คอลัมน์ Hotline จากรีโอ : รวมญาติลูกเด้งจีน

ปิงปองจีนถือเป็นมหาอำนาจของโลกนี้อย่างแท้จริง เพราะกวาดมาถึง 24 เหรียญทอง จาก 28 เหรียญ ตลอดการแข่งขันในโอลิมปิก ตั้งแต่ปี 1988

สำหรับประเภทหญิงเดี่ยว ยังถือเป็นการรวมญาตินักปิงปองจากแดนมังกรที่กระจัดกระจายไปเล่นให้ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก สาเหตุสำคัญ คือ ด้วยความที่เป็นกีฬาชั้นนำของประเทศ นักกีฬามีจำนวนมาก

การจะก้าวไปเป็นนักเทเบิลเทนนิสทีมชาติจีนไม่ใช่เรื่องง่าย ติง หนิง และ หลี่ เซียวเซี๊ยะ เป็นเพียงนักตบลูกเด้งแดนมังกรของแท้ที่แข่งขันในประเภทหญิงเดี่ยวครั้งนี้ เพราะสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติได้เปลี่ยนกฎให้แต่ละชาติมีโควต้าแข่งขันในชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยวได้เพียงประเภทละ 2 คนเท่านั้น มาตั้งแต่ลอนดอนเกมส์แล้ว

โอลิมปิกครั้งนี้ มีนักปิงปองหญิงเชื้อสายจีนลงแข่งขัน 24 คน กระจายอยู่ในตัวแทนของทุกทวีป คองโกที่น่าจะเป็นนักกีฬาผิวสีก็ยังหน้าหมวยอย่าง หาน ซิง หรืออีกหนึ่งประเทศที่ยิ่งใหญ่ในโลกปิงปองอย่างเกาหลีใต้ก็ยังมี จอน จี ฮี ที่เกิดและโตในจีน ออสเตรเลียมีนักปิงปองในรีโอเกมส์ 6 คน 3 คนเป็นชาวจีนแท้ๆ อีกหนึ่งเกิดที่เมลเบิร์นจากพ่อแม่ชาวจีน เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกสก็มีนักปิงปองหญิงเดี่ยวที่เกิดในจีนร่วมทีมมาทั้งคู่

Advertisement

ไค จ้าง นักเทเบิลเทนนิสอเมริกันที่โอนสัญชาติมาจากจีนเพื่อเตรียมสู้ศึกโอลิมปิกเกมส์ในอีก 4 ปีข้างหน้าบอกว่า กว่าจะเป็นนักปิงปองทีมชาติจีนได้ต้องซ้อมอย่างหนัก ไม่ว่าจะเจ็บหรือป่วยก็ต้องซ้อม แต่ถ้าอยากจะก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์โลกจริงๆ ต้องซ้อมอยู่ในจีนเท่านั้น เพราะมียอดฝีมือให้ศึกษาและเป็นคู่ซ้อมมากมาย

เกาหลีใต้ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ชาติที่เคยได้เหรียญทองปิงปอง โอลิมปิก (อีกชาติ คือ สวีเดน) คิม แต๊กซู อดีตนักปิงปองทีมชาติเกาหลีใต้เปรียบเทียบการสร้างนักตบลูกเด้งของชาติตัวเองกับแดนมังกรว่า จีนสร้างนักกีฬาตั้งแต่เด็กเป็นจำนวนกลุ่มใหญ่มาก แต่เกาหลีใต้รอให้มีนักกีฬาที่เก่งเกิดขึ้นเอง นี่คือเหตุผลว่าทำไมยังไม่มีชาติไหนที่ล้มความยิ่งใหญ่ของจีนได้เสียที

นักปิงปองไทยอย่าง นันทนา คำวงศ์, สุธาสินี เสวตรบุตร, ภาดาศักดิ์ ตันวิริยะเวชกุล ต่างเป็นนักกีฬาไทยแท้ๆ ที่ฝึกฝนกันมาอย่างหนักจนผ่านเข้ามาเล่นโอลิมปิกเกมส์ได้ ซึ่งไม่ว่าแพ้หรือชนะ ความภาคภูมิใจก็ยังคงกรุ่นอยู่ในหัวใจอยู่ดี

Advertisement

จอน จี ฮี ยอมรับว่าปัญหาของนักปิงปองจีนที่โอนสัญชาติคือการปรับความรู้สึกเมื่อเจอกับนักตบมังกรด้วยกัน เพราะเหมือนเป็นการต้องแข่งกับเพื่อนที่ซ้อมมาด้วยกันตั้งแต่เด็ก แต่ทำหน้าที่ให้คนละประเทศ

การนำเข้านักกีฬาฝีมือดีจากต่างชาติมารับใช้ชาติตัวเองเป็นเพียงการอุดรอยรั่วของความต้องการชัยชนะเท่านั้น แต่อาจจะไม่ได้สร้างความภูมิใจให้ประชาชนเจ้าของประเทศแต่อย่างใด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image