มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างใน ‘วิมเบิลดัน 2022’

มีอะไรเปลี่ยนไปบ้างใน ‘วิมเบิลดัน 2022’

อีกไม่กี่วันก็จะเริ่มการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมสนามหญ้า “วิมเบิลดัน” ที่ออล อิงแลนด์ คลับ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 10 กรกฎาคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรายการใหญ่ที่มีผู้ติดตามมากมาอย่างยาวนาน

แต่เนื่องจากสถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะสงครามระหว่างรัสเซีย กับ ยูเครน หรือการผ่อนคลายนโยบายเกี่ยวกับโควิด-19 ทำให้วิมเบิลดัน 2022 จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้น

นักหวดรัสเซีย-เบลารุสชวดบู๊

Advertisement

เป็นที่ทราบกันดีว่าการที่รัสเซียรุกรานยูเครน ทำให้สมาคมกีฬาต่างๆ ทั่วโลกได้ออกมาแบนไม่ให้นักกีฬาทั้ง 2 ประเทศ เข้าร่วมในการแข่งขันในระดับสากล

สำหรับเทนนิสขึ้นอยู่กับเจ้าภาพรายการนั้นๆ ว่าจะให้แข่งหรือไม่ แข่งในฐานะประเทศตัวเอง หรือธงสีขาวเป็นกลาง อย่างไรก็ดีในการแข่งขันวิมเบิลดันปีนี้ ทางผู้จัดได้ลงความเห็นว่าจะแบนไม่ให้นักกีฬาที่ถือสัญชาติรัสเซียและเบรารุสเข้าร่วมการแข่งขันไปเลย

นโยบายดังกล่าวทำให้ ดานิล เมดเวเดฟ นักเทนนิสมือ 1 ของโลกชาวรัสเซีย และ อารีน่า ซาลาเบนก้า นักหวดสาวอันดับ 6 ของโลก ชาวเบลารุส รวมทั้งนักหวดชื่อดังอีกหลายคน ไม่สามารถเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ได้

Advertisement

ด้าน เอียน เฮวิดด์ ประธานของ ออล อิงแลนด์ คลับ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า พวกเขาทราบดีว่านโยบายของพวกเขาส่งผลกระทบกับผู้เล่นบางคนเป็นอย่างมาก และเสียใจที่นักกีฬาเหล่านั้นต้องเป็นผู้เสียหายจากแผนการของรัสเซีย

การแถลงการณ์ดังกล่าวทำให้โฆษกรัฐบาลของรัสเซียออกมาโต้ตอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นว่านโยบายดังกล่าว ใช้นักกีฬาเป็นตัวประกันทางการเมือง

“รัสเซียเป็นประเทศที่เก่งเทนนิส เรามีนักกีฬาติดอันดับโลก คนที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้คือวิมเบิลดันต่างหาก” โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าว

เก่งแค่ไหน อันดับก็ไม่เขยื้อน

สมาคมนักเทนนิสอาชีพชาย(เอทีพี) และสมาคมนักเทนนิสอาชีพหญิง(ดับเบิลยูทีเอ) ได้ลงความเห็นว่า เมื่อวิมเบิลดันเลือกปฏิบัติที่จะไม่ให้นักเทนนิสรัสเซียและเบลารุสร่วมแข่งขัน ทั้งๆ ที่ ตัวนักกีฬาไม่มีความเกี่ยวข้องกับการทำสงครามเลย ก็ต้องมีมาตรการในการตอบโต้ด้วย

เอทีพีและดับเบิลยูทีเอ รวมทั้งสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ไอทีเอฟ) ได้ตกลงไปในทางเดียวกัน คือ ไม่นับคะแนนสะสมแรงกิ้งโลก ในวิมเบิลดันปีนี้

นาโอมิ โอซากะ นักหวดลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ กล่าวว่า การไม่มีคะแนนสะสมทำให้การแข่งขันลดความสำคัญลงไป และทำให้วิมเบิลดันเป็นเหมือนการตีโชว์มากกว่า อย่างไรก็ตามโอซากะได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมวิมเบิลดันตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมแล้ว แม้ว่าภายหลังเธอจะบาดเจ็บเอ็นข้อเท้าก็ตาม

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับนักเทนนิสชาวญี่ปุ่น แอนดี้ เมอร์เรย์ แชมป์แกรนด์สแลม 2 สมัย เป็นหนึ่งในนั้น เขามั่นใจว่า วิมเบิลดันไม่มีวันเหมือนหรือกลายเป็นการแข่งโชว์เพื่อความสนุกอย่างแน่นอน

นักหวดดาวรุ่งที่อันดับโลกไม่สูงอาจจะได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้พอสมควร ถ้าโชว์ฟอร์มหรู ทะลุเข้ารอบลึกๆ แต่ไม่มีคะแนนให้เก็บ อันดับโลกก็ยังคงนิ่งอยู่ที่เดิม

สุขสันต์วันเกิด 100 ปี เซ็นเตอร์คอร์ท

เซ็นเตอร์ คอร์ท สนามหลักที่ใช้ในการแข่งขันรายการวิมเบิลดัน เตรียมที่จะฉลองครบรอบ 100 ปีในช่วงซัมเมอร์นี้ ทำให้ในวันที่ 3 กรกฏาคม จะมีการจัดงานพิเศษเพื่อฉลองการครบรอบดังกล่าวขึ้น

ไม่มีมิดเดิล ซันเดย์

เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่รายการวิมเบิลดัน มีกำหนดการแข่งครบทั้ง 14 วันตั้งแต่ต้นจนจบการแข่งขัน เนื่องจากปกติวันอาทิตย์กลางระหว่างสัปดาห์แรกและสัปดาห์ที่สอง หรือที่เรียกว่า “มิดเดิล ซันเดย์” จะถูกเว้นไว้เป็นวันว่าง และใช้เป็นวันแข่งสำรองในกรณีที่อากาศไม่เป็นใจในสัปดาห์แรกเท่านั้น

ในปีนี้ มิดเดิล ซันเดย์ จะทำหน้าที่แบ่งเบาการแข่งขันจากวันจันทร์ของสัปดาห์ที่สอง ที่เรียกว่า แมนิค มันเดย์ ซึ่งในปีก่อนๆ จะเป็นวันที่แข่งขันรอบ 16 คน/คู่

คณะผู้จัดของวิมเบิลดันมองว่า การจัดการแข่งขันในรูปแบบนี้ จะทำให้แต่ละเกมมีความยืดหยุ่นและสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ นโยบายเพิ่มวันการแข่งขันของวิมเบิลดัน จะช่วยให้ทางผู้จัดสามารถขายบัตรและต่อรองเรื่องการถ่ายทอดสดการแข่งขันได้มากขึ้นอีกด้วย

Photo : Wimbledon

การกลับมาของเดอะคิว

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่ไม่มีใครได้เห็นภาพผู้ชมมากางเต็นท์ค้างคืนรอซื้อบัตรเข้าชมการแข่งขัน หรือที่เรียกว่า เดอะคิว (the queue) ซึ่งวิมเบิลดันเป็นหนึ่งในไม่กี่รายการที่ยังเปิดให้ผู้ชมสามารถซื้อบัตรการแข่งขันวันต่อวันได้

ภาพของเดอะ คิว ได้หายไปตั้งแต่การแข่งขันในปี 2020 ซึ่งได้ถูกยกเลิกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และทำให้ในปี 2021 ระบบการซื้อบัตรทั้งหมดของวิมเบิลดันถูกเปลี่ยนเป็นรูปแบบออนไลน์แทน

อย่างไรก็ดี ในการแข่งขันปี 2022 ทางผู้จัดได้ออกมาแจ้งว่าจะนำระบบการซื้อบัตรในรูปแบบเดิมกลับมาใช้อีกครั้ง ให้ผู้ชมได้กลับไปสัมผัสบรรยากาศการกางเต็นท์รอได้เช่นเดิม

Photo : Wimbledon

ซ้อมในสนามแข่งได้

วิมเบิลดัน เป็นการแข่งขันเดียวในเทนนิสแกรนด์สแลม 4 รายการที่ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันลงไปซ้อมในสนามที่จะใช้แข่งได้ จนกว่าจะถึงวันแข่งขันจริง ซึ่งทำให้นักเทนนิสที่แข่งเป็นคู่แรกๆ ต้องประสบอุบัติเหตุลื่นล้มอยู่บ่อยครั้ง ในจำนวนดังกล่าว รวมไปถึง เซเรน่า วิลเลียมส์ แชมป์แกรนด์สแลม 23 สมัย ที่ลื่นล้มจนเอ็นข้อเท้าอักเสบ ตั้งแต่การแข่งขันในเกมแรกของเธอในปี 2021 ซึ่งแม้แต่แชมป์ 2 สมัย อย่าง เมอร์เรย์ ก็กล่าวถึงพื้นคอร์ทของ เซ็นเตอร์ คอร์ท ในการแข่งขันปี 2021 ว่ามัน “โหดเหี้ยมมาก”

แนวทางดังกล่าวได้เปลี่ยนไปในการแข่งขันที่จะถึง ซึ่งทางวิมเบิลดันได้อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันใช้ เซนเตอร์ คอร์ท และ นัมเบอร์ วัน คอร์ท เป็นสถานที่ซ้อมได้

คาเมรอน นอรี่ย์ อดีตนักหวดมือ 1 ของอังกฤษ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของวิมเบิลดันว่า เป็นเรื่องที่ดี และจะเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากนักแข่งสามารถที่จะตรวจสอบและแจ้งปัญหาที่พวกเขาพบภายในสนามได้ก่อนการแข่งจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image