‘ยอร์กเชียร์ เทอร์เรียร์ส เอฟซี’ พื้นที่ปลอดภัยของแข้งเพศทางเลือก

‘ยอร์กเชียร์ เทอร์เรียร์ส เอฟซี’ พื้นที่ปลอดภัยของแข้งเพศทางเลือก

ในปัจจุบัน กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการยอมรับและมีความเท่าเทียมในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะในด้านสังคม กฎหมาย รวมไปถึงกีฬา อย่างไรก็ดีหากย้อนไปเมื่อเกือบ 30 ปีก่อน เรื่องความหลากหลายทางเพศนั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องต้องห้าม การล้อเลียน ดูถูก เหยียดหยามผู้มีความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นให้เห็นกันบ่อยครั้ง

จัสติน ฟาชานู นักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติอังกฤษที่เปิดเผยว่าตนเป็นเกย์ในขณะนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากแนวคิดดังกล่าวเป็นอย่างมาก เขาถูกกล่าวหาว่าล่วงละเมิดทางเพศเด็กผู้ชายอายุ 17 ปี หลังจากย้ายไปที่สหรัฐอเมริกา เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เขาต้องหลบหนีการจับกุมของตำรวจ ก่อนที่จะตัดสินใจปลิดชีวิตของตัวเองลง เพราะเขาไม่คิดว่าจะได้รับความยุติธรรมเนื่องจากรสนิยมทางเพศของตนเอง

การตัดสินใจของฟาชานูในครั้งนั้น จึงทำให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเลือกที่จะหลบซ่อน และปิดบังรสนิยมทางเพศของตนเอง เนื่องจากพวกเขาต่างเกรงว่าเหตุการณ์เช่นเดียวกับของอดีตนักเตะชาวอังกฤษอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

แต่ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในอังกฤษที่ชื่นชอบการเล่นฟุตบอลจึงได้ตันสินใจตั้ง เกย์ ฟุตบอล ซัพพอร์ตเตอร์ส เน็ตเวิร์ก (จีเอฟเอสเอ็น) ขึ้นในปี 2002 เป็นการรวมตัวกันของทีมฟุตบอลของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 4 ทีม ได้แก่ ยอร์กเชียร์ เทอเรียร์ส, เลสเตอร์ ไวลด์แคทส์, เลฟท์ฟุตเตอร์ส จากลอนดอน และ บริสตอล แพนเธอร์ส ลีกดังกล่าวเป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับประเทศแห่งเดียวของโลก สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ได้ก่อตั้งและแข่งขันกันมาอย่างยาวนาน 20 ปีแล้ว โดยปัจจุบันมีทีมที่เข้าร่วมแข่งขันรวม 13 ทีม

Advertisement

ร็อบ เกรแฮม สมาชิกกว่า 20 ปีของสโมสรยอร์กเชียร์ เล่าถึงต้นกำเนิดของ จีเอฟเอสเอ็นลีก ว่า ในตอนแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ยอร์กเชียร์เกิดขึ้นจากจากกลุ่มนักฟุตบอลเกย์ในพื้นที่เดียวกันที่ต้องการจะเล่นฟุตบอล เนื่องจากในตอนนั้นการเป็นเกย์เป็นเรื่องที่ผู้คนไม่ให้การยอมรับ การนัดกันของพวกเขาพัฒนาจากระดับท้องถิ่นไปเป็นระดับเมือง จากผู้เล่นฝั่งละ 5 คน กลายเป็น 11 คน เครือข่ายของพวกเขาขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งในปี 2002 พวกเขาที่มีกัน 4 ทีมได้ตัดสินใจจัดตั้งจีเอฟเอสเอ็นลีกขึ้นมา

นักเตะวัย 41 ปีกล่าวอีกว่า ในช่วงเวลากว่า 2 ทศวรรษที่เขาเป็นสมาชิก รู้สึกภูมิใจกับแนวทางที่สโมสรได้ดำเนินไป หนึ่งในความสำเร็จของทีม คือการเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับนักฟุตบอลเกย์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเกย์ด้วยกันเอง เนื่องจากเกย์ในสมัยนั้นคิดว่าทีมฟุตบอลเกย์ มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่ายอร์กเชียร์กำลังเดินมาถูกทาง คือการที่สมาชิกส่วนหนึ่ง ไม่ได้จำเป็นจะต้องเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ

“การที่เรามีสมาชิกเป็นผู้ชาย ก็เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะการมีสมาชิกผู้ชายอยู่ในสโมสรเกย์ก็เคยเป็นเรื่องต้องห้ามในสมัยก่อน” เกรแฮมกล่าว

ในตอนนี้พวกเขาตั้งใจที่จะทำให้ยอร์กเชียร์กลายเป็นสถานที่สำหรับใครก็ตาม ที่ต้องการจะเรียนรู้ตนเอง หรือต้องการหาเพื่อน เป็นที่สำหรับคนที่ชอบฟุตบอล อย่างเล่นฟุตบอล โดยไม่จำเป็นจะต้องแบ่งแยกด้วยความชอบหรือเพศ

จอช เซ็ดแมน โค้ชและอดีตนักฟุตบอลของสโมสร ก็มีแนวคิดไปในทิศทางเดียวกับเพื่อนร่วมทีมเช่นกัน เขามองว่า แม้เรื่องความหลากหลายทางเพศในวงการฟุตบอลจะเปิดกว้างขึ้น เช่นในกรณีของการเปิดเผยว่าตัวเองเป็นเกย์ของ โธมัส ฮิตเซิลสแปร์เกอร์ อดีตนักเตะทีมชาติเยอรมนี และ เจค แดเนียลส์ นักเตะอาชีพทีมแบล็คพูล แต่การเปิดเผยของพวกเขาก็ยังไม่ใช่เรื่องปกติ ดังนั้นการทำให้ยอร์กเชียร์เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศยังคงเป็นสิ่งที่จำเป็น

ความเปิดกว้างของสโมสร ไม่ได้ดึงดูดเฉพาะแค่นักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศ อดัม ไนท์ คุณพ่อลูกหนึ่ง ก็เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่เข้าร่วมสโมสรโดยที่เป็นชายรักหญิง

ไนท์กล่าวว่า สโมสรแห่งนี้เปิดกว้างมาก พูดในฐานะที่ไม่ได้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งความเปิดกว้างของสโมสรทำให้ตนต้องเปิดใจและทุ่มเทให้กับสโมสรด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงแค่การลงซ้อม แต่รวมไปถึงการยอมรับและเข้าใจตัวตนของทีมด้วย ประสบการณ์ดังกล่าวทำให้มุมมองของเขาต่อมนุษย์คนอื่นและสังคมเปลี่ยนไป

แม้ว่าจะมีคนในสังคมหลายคนที่มีแนวคิดต่อนักเตะเกย์เปลี่ยนไปเช่นเดัยวกับไนท์ ความคิดเกี่ยวข้องกับนักเตะข้ามเพศกลับต่างออกไป

แซม ฮิลล์ ชายที่ข้ามเพศไปเป็นหญิงแบบเต็มตัว หนึ่งนักเตะของยอร์กเชียร์ กล่าวว่า การเป็นนักฟุตบอลข้ามเพศในตอนนี้ อยู่ในสถานะเดียวกับที่นักฟุตบอลเกย์เคยได้รับเมื่อช่วงปี 1990 พวกเขามักจะถูกตัดสินจากเพศกำเนิดของตัวเองอยู่ แม้ว่าในหลายๆ ประเภทกีฬาสิ่งที่สำคัญคือความสามารถ ไม่ใช่เพศสภาพ

“คนข้ามเพศยังต้องเจอสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตรอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในวงการกีฬา คนมักจะบอกว่าคุณเล่นกีฬานั้นไม่ได้ เข้าทีมนี้ไม่ได้ เพราะเพศสภาพของคุณ ซึ่งจากประสบการณ์ตรงมันไม่จริง ฉันเกิดมามีเพศสภาพเดียวกับคริสเตียโน โรนัลโด้ แต่ฝีเท้าฉันห่วยกว่าเยอะ” ฮิลเล์สริม

ปีกข้ามเพศยังกล่าวอีกว่า กีฬาควรจะเป็นเรื่องของทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น ผู้คนต้องทำความเข้าใจว่าการอนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศเล่นกีฬาได้ ไม่ได้ทำให้มีเกย์หรือคนข้ามเพศโผล่ไปอยู่ทุกที่ในชั่วข้ามคืน เนื่องจากจำนวนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นมีน้อย ในหนึ่งหมู่บ้านอาจมีทีมฟุตบอล 2 ทีม แต่ในประเทศอังกฤษที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน ทีมฟุตบอลของผู้หลากหลายทางเพศประมาณ 20 ทีมเท่านั้น

นอกจากนี้ จำนวนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ยอร์กเชียร์ เทอร์เรียร์ส และสมาชิกของ จีเอฟเอสเอ็น เป็นเพียงแค่กลุ่มคนส่วนน้อยจำนวนหนึ่งในโลกฟุตบอล ดังนั้นการต่อสู้ของพวกเขาเป็นเพียงแค่การเริ่มต้น แต่ก้าวเล็กๆ ก็สามารถพาไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ได้

หวังว่าในอนาคต เรื่องของรสนิยมทางเพศก็จะไม่เข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเล่นฟุตบอล หรือกีฬาอีกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image