ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดคงดอกเบี้ยระดับ 0.0-0.25% ในการประชุม 15-16 ก.ย. นี้

(เครดิตภาพจาก AFP )

คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุม 15-16 ก.ย. นี้ หลังจากมีมติปรับเป้าหมายเงินเฟ้อระยะยาวในเดือนก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 กันยายนนี้ เนื่องจากมองว่าเฟดได้ใช้เครื่องมือต่างๆ เท่าที่จำเป็นในการช่วยประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว โดยที่ผ่านมาเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนอยู่ที่ระดับใกล้ศูนย์ ประกอบกับมีการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง และล่าสุด เฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการอนุมัติการปรับยุทธศาสตร์นโยบายการเงินและเป้าหมายในระยะยาว โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) แทนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่คงที่ โดยระบุว่า เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและอัตราว่างงานเริ่มปรับลดลง เฟดจะไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ซึ่งถึงแม้นโยบายดังกล่าวอาจไม่มีประสิทธิผลโดยตรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็เป็นการส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของสหรัฐฯ

ทั้งนี้ แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงอ่อนแรง ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงต่างๆ แต่คาดว่าเฟดน่าจะยังไม่พิจารณาใช้นโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ในระยะอันใกล้ ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยติดลบคงไม่ใช่ทางเลือกที่เฟดต้องการใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากนโยบายดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน อีกทั้งเฟดน่าจะยังคงมุ่งเน้นการคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ ประกอบกับการดำเนินนโยบาย QE อย่างต่อเนื่อง โดยสอดประสานกับนโยบายทางการคลัง เพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้

สำหรับผลกระทบต่อไทย นโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางหลักต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ คงต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงิน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงที่จะเข้าใกล้ฤดูหนาว ประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็นเบร็กซิทที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์การเมืองไทยที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ ทิศทางค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย รวมถึงอาจสร้างความท้าทายแก่การดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยในระยะข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image