เก็บตกไฮไลต์พิธีเปิดโตเกียว 2020

(Photo by François-Xavier MARIT / AFP)

เก็บตกไฮไลต์พิธีเปิดโตเกียว 2020

ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับพิธีเปิดการแข่งขันมหกรรมกีฬา โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่โตเกียว โอลิมปิก สเตเดียม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม

ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการ เช่นการคุมงบประมาณหลังเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปี หรือการไม่เปิดให้ผู้ชมเข้าสนาม ทำให้บรรยากาศและชุดการแสดงของพิธีเปิดการแข่งขัน อาจไม่ยิ่งใหญ่อลังการเมื่อเทียบกับพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์หลานยครั้งที่ผ่านมา

กระนั้นก็ยังมีแง่มุมน่าสนใจ และเป็นที่กล่าวถึงในโลกออนไลน์และในหมู่แฟนๆ กับสื่อกีฬาอยู่หลายประเด็น ซึ่งเราได้รวบรวมไฮไลต์น่าสนใจมากล่าวถึงในที่นี้…

(Photo by Antonin THUILLIER / AFP)

หญิงสาวกับเครื่องออกกำลังกาย

Advertisement

ฉากแรกของพิธีเปิดการแข่งขันโตเกียวเกมส์ที่กลายเป็น “มีม” ในโลกออนไลน์ในเวลาอันรวดเร็วคือ ฉากที่หญิงสาวคนหนึ่งวิ่งบนสายพานออกกำลังกายเพียงลำพัง ก่อนที่จะเริ่มปรากฏภาพของนักกีฬาคนอื่นๆ ออกกำลังกระจัดกระจายอยู่ในสนาม

เจ้าภาพต้องการสื่อถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งสร้างข้อจำกัดต่างๆ มากมายในการฝึกซ้อม นักกีฬาแต่ละคนต้องซ้อมกันตามลำพัง พร้อมกับความคาดหวังแตกต่างกันไป ท่ามกลางความไม่แน่นอน

นักกีฬาหญิงที่รับบทบาทดังกล่าวคือ อาริสะ สึบาตะ นักมวยสากลหญิงซึ่งมีอาชีพหลักเป็นนางพยาบาล ช่วงโรคระบาด สึบาตะก็ทำหน้าที่ในด่านหน้า ขณะที่ผลงานในสนามก็ถือว่ายอดเยี่ยม แม้จะเพิ่งหัดชกมวยได้เพียง 2 ปี แต่ก้าวไปเป็นแชมป์รุ่นมิดเดิลเวตหญิงของประเทศในปี 2019

Advertisement

หลังจากนั้น เธอตัดสินใจลาออกจากงานพยาบาลเมื่อเดือนมกราคมเพื่อโฟกัสกับการชกมวยโดยมีเป้าหมายที่โอลิมปิกเกมส์ แต่เพราะสถานการณ์โรคระบาดทำให้ฝ่ายจัดยกเลิกการชกรอบคัดเลือกหลายรายการ และยึดอันดับโลกแทน ทำให้สึบาตะที่เพิ่งชกมวยได้ไม่กี่ปีต้องฝันสลาย เนื่องจากยังไม่มีอันดับโลก และต้องรอสานต่อความฝันใน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 4 ปีข้างหน้าแทน

(Photo by Antonin THUILLIER / AFP)

พิคโตแกรมมีชีวิต

หนึ่งในชุดการแสดงที่เรียกรอยยิ้มและเสียงฮือฮาในแง่ความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดต้องยกให้การแสดง พิคโตแกรมมนุษย์ ของนักแสดงเพียง 5 คนบนเวที

พิคโตแกรมคือการดีไซน์ภาพแทนสัญลักษณ์ของกีฬาต่างๆ ในมหกรรมกีฬา เริ่มต้นใช้ครั้งแรกใน โอลิมปิกเกมส์ 1964 ที่กรุงโตเกียว เป็นเจ้าภาพ

โดยกล่าวกันว่า ด้วยกำแพงภาษาของชาวญี่ปุ่น ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันคิดค้นการสื่อสารผ่านภาพขึ้นมาเพื่อให้คนในประเทศเข้าใจง่ายว่า นี่คือกีฬาอะไร

แต่ละกีฬา แต่ละอีเวนต์ต่างก็มีภาพพิคโตแกรมของตัวเอง ซึ่งผู้ออกแบบพยายามเน้นความเรียบง่าย ใช้เส้นไม่กี่เส้นเพื่อสื่อสารให้คนเข้าใจ และจะนำภาพเหล่านี้ไปแปะตามหน้าสนามกีฬาแต่ละแห่งเพื่อบอกว่านี่เป็นสนามแข่งขันกีฬาชนิดใด กรณีที่คนอาจจะไม่เข้าใจศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกกีฬานั้น

เจ้าภาพครั้งต่อๆ มาพยายามสอดแทรกเอกลักษณ์ของตัวเองเข้าไป เช่นใน โอลิมปิกเกมส์ 1992 ที่นครบาร์เซโลนา ประเทศสเปน, โอลิมปิกเกมส์ 2000 ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และ โอลิมปิกเกมส์ 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งใช้สัญลักษณ์ (โลโก้) ประจำการแข่งขันที่เป็นภาพลายเซ็นคล้ายรูปคนอยู่แล้ว มาดัดแปลงเป็นท่าทางต่างๆ ตามแต่ละชนิดหรือประเภทกีฬา

ส่วนการแสดงพิคโตแกรมมีชีวิตในพิธีเปิดโตเกียว 2020 นั้น ใช้ตัวละครหลัก 3 ตัวที่สวมชุดสีขาว-น้ำเงิน พร้อมผู้ช่วยอีก 2 คน และอุปกรณ์ประกอบฉากจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ผู้แสดงทำท่าตามพิคโตแกรม 50 แบบ จาก 50 อีเวนต์ ของ 41 ชนิดกีฬา ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ โดยอาศัยการหมุนกล้องเพื่อให้ท่าทางที่ออกมาใกล้เคียงกับภาพพิคโตแกรมมากที่สุด

กีฬาไหนยากต่อการแสดงสดบนเวทีก็ใช้วิธีตัดสลับกับภาพวิดีโอที่อัดไว้ล่วงหน้า หรือ “ลักไก่” ด้วยการฉายภาพพิคโตแกรมบนอกเสื้อของทีมงาน ในกีฬาเรือใบซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ

ทุกอย่างต้องเป๊ะและรวดเร็ว มีช่วงแรกที่เกิดจังหวะสะดุดเพราะอุปกรณ์หลุดมือไปบ้าง แต่การแสดงก็ออกมายอดเยี่ยมและได้รับเสียงชื่นชมในแง่ความคิดสร้างสรรค์กันถ้วนหน้

บางคนถึงขั้นบอกว่า นี่น่าจะเป็นกีฬาใหม่ได้เลยด้วยซ้ำ!

Reuters

หนุ่มกล้ามโตจากตองกาคัมแบ๊ก

หนึ่งในสีสันพิธีเปิดการแข่งขันต้องยกให้ ปิต้า ตาอูฟาโตฟัว นักกีฬาเทควันโดทีมชาติตองกา ซึ่งถือธงนำเพื่อนร่วมชาติในขบวนพาเหรดนักกีฬา ร่วมกับ มาเลีย ปาเซก้า นักกีฬาเทควันโดหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของตองกา

ปิต้ามาในชุดประจำชาติของตองกา พร้อมทาน้ำมันทั่วตัว ขับเน้นกล้ามเนื้อจนชาวเน็ตฮือฮาถามไถ่กันยกใหญ่

อยากยังจำกันได้ เขาเคยเรียกเสียงฮือฮามาแล้วในพิธีเปิดการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

และต่อมาใน โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ ปิต้าก็เรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง เมื่อเขาหันไปเล่นสกีครอสคันทรี และเข้าร่วมแข่งขัน โดยในพิธีเปิดการแข่งขัน ถึงจะเป็นฤดูหนาวที่อุณหภูมิเย็นยะเยือก ปิต้าก็ยังมาในชุดประจำชาติที่ไม่มีเสื้อคลุมอยู่ดี

นอกจากนี้ เขายังหันไปเล่นกีฬาเรือแคนูอย่างจริงจังอยู่ด้วยในเวลานี้

REUTERS/Kai Pfaffenbach

โอซากะรับหน้าที่จุดคบเพลิง

ขบวนพาเหรดในพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ เจ้าภาพและ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) อนุญาตให้ชาติต่างๆ เลือกนักกีฬาถือธงได้เป็นชาย 1 คน และหญิง 1 คน (หรือจะเลือกเพศใดเพศหนึ่งคนเดียวก็ได้) เพื่อเป็นการส่งเสริมความเสมอภาคในวงการกีฬา

ขบวนพาเหรดครั้งนี้จึงคล้ายเป็นการส่งสารสื่อถึงชาวโลกเรื่องการสนับสนุนความเสมอภาคและความหลากหลายในสังคม

เช่น จู ถิง กัปตันทีมวอลเลย์บอลหญิงจีน กลายเป็นนักกีฬาหญิงจีนคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ถือธงในขบวนพาเหรดพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อน

ขณะที่สหราชอาณาจักรเลือกนักกีฬามุสลิมคนแรกมาถือธง คือ โมฮาเหม็ด สบิฮี นักกีฬาเรือพาย

ส่วนเนเธอร์แลนด์เป็นนักกรีฑาผิวสีวัย 36 ปี ชูรานดี้ มาร์ติน่า ร่วมกับนักสเก๊ตบอร์ดวัย 16 ปี คีต โอลเดนบูวิ่ง ซึ่งเป็นนักกีฬาที่อายุมากสุดและน้อยสุดของทัพนักกีฬาดัตช์ชุดนี้

กรณีของเบลเยียมที่มีความหลากหลายด้านภาษา เลือก นาฟี เธียม นักสัตกรีฑาที่พูดภาษาฝรั่งเศส กับ เฟลิกซ์ เดนาเยอร์ นักฮอกกี้ที่พูดภาษาดัตช์

ขณะที่พิธีจุดคบเพลิงโอลิมปิกเกมส์นั้น นอกจากนักกีฬาดังในอดีตแล้ว เจ้าภาพให้ความสำคัญกับบุคคลหลากหลายในสังคมซึ่งต่างก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโดยถ้วนหน้ากัน ทั้งบุคลากรการแพทย์ บุคคลทั่วไปจากหลากหลายสาขาอาชีพ รวมถึงเยาวชนที่เป็นอนาคตของประเทศ ก่อนส่งต่อคบเพลิงให้แก่ นาโอมิ โอซากะ อดีตนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติ เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 4 สมัย ทำหน้าที่จุดคบเพลิง

นอกจากปัจจัยเรื่องความโด่งดังและผลงานในระดับโลกแล้ว การเลือกโอซากะซึ่งเป็นลูกครึ่งและเป็นผู้หญิงยังถือเป็น “สาร” ที่มีพลังอย่างมาก

ต้องยอมรับว่า สังคมญี่ปุ่นยังยึดหลักชายเป็นใหญ่ค่อนข้างมาก อีกทั้งความชาตินิยมสูงทำให้คนที่มีเลือดผสม หรือเป็นลูกครึ่งลูกเสี้ยว มักไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคมนัก

การที่ญี่ปุ่นให้โอซากะทำหน้าที่จุดคบเพลิงนั้น สื่อหลายสำนักเปรียบเทียบว่ามีพลังไม่ต่างจากตอนออสเตรเลียให้ เคธี่ ฟรีแมน นักกรีฑาหญิงเชื้อสายอะบอริจินซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของประเทศ ทำหน้าที่จุดคบเพลิงในพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2000

เพื่อบอกให้โลกรู้ถึงการเคารพและการยอมรับที่จะอยู่ร่วมกัน ผ่านกีฬาเป็นสื่อกลาง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image