‘ชัชชาติ’ จ่อเซ็นเริ่มจ่ายค่าโดยสารสีเขียวส่วนต่อขยาย ส.ค. ‘เคที’ เจรจา ‘บีทีเอสซี’ ใต้กรอบสัญญาเดิมถึงปี 85

‘ชัชชาติ’ จ่อเซ็นเริ่มจ่ายค่าโดยสารสีเขียวส่วนต่อขยาย ส.ค. ‘เคที’ เจรจา ‘บีทีเอสซี’ ใต้กรอบสัญญาเดิมถึงปี 85

 

 

‘ชัชชาติ’ เตรียมเซ็นเริ่มจ่ายค่าโดยสารสีเขียวส่วนต่อขยาย สค.นี้ พร้อมเปิดเผยสัญญาค่าจ้างเดินรถตามกม.- เคทีขอเจรจาบีทีเอสซีค่าจ้างเดินรถใหม่ถึงปี 2585 ตามเดิม ‘ธงทอง’ ชี้ ทุบทิ้งสัญญากลางทางก็ใช่ที่

เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 2 กรกฎาคม ที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เขตบางกะปิ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วยนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม., ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ร่วมหารือกับ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหารเคที, รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 12/2565 ในวาระสัญญาการจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2

Advertisement

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า สัญญาการจ้างเดินรถที่เคทีว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 มีการทบทวนทั้งความถูกต้องของสัญญาเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และค่าใช้จ่ายเดินรถ ประเด็นความถูกต้องของสัญญา มีการร้องเรียนกล่าวหาอยู่ในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) การตรวจสอบจึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. โดยคณะกรรมการเคทีชุดใหม่ จะทำหนังสือไปยัง ป.ป.ช. เพื่อประสานความร่วมมือให้ข้อมูลเต็มที่ รวมไปถึงให้ ป.ป.ช. แจ้งกลับมาว่าขั้นตอนการสอบสวนถึงขั้นตอนใดแล้ว

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ต่อมาประเด็นสัญญาการจ้างเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 พบว่าความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ กับส่วนต่อขยายที่ 1 คือไม่มีการพิจารณาอนุมัติจากสภา กทม. ได้ให้ผู้ว่าฯ กทม. ไปพิจารณาตามขั้นตอนให้ถูกต้อง ต่อมาสัญญาการจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 จะมีการเจรจาค่าใช้จ่ายเดินรถตามสัญญา ได้มีการทบทวนตัวเลขแล้วพบว่า สูตรคำนวณมีความคลาดเคลื่อนบางประการ ซึ่งจะไปดูเลขอีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีตัวแปรอื่นๆ เช่น สภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป จำนวนผู้โดยสาร วิธีการชำระเงิน ซึ่งตามสัญญามีการเปิดช่องให้เจรจาอยู่แล้ว โดยจะเริ่มการเจรจาภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า ประเด็นการเปิดเผยสัญญาการจ้างเดินรถต่อสาธารณะ ซึ่งตามข้อกำหนดไม่ให้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ สำหรับกทม. ไม่ใช่สาธารณะ แต่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเคที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการทราบการดำเนินการของบริษัทสามารถทำได้เป็นปกติ ส่วนทางกทม.ได้รับข้อมูลสัญญาไปแล้ว จะนำไปปฏิบัติต่ออย่างไรหรือมีคนมาขอดูข้อมูลก็ให้ปฏิบัติตามกฎหมาย

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีเจรจาจ้างเดินรถใหม่กับบีทีอเสซีใหม่ ให้สิ้นสุดที่ปี 2572 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่บีทีเอสหมดสัญญาสัมปทานสายสีเขียวส่วนหลัก ศ.พิเศษ ธงทอง กล่าวว่า คงต้องเจรจาภายใต้กรอบสัญญาเดิมถึงปี 2585 จะไปทุบทิ้งสัญญากลางทางก็ใช่ที่ ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายอื่นมาสนับสนุน

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้มี 4 ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคือ กทม., เคที, เอกชน และสภา กทม. กทม.ต้องจัดการหนี้เกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งยินดีชำระหนี้ถ้าถูกต้องตามขั้นตอน ตามกฎหมาย สิ่งแรกที่ กทม. ทำต้องดูที่มาที่ไปของหนี้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่ มีการอนุมัติจากสภา กทม.หรือไม่ โดยเฉพาะหนี้ที่รับโอนมา พอสภา กทม.เปิดจะเข้าไปสอบถามว่ามีการทำครบถ้วนหรือไม่ ส่วนหนี้ที่เคทีทำ การติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล (E&M) และการจ้างเดินรถ ทางกทม.พร้อมจ่ายหนี้ให้ แต่ต้องทำตามขั้นตอนให้ครบถ้วน ถ้าตรงไหนทำไม่ครบถ้วนก็ทำให้ครบถ้วน ส่วนรายละเอียดระหว่างเคทีกับเอกชน ต้องให้เคทีไปดำเนินการ กทม.จะสนับสนุนข้อมูลตัวเลขตามที่มีการคำนวณไว้

นายชัชชาติ กล่าวว่า ส่วนการเปิดเผยสัญญาต่อสาธารณะ หลายหน่วยงานได้ขอมาแล้วอย่าง สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ก็จะเปิดเผยข้อมูลตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 และจะมีการทำตัวเลขค่าโดยสารตามค่าใช้จ่ายสัญญาจ้างเดินรถว่าควรจะเป็นเท่าไหร่

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายได้เมื่อไหร่ นายชัชชาติกล่าวว่า ตอนนี้ รศ.ดร.วิศณุ ให้ สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) สรุปขั้นตอนมาแล้ว ต้องเอาให้เร็วที่สุด แต่ก็มีข้อทักท้วงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องปรึกษากับทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คาดว่าจะมีการเซ็นประกาศเก็บค่าโดยสารภายในเดือนกรกฎาคมนี้ และมีผลบังคับใช้ 1 เดือน หลังจากเซ็นประกาศ ซึ่งจะมีผลภายในเดือนสิงหาคม 2565

“ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือเรื่องหนี้ เพราะหนี้มีดอกเบี้ยที่เดินอยู่ ขณะเดียวกันการจะจ่ายหนี้ต้องถูกตามกระบวนการก่อน ไม่ใช่ว่าเป็นหนี้มาแล้วเราคิดว่าถูกต้องแล้วเราจ่าย ต้องให้รอบคอบ เพราะเงินเป็นภาษีของประชาชน สภากทม. จะเปิดในวันที่ 6 นี้แล้ว ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพราะสภาเป็น 1 ใน 4 ขององค์ประกอบพิจารณาเรื่องนี้ ที่ผ่านมาบางเรื่องสภาไม่ได้รับทราบ ก่อนจะไปก่อหนี้สภาควรจะรู้ก่อนว่าจ่ายค่าจ้างเดินรถรายปี” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า ค่าโดยสารขึ้นอยู่กับว่าจ้างเดินรถอยู่ที่เท่าไหร่ ต้นทุนหลักคือต้นทุนในการจ้างเอกชนเดินรถ ค่าโดยสารต้องสอดคล้องกับต้นทุน ค่าโดยสารในอนาคตต้องมีราคาถูก ยกเว้นทางกทม. จะจ่ายเงินทดแทน แต่คงไม่นำเงินคนที่ไม่นั่งบีทีเอส มาชดเชยให้คนนั่งบีทีเอสได้มาก

นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับคดีความระหว่าง กทม.กับบีทีเอสซี ผู้ว่าฯ กทม.ถือเป็นจำเลยที่หนึ่ง ส่วนประธานบอร์ดเคทีเป็นจำเลยที่สอง ต้องดูว่าคำให้การนั้นครบถ้วนหรือไม่ และมีประเด็นอะไรที่ต้องให้การเพิ่มเติม สามารถทำสิ่งนี้ควบคู่ไปกับการเจรจาขอให้ทุเลาความได้

นายชัชชาติ กล่าวถึงการรับโอนหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธามาให้กทม.เป็นผู้ชำระหนี้แทนว่า อยากให้เป็นมาตรเดียวกันกับรถไฟฟ้าทุกสายใน กทม. ที่รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายงานโยธา ถ้าจะให้ กทม. มาแบกรับค่าใช้จ่ายงานโยธา ก็ทำให้ต้องมีการคิดค่าโดยสารแพง ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู รัฐบาลได้จ่ายเงินค่าโยธาคืนให้กับเอกชนที่ร่วมลงทุน ทางกทม.มีความยินดีพูดคุย เพราะทรัพย์สินก็ตกเป็นของรัฐอยู่แล้ว รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่ม ส่วนต่อขยายที่ 2 ก็อยู่นอกเขต กทม. ซึ่งกทม. ไม่มีส่วนแบ่งรายได้ภาษี ถ้ารัฐกรุณาจะเป็นประโยชน์กับทางกทม.มาก ทั้งนี้ ยังหาข้อมูลไม่ได้ว่าสภากทม.รับโอนหนี้ค่าใช้จ่ายงานโยธาตั้งแต่ตอนไหน

“เป็นเรื่องแปลกที่มีข้อบัญญัติกทม.อนุมัติให้กู้เงินเพื่อจ่ายหนี้ แต่ยังไม่เห็นมติที่รับโอนหนี้มา คงต้องไปถามสภากทม.อีกทีว่า ที่ออกมาแบบนี้หมายความว่าคุณยอมรับหนี้แล้วใช่ไหม การหาเงินไปจ่ายหนี้ กับการรับหนี้ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เป็นคนละบริบท แต่เราไม่อยากรีบจ่าย เพราะถ้าจ่ายหนี้ไปแล้วไม่มีอำนาจ ไม่มีกฎหมายรองรับ ก็จะเหมือนกับกรณีที่ผ่านมา ต้องเอาให้รอบคอบ” นายชัชชาติกล่าว

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image