‘เสธ.ยอด’สั่งเตรียมยกเหล็กล่าตั๋วอลป. แม้อาจโดนแบนจากปม ‘ยาโด๊ป’ ยังมั่นใจมีเหรียญติดมือ

“เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยฯ แถลงการณ์เรื่องตรวจพบสารต้องห้ามในตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก

พล.ต.อินทรัตน์กล่าวว่า ตามที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ ได้ทำการตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬายกน้ำหนักโดยตรวจทั้งปัสสาวะ และตรวจเลือดจากนักกีฬายกน้ำหนักที่เข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลกประจำปี 2018 ที่ประเทศเติร์กเมนิสถาน จำนวน 20 ตัวอย่าง ด้วยวิธีตรวจแบบเข้มข้นไออาร์เอ็มเอส และตรวจนักกีฬาไทยถึง 13 คน จากทั้งหมดที่กำหนดทั่วโลก 20 คน ผลปรากฏว่า พบสารต้องห้ามในนักกีฬาไทยรวม 10 คน ทำให้นักกีฬาทั้งหมดถูกลงโทษห้ามแข่งขันและเกี่ยวข้องกับกีฬายกน้ำหนัก สมาคมฯได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พบว่าไม่พบสารต้องห้ามจากการตรวจโดยวิธีปกติ แต่ภายหลังจากการแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2018 พบว่านักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยถูกตรวจพบการใช้สารต้องห้าม 10 คน เมื่อพิจารณาตามหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวแล้ว พิสูจน์ได้ว่าน่าจะเกิดจากยาทาชนิดเจลที่หลิว หนิง ผู้ฝึกสอนทีมชาติไทยนำมาใช้รักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬา ถือว่าเป็นความผิดจริง แต่เกิดจากความประมาท ไม่ได้มีเจตนาที่จะใช้สารต้องห้ามแต่อย่างใด

เสธ.ยอดกล่าวอีกว่า การตัดสินว่าไทยจะถูกลงโทษห้ามแข่งขันยกน้ำหนักชิงแชมป์โลก 2019 ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ระหว่างวันที่ 18-27 กันยายน หรือไม่ สหพันธ์ฯจะมีการประชุมระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน เพื่อตัดสินในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามสมาคมฯจะมีการเตรียมนักกีฬาที่ไม่ถูกลงโทษแบน เพื่อสะสมคะแนนไปแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในปีหน้า โคยแคมป์ฝึกซ้อมที่ จ.เชียงใหม่ จะเปิดอีกครั้งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยตอนนี้ยังเหลือการแข่งขันอีก 4 สนาม ที่สามารถส่งแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนได้ ขณะนี้ไทยไม่สามารถส่งแข่งขันได้ตามโควต้าเต็มพิกัด ชาย 5 คน หญิง 4 คนได้แล้ว เนื่องจากถูกสหพันธ์ลงโทษ แต่จะส่งได้เพียงชาย 2 คน หญิง 2 คน ในกรณีที่นักกีฬาสามารถทำแรงกิ้งไปแข่งขันได้ อย่างไรก็ตามถ้าสหพันธ์ตัดสินลงโทษครั้งสุดท้าย ไทยอาจจะถูกห้ามส่งแข่งหรือให้โควต้าได้เพียงชาย 1 คน หญิง 1 คนเท่านั้น

Advertisement

“ตอนนี้ยังมีเด็กอีกหลายคนที่มีโอกาสจะคว้าโควต้าได้ แต่อาจจะแค่ชาย 1 คน หญิง 1 คน ก็ต้องพยายามกันต่อไป 4 เดือนที่ผ่านมาได้ถอยไปตั้งหลักเพื่อพร้อมจะลุยต่อแล้ว สำหรับโอกาสจะได้เหรียญรางวัลที่โตเกียว ผมยังมองว่าโอกาสมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์” เสธ.ยอดกล่าว

ทั้งนี้ นักกีฬาที่สมาคมกีฬายกน้ำหนักฯเตรียมเอาไว้เพื่อชิงโควต้าโอลิมปิกเกมส์ ได้แก่ รุ่น 49 กก.หญิง จิราพรรณ นันทวงษ์, รุ่น 55 กก.หญิง สุรัตนา คำเบ้า, รุ่น 64 กก.หญิง รสสุคนธ์ สอนแก้ว, รุ่น 76 กก.หญิง สิริยากร ไขพันดุง, รุ่น 61 กก.ชาย ธาดา สมบุญอ้วน, รุ่น 73 กก.ชาย สุทธิพงษ์ จีรัมย์, รุ่น 81 กก.ชาย นนทพัฒน์ ธาณีวรรณ, รุ่น 89 กก.ชาย วีรภัทร บุญหลั่ง, รุ่น 96 กก.หญิง ศรัท สุ่มประดิษฐ

ติดตามข่าวเด็ดกีฬาดัง ทาง Line@ มติชนกีฬา (@matisport) คลิกเลย
เพิ่มเพื่อน

Advertisement

 

แถลงการณ์สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

เรื่อง การตรวจพบสารต้องห้ามในตัวอย่างปัสสาวะนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ฉบับที่ ๔

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๒

………………………………..

ตามที่สหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) ได้ทำการตรวจสารต้องห้ามในนักกีฬายกน้ำหนักโดยตรวจทั้งปัสสาวะ และตรวจเลือดจากนักกีฬายกน้ำหนักที่เข้าร่วมการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลกประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒-๑๐ พฤศจิกายน  ๒๕๖๑ ณ กรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน โดยใช้วิธีตรวจปกติกับนักกีฬาทั้งหมดจำนวน ๕๒% และขออนุมัติจากศูนย์ต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬา (WADA) ทำการตรวจแบบ IRMS คือตรวจแบบเข้มข้นจำนวน ๒๐ ตัวอย่าง โดยตรวจของนักกีฬายกน้ำหนักไทยจำนวน ๑๓ ตัวอย่าง อีก ๗ ตัวอย่างตรวจนักกีฬาชาติอื่น ๆ และพบนักกีฬายกน้ำหนักไทยใช้สารต้องห้ามจำนวน ๙ คน ต่อมาศูนย์ต่อต้านการใช้สารต้องห้ามของไทยNADO ได้  ขออนุมัติจาก WADA ทำการตรวจ   สารต้องห้ามในนักกีฬายกน้ำหนักไทยโดยใช้วิธี IRMS อีก ๖ ตัวอย่างและได้พบในตัวอย่างนักกีฬาไทยอีก ๑ คน รวมเป็น ๑๐ คน

สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมี  พลอากาศเอก จิรศักดิ์  ภูวนารถนุรักษ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการประกอบด้วย พันเอก นายแพทย์ ปรเมษฐ์ ลัดพลี, นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานันท์, ร้อยเอกหญิง ปวีณา ทองสุก และ พันโทหญิง ดร.อภิญญา ดัชถุยาวัตร คณะกรรมการฯได้สอบสวนและบันทึกคำให้การผู้เกี่ยวข้อง ๒๔ คน และจากการพิจารณาคำให้การประกอบเอกสารการศึกษา วิจัยที่เกี่ยวข้องและจากประวัติการตรวจสารต้องห้ามของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ห้วงปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๑ ของสำนักงานการควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬา พบว่าได้ตรวจตัวอย่างปัสสาวะของนักกีฬา ยกน้ำหนักทีมชาติไทย จำนวน ๑๑๗ ตัวอย่าง แต่ไม่พบสารต้องห้ามแต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาร่วมกับบันทึกข้อมูล การตรวจสารต้องห้ามของนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยของการกีฬาแห่งประเทศไทยและสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติตลอดปี ๒๕๖๑ พบว่าไม่พบสารต้องห้ามจากการตรวจโดยวิธีปกติ แต่ภายหลังจากการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลก ประจำปี ๒๕๖๑ พบว่านักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทยถูกตรวจพบการใช้สารต้องห้าม จำนวน ๑๐ คน ดังกล่าวทั้งของ IWF และ NADO โดยวิธีการ IRMS คือการตรวจแบบพิเศษ ซึ่ง เมื่อพิจารณาตามหลักฐานและเหตุผลดังกล่าวแล้ว พิสูจน์ได้ว่าได้ว่าน่าจะเกิดจากยาทาชนิดเจลที่นายหลิว หนิง นำมาใช้รักษาอาการบาดเจ็บของนักกีฬาสรุปรายละเอียด ดังนี้

๑. นักกีฬาจำนวน ๑๐ คน ให้การว่าเมื่อปลายปี ๒๕๖๐ ผู้ฝึกสอนหลิว หนิง ได้เข้ามาทำงานเป็น   ผู้ฝึกสอนยกน้ำหนักทีมชาติไทย เมื่อนักกีฬาเข้าคอร์ดการฝึกซ้อมกับ ผู้ฝึกสอนหลิว หนิงแล้วเกิดอาการบาดเจ็บ ผู้ฝึกสอนหลิว หนิงได้นำยาเป็นแบบกระปุก มาทาแก้อาการบาดเจ็บข้อกระดูกและกล้ามเนื้อ เมื่อทาแล้วจะช่วยลดอาการบาดเจ็บและแจ้งว่าไม่มีสารต้องห้ามใด ๆ เมื่อนักกีฬาจำนวน ๑๐ คนได้ใช้เจลดังกล่าวแล้ว ต่อมาก็ไปแข่งขันทั่วโลกชนะบ้าง แพ้บ้าง โดยได้รับการตรวจสารต้องห้ามมาตลอดทั้งจากWADA, IWF และ NADO เป็นระยะเวลา ๑ ปี ซึ่งนักกีฬาก็ใช้เจลใสนี้มาตลอดจนถึงการแข่งขันยกน้ำหนักชิงชนะเลิศแห่งโลกประจำปี ๒๕๖๑ ระหว่างวันที่ ๒ – ๑๐ พฤศจิกายน๒๕๖๑  ณ กรุงอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถานมีการตรวจพบว่ามีการใช้สารต้องห้าม ทั้งนี้นักกีฬาได้รับการอบรมมาว่าการใช้สารต้องห้ามมาจากการกิน การดื่ม หรือการใช้ยาฉีดเท่านั้น ไม่เคยทราบมาก่อนว่ายาทาหรือยานวดจะเป็นการซึมเข้าไปแล้วทำให้เกิดการออกฤทธิ์ว่าใช้สารต้องห้ามด้วย ดังนั้นทุกคนจึงใช้ยาทาที่เป็นเจลรักษาอาการบาดเจ็บด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นักกีฬาที่ถูกตรวจพบสารต้องห้ามทั้ง ๑๐ คน  มีความผิดในการใช้สารต้องห้ามจริง  แต่เป็นความผิดที่เกิดจากความประมาทและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้  จงใจหรือตั้งใจกระทำ รวมทั้งมีความเชื่อโดยสนิทใจว่ายาทาชนิดเจลที่นายหลิว หนิง นำมาให้ใช้ทาเพื่อบำบัดอาการอักเสบและบาดเจ็บกล้ามเนื้อที่เกิดจากการฝึกซ้อม ไม่มีส่วนประกอบของสารต้องห้ามผสมอยู่ ทั้งนี้เพราะนายหลิว หนิง แจ้งแก่นักกีฬาว่ายาดังกล่าวไม่มีสารต้องห้ามเป็นส่วนประกอบ รวมทั้งจากความรู้ที่ได้รับ      การอบรมสั่งสอนจากผู้ดูแลให้ระมัดระวังเฉพาะการรับประทานอาหาร น้ำดื่มและยาชนิดรับประทานหรือยาฉีดเข้าสู่ร่างกายเท่านั้น  

๒. นายหลิว หนิง ผู้ฝึกสอนสัญชาติจีน ให้การว่าได้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬา       ยกน้ำหนักทีมชาติไทย ตั้งแต่กันยายน ๒๕๖๐ พบว่านักกีฬายกน้ำหนักจำนวน ๑๕ คน ที่อยู่ในความรับผิดชอบ เกิดอาการบาดเจ็บตามข้อ กระดูกและกล้ามเนื้อที่ทำการฝึกหนักของคอร์ดที่ตอนเองเป็นคนสอน จึงได้นำยาทาแก้อาการบาดเจ็บ เป็นยาทาชนิดเจลใส จากเพื่อนชาวจีน ชื่อ Mr.ZHENG GANG มาให้นักกีฬาใช้ตั้งแต่ระยะแรกๆ   ที่ปฎิบัติหน้าที่ โดยไม่ทราบว่ามีสารต้องห้ามเป็นส่วนประกอบ และเมื่อนักกีฬาใช้ยาทานี้แล้ว อาการบาดเจ็บดีขึ้น จีงให้ใช้มาตลอดระยะเวลา   ๑ ปีกว่า และไม่เคยคิดว่าการใช้ยาทาเจลใสนี้จะมีการออกสารต้องห้าม เพราะมีการตรวจจาก WADA, IWF และ NADO จำนวนหลายครั้ง ทั้งตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเมื่อนักกีฬาทั้ง ๑๐ คน ไม่เคยใช้สารต้องห้าม  ตัวเองยังไม่เชื่อ เพราะนักกีฬายกน้ำหนัก ๑๐ คนไม่เคยใช้สารต้องห้ามที่มาจากการกิน, การดื่ม, หรือฉีดยา แต่ว่ามาใช้เจลแล้วออกสารต้องห้าม ก็มีความเสียใจเป็นอย่างมากคณะกรรมการ พิจารณาแล้วเห็นว่า นายหลิว หนิง มีความผิดจริง ที่นำยาชนิดเจลดังกล่าวมาให้นักกีฬาใช้ โดยความประมาท ขาดความระมัดระวัง ขาดความละเอียดรอบคอบ มีความเชื่อจากคำบอกเล่าของเพื่อนชาวจีนที่ชื่อMr.ZHENG GANG เท่านั้น ทั้งๆ ที่ไม่มีผลทดสอบว่าเจลใสนี้ไม่มีสารต้องห้ามเป็นลายลักษณ์อักษร

๓. นักกีฬาที่ร่วมฝึกซ้อมด้วย ๓ คน ให้การว่า ระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา นักกีฬาที่อยู่ใน    ความดูแลของผู้ฝึกสอนหลิว หนิง  มีอาการบาดเจ็บกล้ามเนื้อ และใช้ยาทาชนิดเจลของนายหลิว หนิง แต่ไม่ทราบมาก่อนว่ายาที่ใช้ทาจะมีสารต้องห้ามเป็นส่วนประกอบ ทราบแต่เพียงว่าการใช้สารต้องห้ามจะได้รับจากการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ยาที่ใช้รับประทานหรือฉีดเท่านั้น และนักกีฬาที่ถูกตรวจพบสารต้องห้าม  ไม่ได้รับประทานอาหารผิดไปจากปกติ 

๔. ผู้ฝึกสอนชาวไทย จำนวน ๔ คน ให้การว่า ทราบและพบเห็นนักกีฬาทั้ง ๑๐ คน รับ      การรักษาอาการบาดเจ็บโดยใช้ยาทาชนิดเจลของนายหลิว หนิง และไม่ทราบมาก่อนว่า ยาที่ใช้ทามีสารต้องห้ามเป็นส่วนประกอบ ทราบแต่เพียงว่าการได้รับสารต้องห้ามจะได้รับจากการรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ยาที่ใช้รับประทานและยาที่ใช้ฉีดเท่านั้น 

๕. นักกายภาพบำบัด ๒ คน ให้การว่า ห้วงฝึกซ้อมในระยะเวลา ๑ ปีที่ผ่านมา นักกีฬามีอาการบาดเจ็บส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทราบว่าไปรับการรักษาโดยใช้ยาทาชนิดเจลของ นายหลิว หนิง

๖. แพทย์ผู้ดูแลรักษานักกีฬา ให้การว่า มีหน้าที่ดูรักษาการบาดเจ็บของนักกีฬา ยืนยันว่านักกีฬามีอาการบาดเจ็บจริง แต่ไม่มีอาการป่วย และไม่ทราบว่านักกีฬาดังกล่าวไปรับการรักษาอาการบาดเจ็บด้วยการการใช้ยาทาชนิดเจลจากนายหลิว หนิง

๗. ผู้ประกอบอาหาร ให้การว่า มีหน้าที่ประกอบอาหารให้กับนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฝึก โดยจัดหาวัตถุดิบและเครื่องปรุงรสจากตลาด เมื่อปรุงเสร็จจะปิดภาชนะอย่างมิดชิด ไม่มีผู้ใดจะใส่วัตถุอื่นลงไป

๘. หัวหน้าศูนย์ฝึก ให้การว่า ห้วงก่อนการแข่งขันนักกีฬาไม่ได้รับประทานอาหารที่แตกต่าง  จากปกติ ได้รับทราบรายงานการเจ็บป่วยและบาดเจ็บของนักกีฬาเป็นประจำแต่ไม่ทราบว่านักกีฬาดังกล่าวไปรับการรักษาอาการบาดเจ็บด้วยการใช้ยาทาชนิดเจลจาก นายหลิว หนิง

๙. ประธานฝ่ายเทคนิคสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ให้การว่า มีหน้าที่กำกับดูแลการฝึกซ้อม โภชนาการ ผู้ฝึกสอน นักกายภาพ แพทย์ ให้ปฏิบัติตามนโยบายสมาคมฯ รับทราบ     การบาดเจ็บและเจ็บป่วยของนักกีฬาเป็นระยะและจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ                                    

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้ว เห็นว่า บุคคลตามข้อ ๓ – ๙  ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นเพียง      ผู้ที่รับรู้และรับทราบเท่านั้น

๑๐. คณะกรรมการฯ สอบแล้วไม่พบว่ามีกรรมการบริหารสมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทยคนใดเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด

๑๑. สำหรับการลงโทษผู้ฝึกสอนและนักกีฬาให้เป็นหน้าที่ของ IWF, ITA และ NADO ต่อไป

สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

                         ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image