ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระมหากรุณาธิคุณต่อวงการมวย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้รับการยอมรับว่า ทรงเป็นกษัตริย์นักกีฬา ทั้งพระราชจริยวัตรในการลงแข่งขันกีฬาในฐานะตัวแทนนักกีฬาทีมชาติไทย และทรงชนะเลิศคว้าเหรียญทองกีฬาเรือใบ ประเภท โอ.เค. ในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 พ.ศ.2510 และยังทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยอีกหลายสมาคม

กีฬาหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสนพระราชหฤทัยและทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมาโดยตลอดคือ กีฬามวย ไม่ว่าจะเป็นมวยสากลอาชีพ, มวยสากลสมัครเล่น, มวยไทย โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานทอดพระเนตรการแข่งขันของนักมวยไทยกับต่างชาติหลายต่อหลายครั้ง

การชกระหว่าง โผน กิ่งเพชร กับ ปาสคาล เปเรซ นักมวยชาวอาร์เจนตินา เมื่อวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2503 ณ สนามมวยเวทีลุมพินี ซึ่งผลการชก โผนสามารถเอาชนะคะแนนเปเรซไปอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ ได้ครองตำแหน่งแชมป์โลกเป็นคนแรกของไทย

หรือการชกระหว่าง ชาติชาย เชี่ยวน้อย กับ แอฟเฟรน ทอร์เรส นักมวยชาวเม็กซิกัน เมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2513 ณ สนามกีฬากิตติขจร (ปัจจุบันคือ อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก) ผลการชก ชาติชายเป็นฝ่ายชนะคะแนน ได้ครองแชมป์โลกเป็นสมัยที่ 2 เป็นต้น

Advertisement

ซึ่งหลังจากการชกทุกครั้งพระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักมวยเข้าเฝ้าฯ อย่างใกล้ชิด และมีพระราชปฏิสันถารอย่างเป็นกันเองด้วยความห่วงใย และพระราชทานเข็มขัดแชมป์โลกให้ด้วย

3

ครั้งหนึ่งหลังการชก ชาติชาย เชี่ยวน้อย มีโอกาสได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ตรัสถามว่า ได้ข่าวว่าได้ลูกสาวใช่ไหม และอยากได้อะไรบ้าง ซึ่งชาติชายตอบกลับไปว่า อยากให้พระองค์พระราชทานชื่อลูกสาวให้ ซึ่งพระองค์ก็พระราชทานชื่อให้ว่า อนุตรา แปลว่า “ดียิ่ง”

Advertisement

นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นแก่ครอบครัวของชาติชาย เชี่ยวน้อย อย่างหาที่สุดมิได้

2

ชาติชาย เชี่ยวน้อย เล่าในบันทึกส่วนตัวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเอื้อมพระหัตถ์มาแตะที่บ่า และในบางครั้งก็เชยคางผมขึ้นเพราะผมกำลังหมอบอยู่เบื้องพระบาทเพื่อให้เงยหน้าขึ้่นมาฟังพระราชดำรัส พระองค์ตรัสว่าเก่งมาก ฉันดีใจมาก ผมรู้สึกปีติยินดีอย่างยิ่งจนน้ำตาคลอ ตอนนั้นผมตั้งปณิธานไว้อย่างเด็ดเดี่ยวว่าจะพยายามชิงเข็มขัดแชมป์โลกมาสู่ผืนดินสยามให้ได้ และผมก็ทำได้สำเร็จ” ชาติชายเล่าบันทึกความทรงจำผ่านตัวหนังสือ

รวมถึงเมื่อครั้งที่ แสน ส.เพลินจิต เดินทางไปป้องกันตำแหน่งแชมป์โลก ณ เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น กับ ฮิโรกิ อิโอกะ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2538 ผลการชก แสนเอาชนะน็อกไปได้ในยกที่ 10 หลังการชกเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงส่งพระราชสาสน์ผ่านทางกงสุลไทย ณ เมืองโอซากา ความว่า พระองค์ทอดพระเนตรการชกของแสนอยู่ผ่านทางโทรทัศน์ ทรงชมว่าแสนชกได้ดี ยังความปลาบปลื้มแก่แสนและคณะเป็นอย่างยิ่ง

รวมทั้งพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร เวนิส บขส. ชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวต สภามวยโลกกับ เบตูนิโอ กอนซาเลส แชมป์ชาวเวเนซุเอลา ณ สนามกีฬากิตติขจร หัวหมาก ผลการชก เวนิสชนะน็อกยก 10 ได้แชมป์โลกไปครอง

5

ในส่วนของมวยไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการแข่งขันทั้งเวทีมวยราชดำเนินและเวทีมวยลุมพินี ทั้งหมด 3 ครั้ง เป็นการเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

ครั้งที่ 1 วันที่ 13 พฤจิกายน พ.ศ.2504 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรมวยไทย โดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน “ทุนนักมวยไทยในมูลนิธิอานันทมหิดล” ณ เวทีราชดำเนิน ทอดพระเนตรตั้งแต่คู่แรกไปจนถึงคู่สุดท้าย ซึ่งโปรโมเตอร์ผู้จัดตอนนั้นคือ เทียมบุญ อินทรบุตร ซึ่งได้ระดมนักมวยไทยชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศขึ้นเวทีเป็นประวัติการณ์ ซึ่งคู่เด่นๆ อดุลย์ ศรีโสธร แพ้คะแนน นำศักดิ์ ยนตรกิจ และเขียวหวาน ยนตรกิจ ชิงแชมป์ภาคตะวันออกรุ่นจูเนียร์มิดเดิลเวต ชนะทีเคโอ กัง แช ชุน จากเกาหลีใต้ ยกที่ 2

โดยพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลพระราชทาน ให้แก่ นำศักดิ์ ยนตรกิจ นักชกยอดเยี่ยมมวยไทย และเขียวหวาน ยนตรกิจ นักชกยอดเยี่ยมมวยสากล และพระราชทานเข็มปักหน้าอกเสื้อให้กับนักมวยทุกคนที่ชกในรายการด้วย

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ.2506 ณ สนามมวยลุมพินี ซึ่งนักมวยยอดเยี่ยมมวยไทย ได้แก่ เดชฤทธิ์ อิทธิอนุชิต ที่เอาชนะคะแนน รักเกียรติ เกียรติเมืองยม ส่วนมวยสากล ได้แก่ อดุลย์ ศรีโสธร ซึ่งชกชิงแชมป์มวยสากลรุ่นไลต์เวตลุมพินี ชนะทีเคโอ อดิศักดิ์ อิทธิอนุชิต ในยกที่ 9 ซึ่งทั้งคู่ได้ขึ้นรับถ้วยพระราชทาน และนักมวยคนอื่นๆ ได้รับของรางวัลพระราชทานเป็นที่ระลึกอย่างทั่วถึงกัน

ครั้งที่ 3 วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2508 ณ เวทีมวยราชดำเนิน เป็นความร่วมมือของคณะมวย 20 คณะ ที่พร้อมใจกันน้อมเกล้าฯ ถวายแสดงความจงรักภักดี ด้วยการจัดมวยที่มีฝีมือดีที่สุดขึ้นชกในรายการนี้ มีโปรโมเตอร์ บุญส่ง กิจกล่ำศรวล เป็นผู้จัด โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรการแข่งขันอยู่นานถึง 4 ชั่วโมง ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแก่บุคคลในวงการมวยเป็นล้นพ้น

ซึ่งผลการชก สมพงษ์ เจริญเมือง ชนะคะแนน ราวี เดชาชัย, อภิเดช ศิษย์หิรัญ ชนะน็อก สิงห์ดำ มัลละยุทธ ยก 2, ชาติชาย เชี่ยวน้อย ชกมวยสากลชนะคะแนน อนันตเดช ศิษย์หิรัญ, มนต์สวรค์ แหลมฟ้าผ่า ชนะคะแนน พลายน้อย รฟท. โดยพระองค์พระราชทานถ้วยพระราชทานให้แก่ พันทิพย์ แก้วสุริยะ นักมวยยอดเยี่ยมมวยสากล ที่ชนะคะแนน วิทยาน้อย สิงห์ยอดฟ้า และพระราชทานถ้วยพระราชทานยอดเยี่ยมมวยไทยให้แก่ สมพงษ์ เจริญเมือง ที่เอาชนะคะแนน ราวี เดชาชัย

มวยสากลสมัครเล่น ระดับโอลิมปิก นักชกหลายคนได้เข้าเฝ้าฯ หลายต่อหลายคน อาทิ สมรักษ์ คำสิงห์ ซึ่งชนะเลิศในการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวต ในกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 26 ที่เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ.2539 และในวันเดียวกัน ยังมีนักมวยชุดโอลิมปิก ได้เข้าเฝ้าฯ พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็น วิชัย ราชานนท์ ที่ได้รับเหรียญทองแดง

รวมถึงนักมวยคนอื่นๆ ที่ร่วมแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ที่แอตแลนตา อีกทั้งนักมวยที่ได้เหรียญโอลิมปิกรุ่นต่อไป ทั้ง วิจารณ์ พลฤทธิ์, พรชัย ทองบุราณ, มนัส บุญจำนงค์, วรพจน์ เพชรขุ้ม, สุริยา ปราสาทหินพิมาย ก็ได้เข้าเฝ้าฯ ด้วยเช่นกัน

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่คนวงการมวยควรต้องน้อมนำมาใส่เกล้าใส่กระหม่อมตราบนานเท่านาน…

7

4

6

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image