เหรียญทองประวัติศาสตร์ในโตเกียวเกมส์

(Photo by Tauseef MUSTAFA / AFP)

เหรียญทองประวัติศาสตร์ในโตเกียวเกมส์

มหกรรมกีฬา โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เริ่มชิงชัยเหรียญรางวัลกันมายังไม่ถึง 1 สัปดาห์ ก็มีเซอร์ไพรส์จากชาติเล็กๆ หรือประเทศที่ไม่ค่อยคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันเกิดขึ้นหลายครั้ง
แต่ละครั้งล้วนเป็นเหรียญทองสำคัญที่ได้จารึกไว้ทั้งในประวัติศาสตร์ของโอลิมปิกเกมส์ และประเทศของพวกเขาเหล่านั้น

ใครเป็นใครในรายการไหนกันบ้าง เรารวบรวมไว้ ณ ที่นี้แล้ว

REUTERS/Hannah Mckay

เบอร์มิวดา

เกาะเล็กๆ ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรในมหาสมุทรแอตแลนติกแห่งนี้ ปัจจุบันมีประชากรไม่ถึง 63,000 คน หมายความว่า ถ้านำชาวเบอร์มิวดาทั้งประเทศมารวมกัน ก็แค่เต็มความจุของสนามโอลิมปิก สเตเดียม กรุงโตเกียว เท่านั้น

Advertisement

แต่ประเทศเล็กๆ แห่งนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งที่ส่งนักกีฬาร่วมแข่งโตเกียวเกมส์เพียง 2 คน เมื่อคนเหล็ก ฟลอร่า ดัฟฟี่ ทำเซอร์ไพรส์คว้าเหรียญทองไตรกีฬาหญิงมาครอง

ส่งผลให้เบอร์มิวดาเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีนักกีฬาคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จ

REUTERS/Edgard Garrido

ฟิลิปปินส์

Advertisement

หลังจากเป็นชาติแรกในภูมิภาคอาเซียนที่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ก่อนใครเมื่อปี 1924 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ฟิลิปปินส์ต้องรอคอยนานถึง 97 ปีเต็ม กว่าจะได้สัมผัสเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ

ฮิดิลีน ดิอาซ จอมพลังสาววัย 30 ปี ซึ่งเป็นความหวังสูงสุดของประเทศ ประสบความสำเร็จในยกน้ำหนักรุ่น 55 กก.หญิง แม้ต้องเจอกับเจ้าของสถิติโลกจากจีนซึ่งเป็นเต็งหนึ่งของรายการ

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้ฟิลิปปินส์ต้องปิดประเทศ และจำกัดเรื่องการเดินทาง ส่งผลให้ดิอาซที่เดินทางไปเก็บตัวที่มาเลเซีย กลับบ้านไม่ได้ และต้องอยู่ยาวฝึกซ้อมที่นั่นนานถึง 18 เดือนโดยที่ยังไม่ได้เจอหน้าครอบครัวและเพื่อนๆ เลย

บางครั้ง ดิอาซต้องมาโพสต์อินสตาแกรมขอให้คนช่วยสนับสนุนด้านการเงิน เนื่องจากต้องใช้ชีวิตที่มาเลเซียและฝึกซ้อมเพื่อไล่ตามความฝันในโอลิมปิกเกมส์ที่น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของตัวเอง และก็ทำได้สำเร็จ

REUTERS/Molly Darlington

ฮ่องกง

เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกและครั้งเดียวของฮ่องกงก่อนหน้านี้ เกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ก่อนที่เกาะเล็กๆ แห่งนี้จะถูกส่งคืนให้จีน

ย้อนไปในโอลิมปิกเกมส์ 1996 ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา ลี ไหล่ ฉาน นักกีฬาวินด์เซิร์ฟคว้าเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของฮ่องกงในประเภทมิสทรัล ซึ่งทุกวันนี้ก็มีอนุสาวรีย์นักกีฬาวินด์เซิร์ฟซึ่งสร้างเป็นเกียรติแก่ลี ไหล่ ฉาน ที่บริเวณชายหาดบนเกาะเชิงเชา บ้านเกิดของเธอด้วย

มาโอลิมปิกเกมส์หนนี้ ฮ่องกงคว้าเหรียญทองที่ 2 ในประวัติศาสตร์ จากนักกีฬาฟันดาบ ชุง กา หลง ในประเภทเซเบอร์ บุคคลชาย ซึ่งสื่อเชื่อวา เขาก็น่าจะมีอนุสาวรีย์ของตัวเองในอนาคตเช่นกัน

REUTERS/Sergio Perez

โคโซโว

หลังจากประกาศเอกราชและได้รับการรับรองเข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ในปี 2014 โคโซโวก็ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในนามทีมชาติตัวเองเมื่อปี 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

โอลิมปิกแรกของโคโซโว ประสบความสำเร็จคว้า 1 เหรียญทองมาครอง และในโอลิมปิกเกมส์หนนี้ก็ทำไปแล้ว 2 เหรียญทอง

น่าสนใจตรงที่ 3 เหรียญทองของโคโซโวจนถึงขณะนี้ ล้วนมาจากการแข่งขันยูโดหญิงทั้งสิ้น

มายลินดา เคลเมนดี้ คว้าเหรียญทองแรกของประเทศในรุ่น 52 กก.หญิง เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มาโตเกียวเกมส์หนนี้ ดิสเทรีย คราสนิกี้ และ นอร่า เกียโคว่า ก็คว้าเหรียญทองในรุ่น 48 และ 57 กก.หญิง ตามลำดับ

ภายหลังคว้าทองสำเร็จ เกียโคว่ากล่าวสดุดีเคลเมนดี้ว่า เป็นผู้เปิดประตูให้เพื่อนร่วมชาติมีความฝันที่ยิ่งใหญ่จนทำได้วันนี้

REUTERS/Kai Pfaffenbach

ตูนิเซีย

ประเทศจากทวีปแอฟริกาตอนเหนือเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อปี 1960 ก่อนไปโตเกียว เคยคว้าไป 4 เหรียญทอง

แต่เหรียญทองที่ 5 ในประวัติศาสตร์ของพวกเขาถือว่าเซอร์ไพรส์สุดสุด เพราะมาจาก อาเหม็ด ฮาฟนาอุย ในการแข่งขันว่ายน้ำ ฟรีสไลต์ 400 ม. ชาย

ฮาฟนาอุยว่ายในช่องว่ายที่ 8 ซึ่งเป็นเลนนอกสุด เนื่องจากทำเวลาแย่ที่สุดจากนักกีฬา 8 คนที่ผ่านเข้าไปแข่งขันในรอบสุดท้าย แต่ก็ทำเซอร์ไพรส์เอาชนะตัวเต็งทั้งหลายได้อย่างเหลือเชื่อ

ฉลามหนุ่มวัย 18 ปี กล่าวว่า กลั้นน้ำตาไม่อยู่เพราะการได้เห็นธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา และได้ยินเพลงชาติบรรเลงคลอ เป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมากๆ

REUTERS/Maxim Shemetov

เอสโตเนีย
ตั้งแต่แข่งขันในนาม เอสโตเนีย ครั้งแรกในโอลิมปิกเกมส์ 1992 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากร 1.3 ล้านคนแห่งนี้ เคยคว้าเหรียญทองมา 3 ครั้ง แต่ครั้งสุดท้ายต้องย้อนไปถึงปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน

กระทั่งทีมฟันดาบเอเป้หญิงของเอสโตเนียเอาชนะเกาหลีใต้ 36-32 ในรอบชิงชนะเลิศ โดย คาทริน่า เลฮิส เป็นคนทำแต้มสำคัญหลังคะแนนเสมอกันจนทำให้ทีมคว้าชัยชนะ

หลังจากคว้าเหรียญทองประวัติศาสตร์ ประธานาธิบดี เคอร์สตี้ คัลยูลาอิด ได้โทรศัพท์ข้ามประเทศไปแสดงความยินดีกับทีม ขณะที่เลฮิสบอกว่า หลังจากนี้คาดว่า กีฬาฟันดาบจะกลายเป็นกีฬาประจำชาติของเอสโตเนียไปแล้ว

REUTERS/Edgard Garrido

เติร์กเมนิสถาน

กรณีของชาติเล็กๆ จากเอเชียกลางชาตินี้ อาจไม่ใช่เหรียญทองเหมือนตัวอย่างอื่นๆ แต่ก็มีความหมายอย่างมาก เนื่องจาก โพลิน่า กูร์เยว่า นักกีฬายกน้ำหนักหญิง กลายเป็นนักกีฬาเติร์กเมนิสถานคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ยืนบนโพเดียม นับตั้งแต่ประเทศของเธอแยกตัวจากสหภาพโซเวียต หลังจากคว้าเหรียญเงินในรุ่น 59 กก.หญิง

ท่ามกลางเสียงเชียร์กึกก้องของสต๊าฟโค้ชและธงที่โบกสะบัดหลังการยกครั้งสุดท้าย กูร์เยว่ายอมรับด้วยรอยยิ้มในภายหลังว่า

“ฉันคิดว่าตัวเองได้เข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ของเติร์กเมนิสถานแล้ว”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image