เส้นทางสู่ฮีโร่โอลิมปิก เส้นทาง ‘น้องเทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

เส้นทางสู่ฮีโร่โอลิมปิก เส้นทาง ‘น้องเทนนิส’ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ

 

 

 

ชื่อของ “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ นาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จักเธอ..

Advertisement

เธอคือ ฮีโร่นักกีฬาที่ทำให้คนไทยได้มีความสุขในยามเผชิญวิกฤต “โควิด-19” ด้วยการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 “โตเกียวเกมส์” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อค่ำวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เรียกได้ว่า “เฮกันลั่นทั้งประเทศ” ชนิดบีบหัวใจในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย สุดท้ายเธอแซง เอาชนะ อาเดรียน่า เซเรโซ่ อิเกรเซียส มือ 47 ของโลกจากสเปน วัย 17 ปี เข้าป้ายไปแบบฉิวเฉียด 11-10 คะแนน

พาณิภัคถือเป็นนักเทควันโดไทยคนแรกที่ได้เหรียญทอง หลังจากก่อนหน้านี้ไทยได้มาแล้ว 2 เหรียญเงิน 3 เหรียญทองแดง “วิว” เยาวภา บุรพลชัย ได้เหรียญทองแดง ในเอเธนส์ 2004, “สอง” บุตรี เผือดผ่อง ได้เหรียญทองแดง ในปักกิ่ง 2008, “เล็ก” ชนาธิป ซ้อนขำ เหรียญเงิน ลอนดอน 2012, “เทม” เทวินทร์ หาญปราบ ได้เหรียญเงิน และพาณิภัคได้เหรียญทองแดง ในรีโอ 2016

 

Advertisement

 

 

นอกจากนั้น เทนนิสยังเป็นนักกีฬาไทยคนที่ 3 ที่ได้เหรียญรางวัลในโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัย ต่อจาก “เติ้ล” มนัส บุญจำนงค์ นักมวยสากล ที่ได้เหรียญทอง เอเธนส์ 2004 และเหรียญเงิน ปักกิ่ง 2008, “แต้ว” พิมศิริ ศิริแก้ว นักยกน้ำหนัก เหรียญทอง ลอนดอน 2012 และเหรียญเงิน รีโอ 2016

พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ยังเป็นฮีโร่เหรียญทองที่ 10 ของทัพนักกีฬาไทย ต่อจาก สมรักษ์ คำสิงห์ ที่ประเดิมได้เหรียญทองแรก จากมวยสากลสมัครเล่น รุ่นเฟเธอร์เวต โอลิมปิก แอตแลนต้า 1996, วิจารณ์ พลฤทธิ์ มวยสากลสมัครเล่น รุ่นฟลายเวตชาย โอลิมปิก ซิดนีย์ 2000, มนัส บุญจำนงค์ มวยสากลสมัครเล่น รุ่นไลท์เวลเตอร์เวต โอลิมปิก เอเธนส์ 2004, อุดมพร พลศักดิ์ ยกน้ำหนัก รุ่น 53 กก.หญิง โอลิมปิก เอเธนส์ 2004, ปวีณา ทองสุก ยกน้ำหนัก รุ่น 75 กก.หญิง โอลิมปิก เอเธนส์ 2004, สมจิตร จงจอหอ มวยสากลสมัครเล่น รุ่นฟลายเวตชาย โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008, ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล ยกน้ำหนัก รุ่น 53 กก.หญิง โอลิมปิก ปักกิ่ง 2008, โสภิตา ธนสาร ยกน้ำหนัก รุ่น 48 กก.หญิง โอลิมปิก รีโอ 2016 และ สุกัญญา ศรีสุราช ยกน้ำหนัก รุ่น 58 กก.หญิง โอลิมปิก รีโอ 2016

ไม่ใช่เพียงแค่ฝีมือ “น้องเทนนิส” เท่านั้นที่น่าสนใจประวัติของน้องก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเธอเป็นตัวแทนนักกีฬาไทย ที่มีดีกรีนักกีฬาเทควันโดอันดับ 1 ของโลก

 

 

“น้องเทนนิส” มีชื่อจริงว่า พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เกิดวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2540 เป็นชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรของ นายสิริชัย วงศ์พัฒนกิจ กับ นางวันทนา วงศ์พัฒนกิจ (ถึงแก่กรรม) เธอเป็นน้องเล็กสุดของบ้าน โดยมีพี่สาวคนโตชื่อ “โบว์ลิ่ง” นาวาอากาศโทหญิง กรวิกา วงศ์พัฒนกิจ และพี่ชายคนกลางชื่อ “เบสบอล” ศราวิน วงศ์พัฒนกิจ

บ้านของเธอเรียกว่าเป็นครอบครัวนักกีฬาก็ว่าได้ เพราะคุณพ่อ เป็นครูสอนว่ายน้ำ ส่วนแม่เป็นผู้นำเต้นแอโรบิกแล้วก็เป็นนักว่ายน้ำด้วย

ซึ่งเจ้าตัวเองก็ชื่นชอบการเล่นกีฬาทุกชนิด มาตั้งแต่เด็ก ทั้งวอลเลย์บอล ว่ายน้ำ ทั้งปิงปอง เทนนิส เธอเคยชิมลางเล่นดู แต่ไม่ได้จริงจังกระทั่งอายุ 7 ปี ที่เธอได้รู้จักกับกีฬาเทควันโด เนื่องจากพี่ชายเล่น โดยตอนแรกตั้งใจจะเล่นเพียงแค่เอาสนุกๆ

แต่ชีวิตย่อมมีจุดพลิกผัน เมื่อน้องเทนนิส อายุ 9 ขวบ ยอมลงแข่งเทควันโดที่จังหวัดภูเก็ต แบบเล่นๆ ขำๆ เพราะมีเงินเป็นเดิมพัน จากคนเป็นพ่อ ที่บอกว่า ถ้าได้เหรียญทองเดี๋ยวพ่อจะให้ 3,000 เหรียญเงิน 2,000 เหรียญทองแดง 1,000 แต่ผลที่ได้ กลับแพ้ราบคาบแถมโดยเพื่อนล้ออีก จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เธอชอบเทควันโดขึ้นมา

 

 

น้องเทนนิส เริ่มเล่นเทควันโดอย่างจริงจัง ด้วยการซ้อมทุกวัน ลงแข่งแทบทุกรายการ โดยมีพ่อเป็นผลักดัน และสนับสนุนเธอทั้งพาซ้อมและพาไปแข่ง แม้ผลที่ได้จะเป็นความพ่ายแพ้

กระทั่งตอนอายุ 12 เธอเริ่มได้เหรียญทองจากรายการเล็กๆ และอายุ 13 เธอคว้าเหรียญทองกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 27 ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ จากการแข่งขันรุ่นไม่เกิน 42 กก. ซึ่งนี่กลายเป็นใบเบิกทางสำคัญ เพราะด้วยรูปร่างสูง หน่วยก้านดี ทำให้เตะตา โค้ช เช ยอง ซ็อก ผู้ฝึกสอนเทควันโดชาวเกาหลีใต้ จนเรียกน้องเทนนิส เข้ามาฝึกซ้อมและคัดเลือกเป็นนักกีฬาเทควันโดตัวแทนทีมชาติไทย

 

 

หลังเข้ามาเป็นตัวแทนทีมชาติไทย “น้องเทนนิส” สร้างชื่อเสียงไว้มากมาย กวาดรวมไป 27 แชมป์ กับ 1 เหรียญทองแดงโอลิมปิก 2016 ผลงานของเธอ 2 แชมป์โลก 2 แชมป์รายการแกรนด์แสลม 6 แชมป์ เวิลด์กรังปรีซ์ 10 แชมป์ รายการโอเพ่น 2 แชมป์ ม.โลก 1 แชมป์เอเชียนเกมส์ 2 แชมป์เอเชีย 2 แชมป์ซีเกมส์
จนถึงนาทีประวัติศาสตร์คว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2020 พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ยังทำสถิติที่น่าเหลือเชื่อโดยเธอไม่ปราชัยให้ใครมาแล้วนานถึง 975 วัน นับตั้งแต่แพ้ครั้งสุดท้ายให้กับ คิม โซ ฮุย จอมเตะเกาหลีใต้ ในศึกเวิลด์กรังด์ปรีซ์ ไฟนัล 2018

ถ้าหากไม่มีโควิด-19 และเทนนิสได้ลงแข่งขันตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว ทั้งความมั่นใจ รวมถึงความเจนจัดสนาม บอกได้เลยว่า ไม่มีใครต้านจอมเตะสาวจากไทยรายนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะช่วงที่ผ่านมาสามารถล้มคู่ปรับสำคัญอย่าง หวู จิงหยู จากจีน หรือแม้กระทั่งคนที่ทำให้เธอตกรอบโอลิมปิกเกมส์อย่าง คิม โซฮุย ก็เอาชนะมาได้แล้วเช่นกัน

 

 

 

ต้องยอมรับว่าเมื่อเกิดเหตุระบาดของไวรัสตัวร้าย ทำให้การแข่งขันเลื่อนออกมา ได้แค่รักษาสภาพร่างกาย และแทบจะไม่ได้แข่งขันจริงๆ เลย เลยทำให้สื่อต่างชาติ กลับมองเทนนิสกลายเป็นเต็งสองที่จะคว้าเหรียญทอง

ข้อดีคือ เป็นการลดความกดดันในตัวของพาณิภัคไปในตัว แต่มันก็คงทำให้หลีกหนีความจริงที่เธอคือ ความหวังเบอร์สูงสุดของทัพไทย ที่จะมีเหรียญทองติดกลับมาจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้

ต้องบอกว่าเส้นทางสู่เหรียญทองของเทนนิสในครั้งนี้ เรียกว่าโรยด้วยกลีบกุหลาบก็ว่าได้ เพราะว่าบรรดาตัวเต็งๆ ทั้ง ซู โปยา จากไต้หวัน, ซิม แจยอง จากเกาหลีใต้ หรือหวู จิงหยู คู่ปรับเก่าจากจีน ต่างทยอยตกรอบกันไปหมด

แม้จะมีเสียวๆ อยู่บ้าง ในรอบ 8 คนสุดท้าย ที่พบกับ เจิน ถิ คิม ตุน จากเวียดนาม เพราะจบ 2 ยกแรกตามหลังอยู่ แต่ก็ยังเรียกสติและกลับมาเตะเอาชนะได้ในยกสุดท้าย ขณะที่การเจอกับคู่แข่งจากเจ้าภาพ มิยุ ยามาดะ ในรอบตัดเชือก ก็ไม่ใช่ปัญหาใดๆ

แต่ที่เสียวที่สุดก็คงจะเป็นรอบชิงชนะเลิศ ที่ต้องเจอกับดาวรุ่งวัย 17 ปีจากสเปนอย่าง อาเดรียน่า เซเรโซ่ อิเกลเซียส ที่ตลอด 3 ยกนั้นต้องบอกว่าเล่นกันได้อย่างสูสีมากๆ ก่อนจะพลิกสถานการณ์ในช่วง 7 วินาทีสุดท้าย เฉือนไปแบบคะแนนเดียวเท่านั้น

หลังเธอคว้าเหรียญทอง เธอก็ประกาศชัดเจนว่ายังไม่เลิกเล่นแน่นอน แม้ก่อนหน้านี้เธอจะเคยบอกเอาไว้ว่าถ้าสำเร็จเป้าหมายเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์เมื่อไหร่ก็จะหยุดเมื่อนั้น เพราะยังมีชาเลนจ์ให้กับตัวเองได้อีกมาก โดยเฉพาะการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2 สมัยซ้อน ในปี 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

นี่คือ ฮีโร่คนใหม่ในดวงใจชาวไทย ที่เส้นทางจากวัยเด็กของเธอจนก้าวสู่การเป็นฮีโร่มันน่าติดตามยิ่งนัก…

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image