มาเรียนรู้ออกแบบบ้านเพื่อผู้สูงอายุรับสังคมสูงวัย

การสร้างบ้านและสภาพแวดล้อมให้รองรับผู้สูงอายุ นอกจากจะมีประโยชน์โดยตรงกับคุณพ่อคุณแม่ที่แก่ชราแล้ว ยังมีประโยชน์กับตัวเองในอนาคต เพราะเป็นหนึ่งในการเตรียมพร้อมสังคมสูงวัย แต่จะทำได้อย่างไรนั้น

เป็นข้อมูลดีๆ จากสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยปฏิบัติการวิจัย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อแนะนำการออกแบบสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ ดังนี้

ในส่วนลักษณะบ้าน ควรเป็นบ้านชั้นเดียว หรือมีห้องนอนอยู่ชั้นล่างของบ้าน เมื่อเดินเข้ามาทางเดินระหว่างรั้วถึงตัวบ้านไม่ควรไกลนัก ผ่านประตูที่กว้าง 90-150 เมตร ที่มีมือจับแบบก้านโยก ไม่ติดตั้งอุปกรณ์บังคับปิดประตูเอง และไม่มีธรณีประตู รอบๆ บริเวณบ้านสามารถมีพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมเบาๆ เช่น ทำสวน เลี้ยงสัตว์ รายล้อมพืชพันธุ์ที่เป็นไม้ดอก ไม้หอม

เข้ามาในตัวบ้าน ทางสัญจรไปมาควรเป็นระดับเดียวกันทั้งหมด อาจมีทางลาดในพื้นต่างระดับ ซึ่งด้านข้างมีราวจับแข็งแรง สีสดมองเห็นชัดเจน ในห้องครัวห้องรับแขกจัดวางเฟอร์นิเจอร์โล่งๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงได้แม้จะนั่งรถเข็น ในห้องต้องมีระบบอากาศระบายดี มีแสงสว่างที่เพียงพอ ขณะที่ห้องนอน ควรตั้งเตียงอย่าห่างจากห้องน้ำเกิน 9 ฟุต หรือถ้ามีข้อจำกัดให้เตรียมกระโถนหรือหม้อนอนในห้องนอน ภายในห้องนอนควรมีแสงสว่างที่เพียงพอ มีอากาศระบายดี พื้นห้องใช้สีสว่าง

Advertisement

ถัดมาที่ห้องสำคัญที่สุดในบ้านคือ ห้องน้ำ สำคัญต้องมีแสงสว่างที่เพียงพอ มีพื้นเสมอเท่ากันปูด้วยวัสดุหยาบ รอบๆ ห้องควรมีราวจับที่แข็งแรงสามารถเดินได้ทั่ว การอาบน้ำควรมีเก้าอี้นั่งอาบน้ำ ฝักบัวแรงดันต่ำเบาและเล็ก สบู่ควรผูกติดกับเชือก เพราะหลุดจากนิ้วมือผู้สูงอายุง่าย และทำให้อุบัติเหตุง่ายเมื่อต้องก้มเช่นกัน ก๊อกน้ำควรเป็นแบบก้านโยก โถส้วมควรเป็นแบบนั่งราบดีกว่านั่งยอง

เพราะสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม จะมีส่วนเอื้ออำนวยความสะดวกในชีวิตและการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ อันจะส่งผลให้ผู้สูงอายุดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม

 

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image