‘ไทยเฮ้าส์’ ไอเดียเพื่อปากท้องทัพโอลิมปิกไทย

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของทัพนักกีฬาไทยยามต้องเดินทางไปแข่งขันต่างประเทศคือ อาหารที่มักไม่ถูกปาก…

อย่างว่าปัญหาปากท้องถือว่าสำคัญ ยิ่งไปห่างไกลเมืองไทยยิ่งคิดถึงอาหารไทย นั่นทำให้ “บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ผุดไอเดียตั้ง “ไทยเฮ้าส์” ยกครัวทำอาหารไทยมาตั้งไกลบ้านถึงนครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เพื่อปรุงอาหารสด อาหารร้อนให้กับทัพนักกีฬาไทยในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ฤดูร้อน ครั้งที่ 31 “รีโอเกมส์”

ตลอดทุกวันตั้งแต่เริ่มแข่งขันมาจนถึงใกล้จะปิดฉากวันที่ 21 สิงหาคม นักกีฬาไทยจะแวะเวียนมาทานอาหารไทยกันไม่ขาดสาย จนแทบลืมไปสนิทว่าในหมู่บ้านนักกีฬามี “แคนทีน” อาหารนานาชาติบริการนักกีฬาอยู่ อาจเพราะรสชาติไม่ถูกปากคนไทยเท่าที่ “ไทยเฮ้าส์”

“บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ เล่าว่า การจัดตั้ง “ไทยเฮ้าส์” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ครั้งแรกที่ตั้งขึ้นนั้นคือตอนเอเชี่ยนบีชเกมส์ ครั้งที่ 1 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 8 ปีก่อนภายใต้งบประมาณ 3 แสนบาท ซึ่งตนเป็นแม่งานใหญ่ เพราะต้องการให้นักกีฬาไทยได้ทานอาหารไทย ตอนนั้นจัดเป็นเหมือนศูนย์ประสานงานเล็กๆ มีห้องทานข้าว, ห้องประชุม, ห้องกายภาพ ส่วนใหญ่จะทำอาหารไทยใส่กล่องไปส่งให้แต่ละทีมกีฬา ต่อมาครั้งที่ 2 ตั้งไทยเฮ้าส์ ในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 17 ที่เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ปี 2014 ตอนนั้นปรับรูปแบบมาเป็นลักษณะอาหารเสริม โดยร่วมมือกับ “โรซ่า” ถัดมาอีก 1 ปีมาตั้งไทยเฮ้าส์หนที่ 3 ในกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งยังผนึกกำลังกับ “โรซ่า” เช่นเดิม

Advertisement

“บิ๊กเสือ” เล่าต่อว่า มาครั้งนี้ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2016 ก่อนเดินทางมาแข่งขัน 1 เดือน ก็เกิดไอเดียตั้ง “ไทยเฮ้าส์” เป็นหนที่ 4 แต่ครั้งนี้ กกท.ต้องการนำอาหารสดมาปรุงรสชาติอาหารไทยให้นักกีฬาเข้ามาทาน โดยยึดหลักการในการตั้งไทยเฮ้าส์ไว้ 5 ประการ คือ 1.ดูแลเรื่องสมรรถภาพร่างกายนักกีฬาโดยทั่วไป 2.ดูแลเรื่องการกายภาพบำบัด 3.การให้บริการนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 4.การดูแลโภชนาการอาหารของนักกีฬา และ 5.การดูแลสุขภาพทั่วไปของนักกีฬา

ผู้ว่าการสกลเล่าต่อไปว่า กกท.ไม่อยากแค่ดูแลเรื่องการเตรียมนักกีฬาอย่างเดียวแล้วส่งไม้ต่อให้คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ในฐานะองค์กรที่ส่งนักกีฬามาแข่งขันดูแลต่อ แต่ กกท.ต้องการตามมาดูแลให้สมบูรณ์แบบเพราะรู้ดีว่ายามที่นักกีฬาต้องไปแข่งไกลๆ อย่างที่ประเทศบราซิลนั้น เรื่องอาหารไทยเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อจิตใจด้วยเช่นกัน จึงเรียกศาสตร์ใหม่นี้ว่า “โภชนจิต” เพราะคิดว่าหากไทยเฮ้าส์ทำอาหารสำเร็จรูปเหมือนเดิมก็ไม่แตกต่างจากอาหารในหมู่บ้านนักกีฬา และไม่มีผลต่อจิตใจนักกีฬาเท่าที่ควร จึงต้องการนำวัตถุดิบมาปรุงสด โดยช่วงแรกที่คิดจะทำนั้น ไม่ติดขัดเรื่องงบประมาณเพราะ กกท.ตั้งงบไว้ 8 แสนบาทในการดำเนินการ แต่ปัญหาคือ ที่บราซิลมีข้อจำกัดหลายประการที่ต้องแก้ไขปัญหากัน

5

Advertisement

“ตอนแรกตั้งทีมงานและสอบถามไปยังหญิงไทยคนหนึ่งซึ่งเคยอยู่ที่บราซิลว่าวัตถุดิบที่บราซิลมีอะไรบ้างที่สามารถทำได้ จากนั้นปรึกษาสถานทูตไทยที่กรุงบราซิเลียเพื่อขอคำแนะนำทั้งเรื่องการนำเครื่องปรุง วัตถุดิบต่างๆ ชนิดฟุลออปชั่นเข้าประเทศบราซิลได้ไหม อย่างไร ตอนแรกแทบมืดมนเพราะเป็นเรื่องยากมาก แต่เมื่อสถานทูตเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อนักกีฬาไทยก็แนะนำว่าพอมีหนทาง ผมจึงเริ่มมีความหวังและสั่งทีมงานเดินเครื่องลุยงานตั้งไทยเฮ้าส์ทันที” บิ๊กเสือเล่าอย่างออกรสออกชาติ

เมื่อทุกอย่างลงตัว กกท.เดินหน้าหาทีมงานแม่ครัวที่จะมาประจำที่ “ไทยเฮ้าส์” หาเช่าสถานที่ตั้งไม่ไกลจากหมู่บ้านนักกีฬา และสนามแข่งขัน กระทั่งมาลงตัวที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่ง จากนั้นวัตถุดิบล็อตแรกถูกส่งมาที่นครรีโอเดจาเนโร โดยประทับตราสถานทูตทุกกล่อง ทุกอย่างจึงผ่านฉลุย ส่วนวัตถุดิบสดๆ เนื้อหมู, เนื้อไก่, เนื้อวัว, ผักสด, ผลไม้ ฯลฯ รวมไปถึงวัสดุอุปกรณ์ เช่น หม้อ, กระทะ, เครื่องปั่น, ถ้วย, จาน, ชาม, ช้อน, แก้วน้ำ มาหาซื้อเอาที่นครรีโอเดจาเนโร ซึ่งราคาแพงลิบลิ่ว

“บิ๊กเสือ” บอกว่า วันหนึ่งๆ แม่ครัวจะเตรียมอาหารไทยยืนพื้น 3 อย่างพร้อมผลไม้ และน้ำดื่ม แต่ถ้าชนิดกีฬาใดร้องขอเข้ามาล่วงหน้าว่ามื้อนี้อยากจะทานอาหารเมนูพิเศษ ถ้าไม่ยากเกินไป วัตถุดิบสามารถหาซื้อได้สะดวก แม่ครัวจะทำให้ทันที จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของทัพนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ไทย

“ไทยเฮ้าส์ในครั้งที่ 4 ที่รีโอเกมส์ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด เป็นที่น่าพอใจ นักกีฬาทุกคนต่างพอใจการให้บริการและชื่นชมว่าอาหารอร่อย อนาคตยืนยันว่า กกท.จะเดินหน้าโครงการไทยเฮ้าส์ต่อไปอย่างแน่นอน แต่ต้องเลือกเป็นมหกรรมการแข่งขันอย่างเช่น ซีเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, บีชเกมส์ หรืออินดอร์เกมส์ นักกีฬาไทยไปร่วมแข่งขันมากอาจจะไม่สะดวกในการดำเนินการ แต่จะเลือกตั้งไทยเฮ้าส์เมื่อต้องไปแข่งขันข้ามทวีปลักษณะนี้ แต่เบื้องต้นในโอลิมปิกเกมส์อีก 4 ปีข้างหน้าที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คิดว่าน่าจะมีการตั้งไทยเฮ้าส์เป็นครั้งที่ 5 อย่างแน่นอน แต่หัวใจหลักในการทำไทยเฮ้าส์คือ ต้องกล้าทำ อย่าทำเล่นๆ ต้องทำจริงๆ และเกิดประโยชน์แก่นักกีฬาจริงๆ” นายใหญ่ค่ายหัวหมากกล่าว

3

“น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ หนึ่งในทัพนักกีฬาไทยขาประจำที่ฝากท้องกับไทยเฮ้าส์ตลอดช่วงแข่งขัน “รีโอเกมส์” กล่าวว่า อาหารที่ไทยเฮ้าส์รสชาติดี ถูกปาก อิ่มท้องทุกมื้อ ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่เมืองไทย ได้ผลในแง่ของจิตใจมาก ขอบคุณ กกท.ที่ช่วยเติมเต็มเรื่องอาหารและวิทยาศาสตร์การกีฬาให้นักกีฬาไทย

นี่เป็นความสำเร็จอย่างสูงของโปรเจ็กต์ “ไทยเฮ้าส์” ไอเดียเพื่อปากท้องทัพนักกีฬาไทยจากใจ กกท.

1

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image