หุ้นร่วงระนาว ปิดลบ 8.86 จุด หลังธปท.สกัดเงินร้อนเก็งกำไรในตลาดทุนไทย

วันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หุ้นไทยเปิดตลาดภาคเช้ามาที่ระดับ 1,740.45 จุด ปิดตลาดภาคเช้าที่ระดับ 1,732.01 จุด ย่อตัวเคลื่อนไหวในแดนลบก่อนปิดตลาดภาคบ่ายที่ระดับ 1,731.59 จุด ปรับลดลง 8.86 จุด หรือ 0.51% โดยดัชนีทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,746.21 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,728.36 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 70,717.19 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 3,354.87 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซื้อสุทธิ 73.48 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 457.10 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 2,824.29 ล้านบาท

โดยนางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปรับลดลงหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น โดยการปรับกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อเฝ้าระวังและติดตามค่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วเกินไป เนื่องจากกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ แม้จะมีแรงหนุนจากหุ้นกลุ่มโรงกลั่นที่ปรับขึ้นยกแผง ขานรับค่าการกลั่นที่ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่ปัจจัยบวกเรื่องประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยจึงดูอ่อนแรงลงไป

นางสาววิลาสินี กล่าวว่า ตลาดภาคบ่ายยังไม่สามารถทะลุผ่านแนวต้านที่ระดับ 1,749 จุดได้ ทำให้ทิศทางในระยะสั้นคาดว่าตลาดจะเป็นภาพของการแกว่งอยู่ในส่วนล่างของกรอบดัชนีระหว่างระดับ 1,721-1,739 จุด จึงแนะนำให้ซื้อเก็งกำไรเมื่อย่อลงใกล้แนวรับระดับ 1,721 จุด และแนวต้านระดับ 1, 739 จุด

โดยนางสาววชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าภาวะตลาดการเงินโลกปัจจุบันมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและประเทศคู่ค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางหลายแห่ง ส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับมายังกลุ่มประเทศเกิดใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มีมุมมองเชิงบวกต่อค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศเกิดใหม่อื่น ทำให้นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองเงินบาทและลงทุนในหลักทรัพย์ไทยมากขึ้นในระยะหลัง รวมทั้งบางส่วนอาจใช้ไทยเป็นแหล่งพักเงินระยะสั้น

Advertisement

นางสาววชิรา กล่าวว่า ธปท. ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และมีความกังวลกับค่าเงินบาทที่ปรับแข็งค่าขึ้นเร็วและแข็งค่าค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินภูมิภาค จนอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท เพื่อลดทอนช่องทางในการเก็งกำไรค่าเงินบาท และเพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด

โดยหลักเกณฑ์ประกอบด้วย 1. การปรับหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident : NR) ทั้ง Non-resident Baht Account for Securities (NRBS) และบัญชี Non-resident Baht Account (NRBA) ให้เข้มขึ้น โดยบัญชี NRBS คือบัญชีเงินบาทของ Non-resident (NR) ที่เปิดไว้กับสถาบันการเงินในประเทศไทยเพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงิน และบัญชี NRBA คือบัญชีที่เปิดไว้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ ทั่วไป เช่น การชำระค่าสินค้าและบริการ

อย่างไรก็ดี บัญชีเงินบาทข้างต้นในบางครั้งถูกใช้เป็นช่องทางพักเงินระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะช่วงที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น เพื่อลดช่องทางดังกล่าว ธปท. จึงปรับเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชี NRBS และ NRBA ให้ลดลง จากเดิมกำหนดไว้ที่ 300 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาทต่อราย NR ต่อประเภทบัญชี โดยกำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2562 เป็นต้นไป กรณีบัญชีที่มียอดคงค้างเกินกว่า 200 ล้านบาท ให้สถาบันการเงินดำเนินการให้ NR เจ้าของบัญชีปรับลดยอดคงค้างภายในกำหนดเวลาดังกล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ NR ซึ่งไม่ใช่สถาบันการเงินและไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน ที่มีการค้าการลงทุนกับคู่ค้าในประเทศไทยและมีการชำระหรือรับชำระกับคู่ค้าเป็นสกุลบาท สามารถยื่นขออนุญาต ธปท. เพื่อขอผ่อนผันยอดคงค้างในบัญชี NRBA ได้เป็นรายกรณี โดย ธปท. จะพิจารณาตามความจำเป็นและเหมาะสม

2. การยกระดับการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติให้ลึกขึ้นถึงระดับชื่อของผู้ได้รับผลประโยชน์แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners) เพื่อติดตามพฤติกรรมการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะเพื่อใช้เป็นที่พักเงินระยะสั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์แนวโน้มและกำหนดนโยบายหรือมาตรการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในระยะต่อไป ทั้งนี้ กำหนดให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด และพร้อมดำเนินมาตรการที่เตรียมไว้เพิ่มเติม หากยังพบพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินบาทในระยะต่อไป

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image