตัวเอง

คนเราทุกคนต้องมีไอดอลของตัวเอง แต่น้อยคนที่จะได้มีโอกาสยืนรับเหรียญรางวัลเคียงข้างกับคนที่ตัวเองยกให้เป็นต้นแบบของชีวิต “ฝ้าย” สุกัญญา ศรีสุราช ฮีโร่สาวจอมพลัง เจ้าของเหรียญทองยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก. โอลิมปิกเกมส์ 2016 ได้รับโอกาสนั้นแล้ว

ฝ้ายกลายเป็นนักยกน้ำหนักคนที่ 5 ของไทยที่คว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์มาครองได้ และเธอสามารถเอาชนะไอดอลคนสำคัญของตัวเองอย่าง “แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว ฮีโร่สาวอีกคนที่หยิบเหรียญเงินในโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัยซ้อน

สุกัญญาเริ่มต้นชีวิตนักกีฬาด้วยการเป็นนักกรีฑาระยะสั้น ได้แชมป์ในโรงเรียนที่ จ.ชลบุรี บ้านเกิด และเริ่มดีวันดีคืนมาเรื่อยๆ จนกระทั่งไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดชลบุรี เส้นทางสู่การเป็นฮีโร่เคียงข้างไอดอลก็เริ่มฉายแววขึ้นมา

“ตอนนั้นวิ่ง 100 เมตร และวิ่งได้ดีด้วย แต่หลังจากมาเรียนที่โรงเรียนกีฬา โค้ชอรัญญา บัวทองใส ลองจับไปยกน้ำหนัก ยอมรับว่าวันแรกก็อยากกลับบ้านเลย เพราะมันหนักและเจ็บมาก”

Advertisement

หลังจากผ่านพ้นช่วงเริ่มต้นที่หนักและเจ็บมาแล้ว ฝ้ายเริ่มประสบความสำเร็จในระดับประเทศ ก่อนถูกเรียกตัวติดทีมชาติในปี 2553 ทั้งๆ ที่เล่นยกน้ำหนักมาได้เพียงปีเดียว สาวจากชลบุรีคว้า 3 เหรียญเงิน ศึกยกน้ำหนักสโมสรชิงแชมป์เอเชีย ปี 2556 ต่อด้วย 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน ศึกเยาวชนชิงแชมป์โลก ปี 2557 กวาดเรียบ 3 ทองในรายการเดียว ในอีก 1 ปีถัดมา และอีก 1 เหรียญทองในศึกชิงแชมป์โลก เมื่อปีที่แล้ว ก่อนจะมาสร้างชื่ออย่างอลังการในโอลิมปิกเกมส์หนนี้ คว้าเหรียญทอง พร้อมสร้างสถิติโอลิมปิกในท่าสแนตช์ ด้วยผลงาน 110 กก.

ถามถึงการต้องลงแข่งขันกับรุ่นพี่ที่ตัวเองชื่นชอบอย่างแต้ว เจ้าตัวยอมรับว่าที่ผ่านมาถึงแม้จะเก็บตัวอยู่ด้วยกันมานาน แต่มีโอกาสได้คุยกันน้อยมาก เพราะด้วยความที่ชื่นชมรุ่นพี่คนเก่ง ตัวเองจึงเขิน ไม่กล้าที่จะเข้าไปอยู่ใกล้มาก

“ก่อนแข่งก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก ถึงจะซ้อมแข่งรุ่นเดียวกัน ไม่มีการพูดถึงว่าใครจะยกอย่างไร ไม่ใช่เพราะไม่อยากคุยกัน ไม่ใช่เพราะจะเป็นคู่แข่ง แต่เพราะหนูเขิน ทำให้ไม่กล้าคุยกับพี่แต้ว”

Advertisement

ฝ้ายบอกว่า เหรียญทองในวันนี้ไม่ได้มองว่าเป็นการเอาชนะรุ่นพี่ขวัญใจตัวเอง แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อประเทศ ทุกอย่างเป็นหน้าที่ของโค้ชที่จะเรียกน้ำหนัก เพราะทั้งฝ้ายและแต้วมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันเอาชนะคู่แข่งจากประเทศอื่นๆ ให้ได้ ดังนั้นสิ่งเดียวที่ตัวเองต้องทำ คือ ยกเหล็กให้ขึ้น

ฝั่งพิมศิริเองก็ยืนยันว่า การที่ตัวเองได้เหรียญเงินและน้องในทีมชาติได้เหรียญทองไปครองนั้น ไม่ได้ทำให้รู้สึกในแง่ลบ แต่กลับยินดีกับน้องมากกว่า เนื่องจากตัวเองมาแข่งขันเพื่อประเทศไทย ถึงแม้ว่ายกน้ำหนักจะเป็นกีฬาประเภทบุคคล แต่ต้องไม่ลืมว่าถ้าขาดโค้ช หมอ เพื่อนร่วมทีมชาติคนอื่นๆ ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้

spo03100859p1

“ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องได้เหรียญทองหรือเหรียญเงิน แต่ทุกคนมาทำหน้าที่เพื่อชาติ ดีใจกับน้องที่ได้เหรียญทอง ส่วนตัวพอใจกับผลงานตัวเองและการคว้าเหรียญเงินสองสมัยแล้ว” แต้วเปิดใจ

สำหรับอนาคตบนเส้นทางยกน้ำหนักของฝ้ายนั้น เจ้าตัวบอกว่าตอนนี้อายุแค่ 21 ปี ถือว่ายังมีเวลาในการหาความสำเร็จได้อีกนาน ตั้งเป้าว่าอีก 4 ปีข้างหน้า ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะพยายามฝึกซ้อมเพื่อไปป้องกันแชมป์ไว้ให้ได้ แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและความพร้อมในหลายๆ ด้าน

อนาคตอีก 4 ปีเป็นเรื่องที่ไกลทีเดียว ถ้ามองให้ใกล้กว่านั้น ในอีกไม่กี่วันข้างหน้าชีวิตของฝ้ายและเพื่อนๆ ในทีมยกน้ำหนักโอลิมปิกชุดนี้จะเปลี่ยนไปไม่น้อย เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของทัพจอมพลังไทยครั้งนี้ทำให้หลายคนกลายเป็นที่รู้จัก และจะมีรางวัลมหาศาลไหลเข้ามาเหมือนที่รุ่นพี่หลายๆ คนที่ประสบความสำเร็จมาก่อนได้พบเจอไปแล้ว

พิมศิริเป็นนักกีฬาหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัย และถือเป็นคนที่สองต่อจากมนัส บุญจำนงค์ นักมวยสากลสมัครเล่นที่ได้เหรียญในโอลิมปิก 2 ครั้ง

นี่คือความน่าชื่นชมของฮีโร่พิมศิริที่สามารถอยู่กับความสำเร็จได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นสิ่งที่ฝ้ายควรจะเดินตามรอยไอดอลของตัวเองในมุมนี้อย่างยิ่ง

เหมือนกับคำที่เขาบอกกันว่า “คว้าแชมป์ว่ายากแล้ว ป้องกันแชมป์ยิ่งยากกว่า”

914

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image