It’s OK not to be OK : เมื่อปัญหาสุขภาพจิตบั่นทอนนักกีฬา

นาโอมิ โอซากะ (Reuters)

It’s OK not to be OK : เมื่อปัญหาสุขภาพจิตบั่นทอนนักกีฬา

ก่อนหน้า โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเปิดฉาก วงการกีฬาโลกเคยมีประเด็นร้อนว่าด้วย “สุขภาพจิต” กับกรณีของ นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสสาวมือ 2 ของโลก ดีกรีแชมป์แกรนด์สแลม 4 สมัย

ไม่กี่เดือนก่อน โอซากะถอนตัวจากการแข่งขันแกรนด์สแลม เฟร้นช์ โอเพ่น ก่อนเริ่มรอบสองกลางคัน หลังโดนกดดันเรื่องไม่ยอมให้สัมภาษณ์สื่อในแมตช์ก่อนหน้านั้น

ก่อนทัวร์นาเมนต์เริ่ม โอซากะประกาศจะไม่ขอร่วมการแถลงข่าวกับสื่อหลังเกมตามธรรมเนียมเพื่อ “รักษาสภาพจิตใจ” และให้สัมภาษณ์สั้นๆ แค่ในคอร์ตหลังแข่งเสร็จเท่านั้น

หลังผ่านรอบแรก ฝ่ายจัดการแข่งขันได้ออกแถลงการณ์ลงโทษปรับเงินโอซากะตามกฎ พร้อมขู่ว่าการแถลงข่าวหลังการแข่งขันเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเข้าร่วมที่นักกีฬาทุกคนปฏิบัติเหมือนๆ กัน ถ้าเธอยังทำแบบนี้อยู่เรื่อยๆ ก็จะเจอบทลงโทษที่หนักกว่าเก่า อาจถึงขั้นถูกแบนจากการแข่งขันแกรนด์สแลมอื่นๆ ในอนาคตได้

Advertisement

สุดท้าย โอซากะจึงตัดสินใจถอนตัวเพื่อตัดปัญหา และเผยผ่านโซเชียลมีเดียว่า ยอมรับว่าพูดไม่เคลียร์เอง แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คือการเผชิญกับอาการของโรคซึมเศร้ามาตั้งแต่ปี 2018 และขอพักเบรกจากการแข่งขันไปนานกว่า 2 เดือนจึงกลับมาแข่งขันในโอลิมปิกเกมส์หนนี้

แต่ความหวังของโอซากะและแฟนกีฬาเจ้าถิ่นก็ไม่เป็นจริง เมื่อเธอพลิกตกรอบสามหรือรอบ 16 คนสุดท้าย โดยเจ้าตัวยอมรับอีกเช่นกันว่า มีปัญหาเรื่องการรับมือกับแรงกดดันในการเข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์หนแรก
หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดประเด็นเรื่อง “สุขภาพจิต” ในโตเกียวเกมส์อีกครั้ง

ซีโมน ไบล์ส (REUTERS/Mike Blake/File Photo)

ในการแข่งขันยิมนาสติกศิลป์ ซีโมน ไบล์ส นักยิมสาวทีมชาติสหรัฐซึ่งหลายสื่อยกย่องให้เป็นนักยิมที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ เจ้าของ 4 เหรียญทองจากโอลิมปิกหนก่อน เริ่มต้นพลาดในอุปกรณ์โต๊ะกระโดดในช่วงต้นของการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศประเภททีมหญิง

Advertisement

ไบล์สตัดสินใจถอนตัวจากการแข่งขันประเภทดังกล่าวทันที และถอนตัวจากการชิงเหรียญทองบุคคลรวมอุปกรณ์ในเวลาต่อมา โดยยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถแข่งขันประเภทบุคคลแยกอุปกรณ์ได้หรือไม่

ถือเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของทั้งเจ้าตัวเองและแฟนกีฬาเมืองมะกันทั้งประเทศ เนื่องจากไบล์สอยู่บนเส้นทางการลุ้นทาบหรือทำลายสถิติเหรียญทองสูงสุดตลอดกาลของนักกีฬายิมนาสติกไม่ว่าชายหรือหญิง 9 เหรียญทองที่ ลาริซ่า ลาตินิน่า ตำนานนักยิมหญิงของยุคสหภาพโซเวียตทำไว้

การจะทำลายได้ ไบล์สต้องกวาดครบทั้ง 6 เหรียญทองที่มีให้ลุ้น หรืออย่างน้อยต้องได้ 5 เหรียญเพื่อทาบสถิติ ซึ่งตอนนี้เธอหมดสิทธิแล้ว

ภายหลังการถอนตัว สหพันธ์ยิมนาสติกสหรัฐออกแถลงการณ์ว่า ไบล์สถอนตัวเพราะเหตุผลทางการแพทย์ (ไม่ได้ระบุตรงๆ ว่ามีปัญหาบาดเจ็บหรือไม่) และอยากโฟกัสเรื่องสภาพจิตใจ

เธอได้รับเสียงชื่นชมและกำลังใจมากมายจากการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะการรู้จักปล่อยวาง ลดแรงกดดันให้ตัวเอง ย่อมเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตในระยะยาว

ไบล์สและทีมยิมนาสติกหญิงสหรัฐ (REUTERS/Mike Blake)

แต่ก็มีบางคนที่สวนกระแส เช่น เพียร์ส มอร์แกน พิธีกรฝีปากจัดจ้านชาวอังกฤษ ซึ่งวิจารณ์ว่าไบล์ส “เห็นแก่ตัว” ที่คิดถึงตัวเองก่อนเพื่อนร่วมทีม แฟนๆ หรือประเทศชาติ

มอร์แกนบอกว่า ไบล์สเป็นเหมือน “ผู้นำ” ของทีมยิมนาสติกหญิง หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำของทัพนักกีฬาสหรัฐทั้งประเทศ เนื่องจากมีผลงานโดดเด่นและเป็นที่คาดหวังของทั้งสื่อและแฟนๆ

เมื่อเป็นผู้นำก็ควรต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เมื่อผิดพลาดในการเล่นโต๊ะกระโดดก็ควรแก้ไข ไม่ใช่เลิกเล่นไปดื้อๆ

มอร์แกนชี้ว่า ไบล์สให้สัมภาษณ์เองหลังแข่งว่า ไม่ได้มีปัญหาเรื่องอาการบาดเจ็บ แต่เป็นเรื่องของใจล้วนๆ เพราะแรงกดดันมหาศาลจากการเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ แถมยังเป็นที่จับตามอง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติ

ไบล์สชี้ว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของเธอคือเสียงสะท้อนจากโซเชียลมีเดีย บางครั้งพออายุมากขึ้น เจอกระแสโซเชียลที่พูดถึงตัวเองเยอะๆ ก็รู้สึกหนักอึ้งเพราะต้องแบกรับความคาดหวัง ถ้าเป็นตัวเองสมัยก่อน คงสู้ต่อ แต่ถึงตอนนี้ได้เรียนรู้ว่า บางครั้งต้องยอมถอยออกมาบ้าง

มอร์แกนโต้ว่า ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ว่าไปอย่าง แต่ไบล์สไปแข่งขันในฐานะตัวแทนของประเทศ การถอนตัวของเธอย่อมมีผลกับขวัญกำลังใจของทั้งทีม ไม่เฉพาะตัวเธอคนเดียว

ประเด็นเรื่องแรงกดดันนี้แม้แต่ ไมเคิล เฟลป์ส สุดยอดนักว่ายน้ำที่เก่งที่สุดตลอดกาลของโลก เจ้าของสถิติ 23 เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ก็แสดงความเห็นใจว่า สุดท้ายแล้ว นักกีฬาก็แค่มนุษย์ธรรมดคนหนึ่ง ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ พร้อมยกวลี “it is OK not to be OK” หรือ “ไม่เป็นไรถ้าคุณรู้สึกว่าไม่โอเค” ขึ้นมา

ช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา วงการกีฬาโลกมีประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่กรณีของไบล์สหรือโอซากะเท่านั้น

ชาคาร์รี่ ริชาร์ดสัน (Reuters)

ชาคาร์รี่ ริชาร์ดสัน นักวิ่งชาวอเมริกัน ตัดสินใจใช้กัญชาช่วยให้ลืมความเจ็บปวดหลังจากต้องสูญเสียคุณแม่ จนสุดท้ายโดนลงโทษแบน หมดสิทธิร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์

ทอม ดูโมลิน นักจักรยานชาวดัตช์ ออกจากแคมป์เก็บตัวเมื่อเดือนมกราคมเพื่อตามหาตัวเองคนเก่า ก่อนจะกลับไปเข้าแคมป์ในเดือนพฤษภาคม และคว้าเหรียญเงินจากประเภทไทม์ไทรอัลในโตเกียวเกมส์

ลิซ แคมเบจ นักบาสทีมชาติออสเตรเลีย ถอนตัวจากทีมโอลิมปิกเพียง 1 สัปดาห์ก่อนแข่งเพราะอึดอัดเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการเข้มงวดเรื่องป้องกันโควิดจนไม่ได้เจอครอบครัวและเพื่อนๆ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของปัญหาสุขภาพจิตที่นักกีฬาระดับโลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะในยุคที่โซเชียลมีเดียกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมข้อมูลข่าวสารอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

เมื่อโลกเปลี่ยนและสร้างภาระให้นักกีฬาอย่างไม่ทันตั้งตัว ก็อยู่ที่แต่ละคนจะรับมือกับแรงกดดันนั้นอย่างไร และคนรอบข้างที่ต้องยอมรับในการตัดสินใจของแต่ละบุคคลด้วยเช่นกัน

เพราะที่สุดแล้วเมื่อการแข่งขันผ่านพ้นไป ก็เป็นพวกเขาเหล่านั้นที่ต้องอยู่กับความรู้สึกและความทรงจำจากการแข่งขัน ขณะที่แฟนๆ และสื่ออาจจดจำแค่ผลที่ออกมาเท่านั้น

ทอม ดูโมลิน (REUTERS/Christian Hartmann)

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image