เปิดคู่มือสุดเข้มคุมโควิด โอลิมปิกโตเกียว

REUTERS/Issei Kato

เปิดคู่มือสุดเข้มคุมโควิด โอลิมปิกโตเกียว

หนึ่งในประเด็นที่เจ้าภาพ ญี่ปุ่น และ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) โดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในการเดินหน้าจัดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคมนี้ คือการฝืนจัดท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่นเอง อีกทั้งยังโดนต่อต้านอย่างหนักจากประชาชนในประเทศ

คณะกรรมการจัดการแข่งขันเองไม่ได้นิ่งนอนใจ ยืนยันมาตรการคัดกรองเข้มงวดตั้งแต่เดินทางถึงสนามบิน ตลอดช่วงการแข่งขัน ไปจนจบการแข่งขัน ดังปรากฏว่าเจอนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากหลายชาติติดเชื้อโควิด และเข้ารับการกักตัวแต่เนิ่นๆ เป็นระยะๆ

ขณะเดียวกันก็มีเสียงสะท้อนจากฝั่งทัพนักกีฬาชาติต่างๆ ว่า ขั้นตอนปฏิบัติของเจ้าภาพค่อนข้างซับซ้อนและล่าช้า ซึ่งก็เข้ากับสไตล์ญี่ปุ่นที่ทำอะไรอย่างระมัดระวัง เน้น “ช้าแต่ชัวร์” ไว้ก่อน

เพื่อให้เข้าใจในมาตรการควบคุมโควิดของเจ้าภาพอย่างลึกซึ้ง วันนี้เราจึงนำเสนอขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติจากคู่มือความยาว 70 หน้า ที่แสนเข้มงวดดังกล่าวเป็นข้อๆ ดังนี้

Advertisement
REUTERS/Kim Kyung-Hoon

หลักปฏิบัติกว้างๆ

ห้ามนักกีฬาเดินทางออกจากหมู่บ้านนักกีฬาไปเที่ยวในกรุงโตเกียว หรือสัมผัสกับชีวิตกลางคืน, ห้ามฉลองหรือจัดงานเลี้ยงภายในหมุ่บ้านหนักกีฬา, ขอให้หลีกเลี่ยงการกอด ตีมือ หรือจับมือ, ให้ทานข้าวคนเดียว หรือเว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 6 ฟุต, นักกีฬาชาติต่างๆ เมื่อแข่งขันอีเวนต์ของตัวเองจบแล้ว ต้องเดินทางออกจากญี่ปุ่นภายใน 48 ชั่วโมง

พยายามเลี่ยงการติดต่อกับนักกีฬาชาติอื่นๆ ในหมู่บ้านนักกีฬาให้น้อยที่สุด

Advertisement

ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันได้เตรียมถุงยางอนามัยประมาณ 150,000 ชิ้น แจกให้นักกีฬา เฉลี่ยแล้วได้คนละราว 14 ชิ้น แต่ไม่ได้ให้ใช้ขณะพักในหมู่บ้านนักกีฬา แต่ให้นำกลับไปใช้ที่ประเทศของตนเมื่อจบการแข่งขันแล้ว

 

ว่าด้วยเรื่องแฟนกีฬา

ห้ามแฟนกีฬาจากต่างประเทศเดินทางไปชมการแข่งขัน แม้จะเป็นสมาชิกครอบครัวของนักกีฬาชาติต่างๆ ก็ไม่ได้ ส่วนแฟนกีฬาญี่ปุ่นนั้น เดิมกำหนดให้เข้าชมได้บางส่วน แต่เดือนที่แล้วมีมติออกมาว่าไม่อนุญาตให้แฟนกีฬาเข้าชม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด

REUTERS/Kai Pfaffenbach

การตรวจหาเชื้อ

ไบรอัน แม็คคลอสกีย์ ประธานคณะกรรมการฝ่ายแพทย์ของโอลิมปิก เผยว่า จะมีการตรวจหาเชื้อตลอดช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการแข่งขันกว่า 100,000 ครั้ง

โดยนักกีฬาจะต้องตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง และเมื่อเดินทางถึง เพื่อการันตีว่าปลอดโควิดก่อนเข้าสู่ “บับเบิล” หรือพื้นที่ควบคุม โดยใครที่ตรวจพบเชื้อขณะอยู่สนามบิน รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิด ต้องแยกกักตัวทันที ใครตรวจไม่พบก็จะได้เข้าสู่แคมป์ของตัวเองที่กำหนดไว้ในเมืองต่างๆ เพื่อซ้อมและรอตรวจเชื้อต่อเพื่อเข้าสู่หมู่บ้านนักกีฬา

นอกจากนี้ ฝ่ายจัดยังร้องขอให้นักกีฬาที่จะเดินทางเข้าญี่ปุ่น หลีกเลี่ยงการติดต่อหรือสัมผัสกับบุคคลอื่นให้มากที่สุดช่วง 14 วันก่อนเดินทาง โดยก่อนเดินทางออกจากประเทศต้นทาง นักกีฬาต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ 96 ชั่วโมง

เมื่อเดินทางถึงญี่ปุ่นแล้ว ทัพนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกชาติต้องรับการตรวจหาโควิดทุกวัน โดยกำหนดเวลาสว็อบแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับโปรแกรมการซ้อมหรือแข่งขันของแต่ละคน ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเช้าหรือเย็น โดยตรวจที่หมู่บ้านนักกีฬาและสนามแข่งขัน โดยจะมีห้องแยกตรวจแบบรายบุคคล นักกีฬาทุกคนมีบาร์โค้ดเพื่อใช้ระบุตัวตนและแยกตัวอย่างสารคัดหลั่งที่นำไปตรวจ

ผลการตรวจจะออกมาภายในไม่ถึง 12 ชั่วโมง (กรณีสว็อบช่วงเช้าก็จะรู้ผลช่วงเย็น หรือถ้าสว็อบช่วงเย็นจะรู้ผลช่วงดึก) ถ้าผลเป็นลบจะไม่แจ้งให้นักกีฬาทราบ จะแจ้งเฉพาะผลเป็นบวกเท่านั้น

นอกจากนักกีฬาและเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่ประจำการแข่งขัน และคณะกรรมการโอลิมปิกชาติต่างๆ กรรมการ อาสาสมัคร รวมถึงสื่อมวลชนส่วนใหญ่ที่ต้องใกล้ชิดกับนักกีฬา ต่างต้องเข้ารับการตรวจเชื้อทุกวันเช่นกัน

ส่วนเจ้าหน้าที่หรือสื่อที่อยู่วงนอก ไม่ได้พบกับนักกีฬาหรือเจ้าหน้าที่ทีมชาติต่างๆ จะตรวจหาเชื้อทุกๆ 4 วัน หรือ 7 วัน ขึ้นอยู่กับความใกล้ชิดกับนักกีฬา

REUTERS/Kim Kyung-Hoon

การฉีดวัคซีน

ไอโอซีระบุไว้ก่อนหน้าการแข่งขันว่า ประมาณการคร่าวๆ ว่านักกีฬาภายในหมู่บ้านนักกีฬาจะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยทางไอโอซีได้จับมือกับ ไฟเซอร์ และ ไบโอเอ็นเทค ผู้ผลิตวัคซีนประเภท mRNA พร้อมฉีดให้นักกีฬาที่ร้องขอ โดยเตรียมวัคซีนไว้ราว 20,000 โดส

อย่างไรก็ตาม ไอโอซีและฝ่ายจัดการแข่งขันยืนยันว่าไม่ได้บังคับว่า นักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ต้องฉีดวัคซีนก่อนเข้าประเทศญี่ปุ่นแต่อย่างใด พร้อมยอมรับด้วยว่า แม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันยืนยันว่า มาตรการคุมเข้มต่างๆ นั้น ครอบคลุมนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทุกคน หมายความว่า ถึงจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบอย่างเข้มงวด และต้องเข้ารับการตรวจสม่ำเสมอเท่ากับนักกีฬาที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

 

กรณีติดเชื้อโควิด

เมื่อผลตรวจพบนักกีฬาติดโควิด และมีผลเป็นบวกยืนยันซ้ำรอบสองซึ่งจะออกภายใน 3 ชั่วโมง นักกีฬาคนนั้นจะถูกถอดออกจากการแข่งขันทันที และถูกกักตัวที่โรงแรมที่กำหนดไว้โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของญี่ปุ่นควบคุมดูแลใกล้ชิด

เมื่อพบผู้ติดเชื้อแล้ว ก็จะต้องไล่ไทม์ไลน์เพื่อหาบุคคลที่สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งวิธีการเช็กไทม์ไลน์นอกจากการสัมภาษณ์แล้ว ยังมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัวที่ฝ่ายจัดให้ทุกคนต้องลงไว้ในโทรศัพท์มือถือด้วย โดยบุคคลใกล้ชิดเหล่านี้ต้องเข้ารับการกักตัวทันที

ถ้าผู้สัมผัสใกล้ชิดเหล่านี้มีผลตรวจหาเชื้อรายวันเป็นลบอย่างสม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะต้องหารือกับสหพันธ์กีฬาชนิดนั้นๆ เพื่อลงมติว่าจะอนุญาตให้นักกีฬากลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เข้าร่วมแข่งขันหรือไม่

กรณีให้เข้าร่วมแข่งขัน นักกีฬาต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลอื่นให้มากที่สุด และพยายามอยู่ลำพังคนเดียว ทานข้าวตามลำพัง ใช้ยานพาหนะที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้พิเศษไม่ปะปนกับคนอื่น รวมถึงแยกฝึกซ้อมคนเดียวด้วย

Reuters

มาตรการสวมหน้ากาก

นักกีฬาต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นตอนแข่งขัน ฝึกซ้อม ทานข้าว ดื่มน้ำ และนอนเท่านั้น ช่วงพิธีรับเหรียญรางวัลหรืออยู่ในหมู่บ้านนักกีฬาก็ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา

ในพิธีมอบเหรียญรางวัลนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัส เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เชิญเหรียญนำเหรียญไปให้นักกีฬาคล้องคอเอง โดยไม่ต้องมีบุคคลระดับวีไอพีมอบเหรียญเหมือนประเพณีปฏิบัติที่ผ่านๆ มา โดยเจ้าหน้าที่ที่จัดวางเหรียญในถาดก็ต้องสวมถุงมือฆ่าเชื้อเพื่อเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงด้วย

 

นักกีฬาจะเดินทางไปในตัวเมืองโตเกียวได้หรือไม่?

คู่มือระบุว่า ห้ามนักกีฬาใช้บริการขนส่งสาธารณะเด็ดขาด ยกเว้นกรณีจำเป็นจริงๆ เท่านั้น โดยฝ่ายจัดจะจัดชัตเติลบัสบริการรับส่งนักกีฬาจากหมู่บ้านนักกีฬาไปยังสนามซ้อมและสนามแข่งขัน กรณีไม่มีรถบริการ ก็จะมีแท็กซี่ที่จัดไว้เฉพาะสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โดยฝ่ายจัดจะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ส่วนใครจะใช้รถส่วนตัว ต้องผ่านการตรวจสอบและอนุญาตจากฝ่ายจัดแล้วเท่านั้น

REUTERS/Kim Kyung-Hoon

กรณีที่นักกีฬาทำผิดกฎ

ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการละเมิด ซึ่งไอโอซีระบุว่า บทลงโทษมีตั้งแต่ตักเตือน ปรับ ห้ามซ้อมหรือแข่งขันบางอีเวนต์ แบนจากการแข่งขัน ไปจนถึงตัดสิทธิจากการแข่งขันทันที โดยขู่ด้วยว่าบทลงโทษปรับนั้นอาจเป็นมูลค่าสูงด้วย

ส่วนพฤติกรรมที่เข้าข่ายจะโดนลงโทษ ได้แก่ ไม่สวมหน้ากาก ไม่เว้นระยะทางสังคม ปฏิเสธการตรวจเชื้อโควิด ไม่ให้ความร่วมมอืกับเจ้าหน้าที่

โดยฝ่ายจัดและไอโอซีจะตั้งคณะกรรมการสอบวินัย 3 คน พิจารณาเป็นเคสๆ ไป

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image