วัดราชบพิธฯ-วัดบวรฯ 2 พระอารามหลวง บรรจุพระบรมราชสรีรางคาร

มาถึงวันสุดท้ายของพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในการพระราชพิธีอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารไปบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์ พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร

ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งไปในการครั้งนี้ด้วย ขณะที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณ

วรีนารีรัตน์ ผู้บังคับการกองพันทหารม้าที่ 29 รักษาพระองค์ ทรงม้านำกองทหารม้ารักษาพระองค์จำนวน 78 ม้า โดยริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศที่ 6 เชิญพระบรมราชสรีรางคารออกจากพระบรมมหาราชวังไปยังวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดบวรนิเวศวิหาร

Advertisement

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำรัชกาล และเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของเจ้านายในราชตระกูล ภายในวัดแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง

พระอุโบสถภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทยแท้ ประกอบด้วย กระเบื้องเคลือบเบญจรงค์รูปเทพนม ภายในเป็นสถาปัตยกรรมแบบโกธิค พระประธาน คือพระพุทธอังคีรส ซึ่งฐานบัลลังก์บรรจุพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7

Advertisement

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามนับเป็นพระอารามหลวงสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามโบราณราชประเพณีที่มีการสร้างวัดประจำรัชกาล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมา คือเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ ล้อมรอบอาณาเขตของวัด

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีสุสานหลวงตั้งอยู่นอกเขตกำแพงมหาสีมาธรรมจักรของวัดด้านติดกับถนนอัษฎางค์ ริมคลองคูเมืองเดิม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรส และพระราชธิดาในพระองค์ รูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ ทั้งพระเจดีย์ พระปรางค์ วิหารแบบไทย แบบขอม และแบบโกธิค โดยตั้งในสวนที่มีพรรณไม้ต่างๆ งดงาม

วัดบวรนิเวศวิหารที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกชนิดราชวรวิหารฝ่ายธรรมยุต สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างขึ้นเพื่อปลงศพเจ้าจอมมารดา (น้อย) ของพระองค์เจ้าดาราวดีพระราชชายา ระหว่าง พ.ศ.2367 และ พ.ศ.2375 วัดบวรนิเวศวิหารอยู่ใกล้กับวัดรังษีสุทธาวาส ที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ.2366

เมื่อ พ.ศ.2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอาราธนาสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎฯ มาครองวัดนี้ขณะทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสปัจจุบัน) เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ทรงปรับปรุงวางหลักเกณฑ์ความประพฤติปฏิบัติพระสงฆ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามพระธรรมวินัย โดยมีพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์เป็นอันมาก ในคราวที่พระองค์เสด็จมาครองวัดก็ได้นำการประพฤติปฏิบัตินั้นมาใช้ในการปกครองพระสงฆ์ ณ วัดบวรนิเวศวิหารด้วย ซึ่งในครั้งเดิมเรียกพระสงฆ์คณะนี้ว่า “บวรนิเวศาทิคณะ” อันเป็นชื่อสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาจึงได้ชื่อว่า “คณะธรรมยุติกนิกาย” ซึ่งแปลว่าคณะสงฆ์ผู้ซึ่งปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงถือว่าวัดบวรนิเวศวิหารเป็นสำนักเอกเทศแห่งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายเป็นวัดแรก

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า วัดรังษีสุทธาวาสซึ่งอยู่ติดกับวัดบวรนิเวศวิหารนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยุบรวมเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบวรนิเวศวิหาร เรียกว่า คณะรังษี และหลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารมาบรรจุไว้ ณ ใต้บังลังก์พระพุทธชินสีห์ในพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2468

วัดบวรนิเวศวิหาร นับเป็นพระอารามที่มีความสำคัญทั้งในทางคณะสงฆ์และในทางบ้านเมือง กล่าวคือ ในทางคณะสงฆ์ วัดบวรนิเวศวิหารเป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เพราะเป็นที่เสด็จสถิตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวชอยู่ และขณะทรงดำริริเริ่มปรับปรุงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ อันเป็นเหตุให้เกิดเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุตขึ้นในเวลาต่อมา

วัดบวรนิเวศวิหารเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช องค์ประมุขของคณะสงฆ์ไทยถึง 4 พระองค์ คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

พระอารามแห่งนี้เป็นแหล่งกำเนิดการศึกษาของคณะสงฆ์ คือเป็นที่กำเนิดมหามกุฏราชวิทยาลัย สถานศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณร ซึ่งได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทยในปัจจุบัน เป็นที่กำเนิดการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “นักธรรม” อันเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของคณะสงฆ์ไทย

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ คือพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา ซึ่งสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท สมัยกรุงสุโขทัย สมัยเดียวกับพระพุทธชินราช พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เคยประดิษฐานอยู่ด้วยกัน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก นอกจากนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทคู่บนศิลาแผ่นใหญ่สมัยสุโขทัยและพระไสยาสน์ (คือพระนอน) ที่งดงามสมัยสุโขทัยด้วย

ในทางบ้านเมือง วัดบวรนิเวศวิหารได้เคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการศึกษาหัวเมืองเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการจัดการศึกษาหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ.2451 โดยทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส ให้ทรงอำนวยการในการจัดการศึกษาในหัวเมือง อันเป็นการวางรากฐานการประถมศึกษาของไทย

วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ที่เสด็จออกทรงผนวชทุกพระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตลอดถึงพระบรมวงศ์ชั้นสูงที่ทรงพระผนวชเกือบทุกพระองค์ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

มีพระพุทธรูปสำคัญ 2 องค์ ที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แก่ พระพุทธสยามาภิวัฒนบพิตรภูมิพลนริศทสสหัส สทิวัสรัชการี ปัณณาสวรรษศรีอุภัยมหามงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หล่อในลีลาปางห้ามแก่นจันทน์ขนาดเท่าพระองค์ (172 เซนติเมตร) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2520 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีเบื้องพระหัตถ์ขวาพระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถ และพระพุทธวิโลกนญาณบพิตร สิริกิติธรรมโสตถิมงคล ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร (ปางรำพึง) ขนาดเท่าพระองค์ขึ้น เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2520 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีเบื้องพระหัตถ์ซ้ายพระพุทธชินสีห์ภายในพระอุโบสถ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image