สกู๊ปหน้า 1 : ไทยจัด 3 ศึกแบดโลก สร้างประวัติศาสตร์ กระตุ้นเที่ยว-ฟื้น ศก.

ไทยจัด 3 ศึกแบดโลก สร้างประวัติศาสตร์ กระตุ้นเที่ยว-ฟื้น ศก.

วงการกีฬาโลกต่างเผชิญกับวิกฤต โควิด-19 ทำให้ต้องขยับเลื่อนโปรแกรมการแข่งขันแทบจะทุกชนิดกีฬา เช่นเดียวกับวงการกีฬาไทย ที่ต้องเลื่อนการแข่งขันออกไปเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันมาตรการด้านสาธารณสุขของไทยก็สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศได้เป็นอย่างดี จนทำให้รัฐบาลไทยเริ่มปลดล็อกคลายให้กีฬาสามารถกลับมาจัดการแข่งขันได้อีกครั้ง แต่ก็ยังคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

ในช่วงต้นปีหน้าประเทศไทยจะได้รับหน้าที่ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่ คือ แบดมินตัน 3 รายการใหญ่ระดับโลกในระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 ประกอบด้วย โยเน็กซ์ ไทยแลนด์ โอเพ่น วันที่ 12-17 มกราคม 2564, โตโยต้า ไทยแลนด์ โอเพ่น วันที่ 19-24 มกราคม 2564 และรายการ ส่งท้าย เอชเอสบีซี บีดับเบิลยูเอฟ เวิลด์ทัวร์ ไฟนัล 2020 วันที่ 27-31 มกราคม 2564 ชิงเงินรางวัลรวม 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทั้ง 3 รายการจะจัดที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี

ถือเป็นการตอกย้ำความปลอดภัยด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย ที่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่ระดับนานาชาติ ซึ่งมีนักกีฬาต่างชาติจำนวนมากเข้ามาร่วมชิงชัย เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยภายหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 สหพันธ์แบดมินตันโลก (บีดับเบิ้ลยูเอฟ) ประกาศยุติการแข่งขันตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ในรายการสุดท้ายคือ โยเน็กซ์ ออล อิงแลนด์ โอเพ่น 2020 ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ

ส่งผลกระทบต่อบรรดานักกีฬาแบดมินตันทั่วโลกที่ไม่มีแมตช์แข่งขัน แม้ว่าในช่วงเดือนตุลาคม เพิ่งจะจัดรายการ เดนมาร์ก โอเพ่น 2020 ที่ประเทศเดนมาร์ก แต่ก็เป็นเพียงรายการระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 750 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 750,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับรายการที่ประเทศไทยในช่วงต้นปีหน้านั้น จะถือเป็นศึกตบลูกขนไก่ใหญ่ระดับโลกเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 1000 ชิงเงินรางวัลรวม 2 รายการแรก รายการละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และรายการไฟนัล ชิงเงินรางวัลรวมถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Advertisement

ศึกแบดมินตันแห่งศตวรรษ จะเป็นการจัดการแข่งขันครั้งประวัติศาสตร์ ที่ประเทศไทยจะได้จัด 3 รายการใหญ่ติดต่อกันครั้งแรกในรอบ 110 ปี ตั้งแต่กำเนิดกีฬาแบดมินตันขึ้นมา ช่วงวันที่ 12-31 มกราคม 2564 โดยจะมีนักกีฬาแบดมินตันระดับโลก มืออันดับ 1-40 ของโลก เดินทางมาร่วมชิงชัย พร้อมกับมาตรการเข้มงวดสูงสุดในการควบคุมการแพร่ระบาด และดูแลสุขภาพของนักกีฬา ผู้ติดตาม รวมถึงทีมงานชาวไทย และทุกภาคส่วนในรูปแบบ บับเบิล ควอรันทีนŽ (Bubble Quarantine) ให้ปราศจากความเสี่ยง

รูปแบบการจัดการแข่งขันจะอยู่ภายใต้หลักการ ผลตรวจที่ไม่พบเชื้อ จากการตรวจหาเชื้อบ่อยๆ ก่อนทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้ ประกอบด้วย การจัดการฝึกซ้อมเป็นรายประเทศได้ เมื่อนักกีฬา และสต๊าฟโค้ชมีผลตรวจเป็นลบ หลังจากเดินทางเข้าพักในโรงแรม 1 วัน ตามกำหนดการจองตามกรอบเวลาที่กำหนด ดังนั้นทำให้การผ่อนคลายให้นักกีฬา และสต๊าฟโค้ชประเทศเดียวกันสามารถฝึกซ้อมร่วมกันได้

ภายหลังจากการฝึกซ้อมครบ 7 วัน นักกีฬาสามารถแข่งขันได้ ซึ่งต้องมีผลตรวจเป็นลบแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง จากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในวันที่เดินทางถึงที่สถานที่กักตัว, วันที่ 3 และวันที่ 7 ทั้งนี้ นักกีฬา และผู้เกี่ยวข้อง ทุกคน จะต้องกักตัว 14 วัน หลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทย ไม่สามารถออกนอกบริเวณที่ถูกจัดไว้ แต่ยังสามารถลงซ้อมได้ตามปกติ ในสนามที่จัดไว้เฉพาะ ส่วนโรงแรมที่พักจะไม่อนุญาตให้คนไม่เกี่ยวข้องเข้าออกบริเวณโรงแรม เพื่อป้องกันการสัมผัสกันในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐบาล โดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้ง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการคณะกรรมการโอลิมปิกสากล รองประธานสหพันธ์แบดมินตันโลก และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าจัดการแข่งขันแบดมินตันรายการใหญ่ได้ถึง 3 รายการเป็นครั้งแรกของโลกท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นสัญญาณดีในการช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ, การท่องเที่ยว และการกีฬา ที่พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายเป็นศูนย์กลางจัดกีฬาของโลก!

อนุทิน ชาญวีรกูล ระบุว่า ด้วยความร่วมมือ ของทุกฝ่ายในการจัดการป้องกันควบคุมโรค ทำให้สหพันธ์แบดมินตันโลก ยอมรับในมาตรการป้องกันโรคของประเทศไทย ขณะที่ที่ประชุม ศบค.ให้ความเห็นชอบในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตันโลกครั้งนี้ เพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่างของการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติในประเทศไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจกับมาตรการป้องกันโรค และสนับสนุนส่งเสริมการนำรายได้เข้าประเทศในรูปแบบใหม่ด้วย

ขณะที่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ กล่าวว่า การแข่งขันแบดมินตันครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาชั้นนำ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของกระทรวงการ ท่องเที่ยวและกีฬา ที่มุ่งพัฒนาและบูรณาการ ด้านการท่องเที่ยวและกีฬา นอกจากนี้ การจัดการแข่งขันแบดมินตันระดับโลกทั้ง 3 รายการดังกล่าว ยังสามารถเป็นบรรทัดฐานให้กับการจัดการแข่งขันกีฬาอื่นๆ ในประเทศไทยอีกด้วย

ด้าน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล บอกว่า สมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ได้ทำงานปรึกษาใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงตรวจสถานที่จัดการแข่งขันหลายครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าสถานที่เหมาะสำหรับการจัดการแข่งขัน และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมครั้งนี้ โดยได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำจากหน่วยงานด้านสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐในมาตรการจัดการแข่งขันรูปแบบใหม่ ส่วนแฟนแบดมินตันชาวไทยที่ต้องการเข้าชมในสนามจะสามารถเข้าได้ตั้งแต่รายการที่ 2 โดยจะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันทุกวัน

ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทั่วทั้งโลก แต่ประเทศไทยสามารถยืนยันต่อสู้ และประกาศความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬาแบดมินตันรายการใหญ่ได้ถึง 3 รายการติดต่อกัน ถือเป็นการแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นว่า ประเทศไทย มีระบบด้านสาธารณสุขที่ เข้มแข็ง และการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสายตาชาวโลก

เชื่อว่าภายหลังจากผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว ไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศที่ผู้คนจะเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ,การท่องเที่ยว และกีฬา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image