“กอล์ฟ”กับ”โอลิมปิก” อีกโลกหนึ่งของ”รีโอเกมส์”

เรียกว่าเป็นการ “คัมแบ๊ก” ที่ยาวนานที่สุดสำหรับกีฬาหนึ่งในการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ ก็คงไม่ผิดนัก สำหรับการแข่งขัน กอล์ฟ ซึ่งกลับมาชิงชัยอีกครั้งในโอลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกในรอบ 112 ปี

และถ้ายิ่งจำเพาะเจาะจงลงไป ต้องบอกว่าอีเวนต์ กอล์ฟหญิง นั้น รอมานานเข้าไปใหญ่ เพราะครั้งสุดท้ายที่แข่งขันกันคือเมื่อ 116 ปีที่แล้ว!

กอล์ฟบรรจุเข้าโอลิมปิกตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 2 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1900 ครั้งนั้นแข่งขันกัน 2 เหรียญทอง ในประเภทบุคคลชายและบุคคลหญิง ส่วนครั้งต่อมาที่เมืองเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ในปี 1904 แข่งกัน 2 เหรียญทองเช่นกัน แต่เป็นประเภทบุคคลชายและทีมชาย

เท่ากับว่ากอล์ฟหญิงแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์เพียงครั้งเดียวก่อนหน้านี้ และแชมป์หนึ่งเดียวในประวัติศาสตร์ก่อนมาถึง “รีโอเกมส์” คือ มาร์กาเร็ต อีฟส์ แอ๊บบ็อตต์ ซึ่งกลายเป็นนักกีฬาหญิงชาวอเมริกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ด้วย

Advertisement

1

เนื่องด้วย “ปารีสเกมส์” ปี 1900 นั้น เป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าร่วม รวมชิงชัย 11 อีเวนต์ แต่เนื่องจากไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์การแข่งขันให้ได้นักกีฬาที่เข้าร่วมส่วนใหญ่จึงไม่รู้ตัวเลยว่า กีฬาที่ตัวเองกำลังแข่งอยู่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของโอลิมปิกเกมส์

กรณีของแอ๊บบ็อตต์ ตอนนั้นเธออาศัยอยู่ที่ชิคาโก และบังเอิญเดินทางไปปารีสเพื่อเรียนด้านศิลปะพอดี ก็เลยจับพลัดจับผลูได้เข้าแข่งร่วมกับคุณแม่ (ที่คว้าอันดับ 7) ก็เลยกลายเป็นประวัติศาสตร์การร่วมแข่งขันโอลิมปิกระหว่างแม่ลูกไปด้วยเช่นกัน

Advertisement

ผ่านไปกว่า 100 ปี กอล์ฟได้รับการบรรจุกลับมาแข่งขันอีกครั้งท่ามกลางความตื่นเต้นยินดีของคนในวงการ เพราะการเข้าร่วมเวทีที่ถือเป็นจุดสูงสุดของวงการกีฬาหมายถึงโอกาสที่กอล์ฟจะได้รับการยอมรับจากแฟนกีฬาขาจรรวมถึงนักกีฬาชนิดอื่นๆ มากขึ้น

เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แม้กอล์ฟจะเป็นกีฬาที่มีค่าตอบแทนสูงมากเมื่อเทียบกับกีฬาอาชีพประเภทบุคคลชนิดอื่นๆ แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มองกอล์ฟเป็น “กีฬา” เต็มตัว แต่มองว่าเป็นกิจกรรมออกกำลังกายหรือนันทนาการมากกว่า เนื่องด้วยกอล์ฟสามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัย อายุการเล่นของนักกอล์ฟอาชีพก็อยู่ยาวตั้งแต่วัยรุ่นถึง 40 กว่าปี หรือถ้าอายุมากกว่านั้นจนแข่งกับพวกโปรรุ่นน้องไม่ไหว ก็ยังมีทัวร์อาวุโสรองรับ

ที่สำคัญคือขณะที่กีฬาส่วนใหญ่ นักกีฬาต้องฟิตร่างกายให้ดูผอมเพรียวแข็งแกร่ง นักกอล์ฟส่วนหนึ่งกลับกินเหล้าเมายา ทานอาหารจั๊งก์ฟู้ด และอ้วนลงพุง ใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงแบบไม่ดูแลตัวเอง แต่ก็ยังคว้าแชมป์ (อาทิ จอห์น เดลี่ โปรชาวอเมริกันซึ่งเป็นตัวอย่างชั้นดี) ทำให้นักกอล์ฟโดนนักกีฬาชนิดอื่นๆ บางคนค่อนแคะว่า ไม่น่าจะเรียกว่า “นักกีฬา” ได้

การได้รับการบรรจุเข้าโอลิมปิกเกมส์ของกอล์ฟจึงทำให้บรรดาผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ ตื่นเต้นยินดี และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อดึงดูดให้นักกอล์ฟมือพระกาฬของโลกไปดวลวงสะวิงอวดชาวโลกและนักกีฬาประเภทอื่นๆ ว่า กอล์ฟก็เป็นกีฬาที่สนุกและน่าตื่นตาตื่นใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ด้วยหวังว่าแฟนกีฬาขาจรที่บังเอิญได้ชมและเชียร์นักกีฬาตัวเองแข่งขันในโอลิมปิก จะตามผลงานของนักกีฬาเหล่านั้นเวลาไปแข่งขันกอล์ฟอาชีพของแต่ละทัวร์เมื่อจบรีโอเกมส์ไปแล้ว

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่ว่าคือการที่เจ้าของทัวร์นาเมนต์ระดับเมเจอร์ทั้งชายและหญิงมีมติมอบสิทธิพิเศษให้นักกอล์ฟที่คว้าเหรียญทองบุคคลชายและหญิง ได้เข้าร่วมแข่งขันรายการเมเจอร์ทุกรายการที่จัดขึ้นหลังโอลิมปิกเกมส์ โดยไม่ต้องผ่านเงื่อนไขใดๆ ทั้งอันดับโลกหรือผลงานในอดีตอย่างที่เคยใช้เป็นเกณฑ์

แต่ที่สุดแล้ว ความพยายามขององค์กรต่างๆ ก็ดูจะไม่เป็นผลนัก เมื่อนักกอล์ฟชายชื่อดังมากมายทยอยถอนตัวจากการแข่งขันด้วยเหตุผลต่างๆ กัน ประการหนึ่งเพราะ “ไม่อิน” กับโอลิมปิก และมองว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ารายการระดับเมเจอร์

ในจำนวนนี้คือมือท็อป 4 ของโลก ณ เวลานั้น ได้แก่ เจสัน เดย์ (ออสเตรเลีย), ดัสติน จอห์นสัน (สหรัฐ), จอร์แดน สปีธ (สหรัฐ) และ รอรี่ แม็คอิลรอย (ไอร์แลนด์เหนือ) ที่ต่างถอนตัวเพราะกลัวปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ซิกา

ผิดกับฝั่งผู้หญิงซึ่งบรรดาโปรกอล์ฟระดับแถวหน้าของโลกในแอลพีจีเอทัวร์และเลดี้ส์ ยูโรเปี้ยนทัวร์ต่างยืนยันการเข้าร่วมอย่างครบครัน หลายคนต่างตื่นเต้นยินดีที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ ได้ร่วมพิธีเปิดการแข่งขัน และได้ร่วมพักในหมู่บ้านนักกีฬา (บางคนถึงขั้นปรารภว่า ต่อให้หมู่บ้านมีปัญหาสารพัดก็ไม่สนใจ ให้นอนบนพื้นก็ยอม ขอแค่ให้ได้ร่วมแข่งขันเป็นพอ)

เพราะสำหรับนักกอล์ฟแล้ว ไม่บ่อยนักที่จะมีโอกาสได้เข้าแข่งขันในนามทีมชาติและได้ทำเพื่อประเทศชาติอย่างนี้

กรณีที่น่าชื่นชมมากๆ คือ ปาร์ก อินบี อดีตนักกอล์ฟหญิงหมายเลข 1 ของโลกชาวเกาหลีใต้ ซึ่งมีปัญหาเจ็บนิ้วเรื้อรังมานานหลายเดือน ปาร์กถึงกับยอมถอนตัวจากรายการระดับเมเจอร์เพื่อพักรักษาตัว เตรียมร่างกายให้พร้อมที่สุดเพื่อจะได้ไปแข่งขันรีโอเกมส์

ขณะที่ ลิเดีย โค มือ 1 ของโลกชาวนิวซีแลนด์เชื้อสายเกาหลี ก็บอกเช่นกันว่า ทุกครั้งที่คุยกับเพื่อนนักกอล์ฟด้วยกัน ทุกคนต่างตื่นเต้นที่จะเข้าร่วมแข่งขัน และดื่มด่ำกับบรรยากาศของโอลิมปิกเกมส์ที่เคยเห็นแต่ในจอโทรทัศน์ให้เต็มที่

Golf - Women's Individual Stroke Play

ส่วน “โปรเม” เอรียา จุฑานุกาล และ “โปรแหวน” พรอนงค์ เพชรล้ำ สองตัวแทนจากประเทศไทยก็บอกเช่นกันว่า จะทุ่มเททำให้เต็มที่เพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับคนไทยในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้

เรียกว่าบรรยากาศของฝั่งนักกอล์ฟหญิงเต็มไปด้วยความสนุกสนาน และน่าประทับใจ เป็นการขับเคี่ยวของนักกอล์ฟชั้นนำของโลกที่เข้าร่วมกันเกือบครบครัน อีกทั้งเมื่อเทียบในเรื่องความกดดัน อาจจะน้อยกว่าหลายๆ ชนิดกีฬา อาจจะเพราะกอล์ฟห่างจากโอลิมปิกมานาน จึงไม่รู้สึกถึงน้ำหนักของความคาดหวังหรือการถูกจับตาอย่างที่นักกีฬาบางคนเป็น

ปัญหาก็คือ การถอนตัวของฝั่งผู้ชายทำให้ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ต้องมาคิดทบทวนว่า ภาพรวมของการบรรจุกอล์ฟกลับเข้ามาในโอลิมปิกเกมส์ถือว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ และหลังจบ โตเกียวเกมส์ ที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 2020 ไปแล้ว จึงต้องมาตัดสินอนาคตกันอีกทีว่าจะได้ชิงเหรียญกันต่อไปอีกไหม

ถ้าสุดท้ายต้องมาโดนตัดไปอีกครั้ง ทั้งนักกอล์ฟและแฟนๆ ก็คงต้องเก็บเกี่ยวความทรงจำสั้นๆ นี้ให้มากที่สุด

เพราะไม่รู้หนต่อไปต้องรออีกกว่า 100 ปีหรือเปล่า!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image