รายได้ที่หายไปจากการพลาดตั๋ว ‘เวิลด์คัพฉบับรัสเซีย’

 

การแข่งขันฟุตบอลโลกถือเป็นกีฬาที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เพราะความที่ฟุตบอลเป็นเหมือนกีฬาเบอร์หนึ่งที่เกือบทุกประเทศบนโลกให้ความสนใจ มูลค่าของนักเตะแต่ละคนที่มาร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย มหาศาลอย่างไม่น่าเชื่อ

ฟุตบอลโลก 2014 ที่ประเทศบราซิล เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มีรายได้รวมกันถึง 4,800 ล้านดอลลาร์(158,400 ล้านบาท) รายจ่าย 2,700 ล้านดอลลาร์(89,100 ล้านบาท) กำไรอยู่ที่ 2,100 ล้านดอลลาร์(69,300 ล้านบาท) และคาดว่ากำไรในฟุตบอลโลก 2018 จะต้องมากขึ้นอีกพอสมควร
เมื่อกำไรเพิ่มขึ้น เงินรางวัลของแต่ละทีมในฟุตบอลโลกที่จะถึงก็ย่อมต้องปรับมากขึ้นไปด้วย


เวิลด์คัพฉบับรัสเซีย ฟีฟ่าเตรียมเงินรางวัลไว้ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(13,200 ล้านบาท) ให้กับทั้ง 32 ทีมที่เข้ามาเล่นรอบสุดท้าย เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่แจกจ่ายไป 358 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(11,814 ล้านบาท) ถึง 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(1,386 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

32 ทีมที่เข้ามาเล่นรอบสุดท้ายจะได้รับไปก่อน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(264 ล้านบาท) และถ้าตกรอบแบ่งกลุ่มก็จะยุติเงินรางวัลไว้เพียงเท่านี้ เงินรางวัลในรอบแรกยังเป็นอัตราเดิมเหมือนที่ได้รับในเวิลด์คัพ 2014 แต่ถ้าขยับเข้ารอบลึกไปเรื่อยๆ เงินก็ยิ่งมหาศาลไปกว่าเดิม

ตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย จะได้รับ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(396 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2014 ที่ได้รับ 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(297 ล้านบาท)
ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย จะได้รับ 16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(528 ล้านบาท ) เพิ่มจากปี 2014 ที่ได้รับ 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(462 ล้านบาท)
อันดับ 4 ได้รับ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(726 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2014 ที่ได้รับ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(660 ล้านบาท)
อันดับ 3 ได้รับ 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(792 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2014 ที่ได้รับ 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(726 ล้านบาท)
รองแชมป์ได้รับ 28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(924 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2014 ที่ได้รับ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(825 ล้านบาท)
แชมป์ได้รับ 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(1,254 ล้านบาท) เพิ่มจากปี 2014 ที่ได้รับ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(1,155 ล้านบาท)

นอกจากนั้นแต่ละทีมจะได้ค่าเตรียมทีม 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(49.5 ล้านบาท) ก่อนการแข่งขันจะเริ่มอีกด้วย นั่นหมายถึงว่าการผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลโลกในยุคนี้ จะได้รับเงินไปก่อนแล้วถึง 9.5 ดอลลาร์สหรัฐ(313.5 ล้านบาท) เลยทีเดียว

Advertisement


ค่าใช้จ่ายของฟีฟ่ายังมีในส่วนของการจ่ายเงินชดเชยให้กับทุกสโมสรที่ปล่อยนักเตะออกมาเตะฟุตบอลโลก รวมทั้งสิ้น 209 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(6,897 ล้านบาท) และต้องเตรียมเงินไว้ชดเชยอาการบาดเจ็บของนักเตะไว้ที่ 134 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(4,422 ล้านบาท)

การที่ทีมยักษ์ใหญ่อย่าง เวิลด์คัพฉบับรัสเซีย อิตาลี, เนเธอร์แลนด์ หรือแม้แต่ สหรัฐอเมริกา ตกรอบคัดเลือกไป ความเสียหายไม่ได้อยู่ที่ศักดิ์ศรีเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเงินรายได้ของสมาคมฟุตบอลประเทศตัวเอง รายได้ของนักเตะและเจ้าหน้าที่ ยิ่งไปกว่านั้นเศรษฐกิจในประเทศยังหงอยเหงาไปกว่าช่วงที่ทีมได้ไปเตะรอบสุดท้าย

ฟรังโก้ คาร์ราโร่ อดีตวุฒิสมาชิกของอิตาลี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่อิตาลีไม่ได้ไปฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ในรอบ 60 ปีนั้น เสียหายมากกว่าที่ใครๆ คิด เพราะนอกจากการสูญเงินที่จะได้จากการโฆษณา ลิขสิทธิ์ทั้งการถ่ายทอดและการขายของที่ระลึกแล้ว ธุรกิจทัวร์ที่จะมีรายได้มหาศาลจากการขายทัวร์ไปดูฟุตบอลโลกที่รัสเซีย บริษัทพนันถูกกฎหมาย บาร์ ร้านอาหารที่จะมีลูกค้าเข้ามารวมกันแน่นร้านในช่วงแข่งขันก็จะเสียโอกาสโกยกำไรไปด้วย


แม้แต่บริษัทผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬายักษ์ใหญ่อย่าง พูม่า ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เพราะพูม่าจะสูญรายได้จากการขายเสื้อแข่งทีมชาติอิตาลีไปมากมายทีเดียว คาดกันว่าพูม่าจะขายเสื้อทีมชาติอิตาลีในฟุตบอลโลก 2018 ได้ถึง 1.5 ล้านตัว คิดเป็นเงิน 140 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(4,620 ล้านบาท)

ในส่วนของ ฟ๊อกซ์ สปอร์ต ผู้ถือสิทธิการถ่ายทอดสดกีฬาชั้นนำของโลก ก็น่าจะโดนการตกรอบคัดเลือกของสหรัฐอเมริกาเล่นงานเช่นกัน เพราะทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 รวมถึงฟุตบอลโลก 2022 ไปแล้วรวมกัน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ(13,200 ล้านบาท)

การไม่มีทีมชาติตัวเองลงเตะในฟุตบอลโลก ประกอบกับการที่คนอเมริกันไม่ได้อินกับซอคเกอร์มากเท่าชาติอื่นๆ ของโลก ทำให้ฟ๊อกซ์โอดครวญว่า ลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกหนนี้อาจจะมีมูลค่าที่ต่ำลงแบบคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

ฟุตบอลโลกทำให้เห็นแล้วว่า ฟุตบอลลูกกลมมีผลกระทบกับโลกมากกว่าการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์เสียอีก

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image