บล.ไทยพาณิชย์ คาดเทรดวอร์ยืดถึงปี’63 หั่นจีดีพีโตเหลือ 3.1% ลุ้นมาตรการกระตุ้นบริโภคในประเทศ

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง มองว่าจะเป็นการเติบโตแบบช้าๆ เพราะได้รับผลกกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะยืดเยื้อไปถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในปี 2563 เนื่องจากคาดว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯจะใช้สงครามการค้าเป็นเครื่องมือในการหาเสียง และสร้างคะแนนความนิยม ภายใต้การชูนโยบาย “Make America Great Again” หรือสหรัฐฯต้องมาก่อน

นายศรชัย กล่าวว่า ผลกระทบจากสงครามการค้า ทำให้ตัวเลขเติบโตของการส่งออกลดลง รวมถึงตัวเลขภาคการผลิตต่างๆ ก็ลดน้อยลง ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกลดการเติบโตลง โดยไทยพาณิชย์ได้ปรับลดคาดการณ์ ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ของประเทศไทยในปี 2562 ลงเหลือโตที่ 3.1% ซึ่งจะมีการติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องว่า มีแนวโน้มที่ภาคการส่งออกจะถูกกระทบมากไปกว่านี้หรือไม่ รวมถึงมีการจับตามองปัจจัยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างใกล้ชิดด้วย

นายศรชัย กล่าวว่า เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวเติบโตลดลงจากปี 2561 ซึ่งคาดว่าในปี 2563 จะเติบโตชะลอตัวลงมากกว่าปีนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลกระทบมาจากสงครามการค้า รวมถึงเป็นเรื่องของวงจรเศรษฐกิจ ที่หากมีการเติบโตต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน ก็ต้องเข้าสู่การพักตัวชะลอการเติบโตลง ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าเศรษฐกิจเติบโตได้ดีมากตลอด โดยขณะนี้เป็นช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ควรลดอัตราดอกเบี้ยลง เพราะขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่เข้าสู่ภาวะทดถอย แต่เริ่มมีอาการออกมาให้เห็นว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ ทำให้หากใช้เครื่องมือเข้ามาช่วยในช่วงนี้ก็น่าจะอยู่ในโทนที่เหมาะสมในการใช้นโยบายพอดี ซึ่งคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้ง เนื่องจากอยู่ในอัตราเงินเฟ้อที่ 1.6%

“รัฐบาลใหม่น่าจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเปิดเผยให้ตลาดรับรู้ ซึ่งค่อนข้างคาดหวังไปในเชิงบวกว่าจะมีมาตรการระยะสั้นที่มาสนับสนุนภาคการบริโภคภายในประเทศ เพราะการส่งออกขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกค่อยข้างเยอะ แต่ปัจจัยในประเทศน่าจะมีมาตรการที่สามารถกระตุ้นได้ง่ายกว่า ซึ่งนอกเหนือจากประเทศไทย ทั้งยุโรป สหรัฐฯ จีน ก็พยายามมุ่งเน้นในการกระตุ้นเซรษฐกิจภายในประเทศเองเป็นหลัก เพราะการบริโภคภายในประเทศจะเป็นส่วนพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ต่อ โดยความเชื่อมั่นจากการมีรัฐบาลใหม่และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เตรียมทำงานแล้ว ความจริงความเชื่อมั่นก็ได้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ตอนได้นายกรัฐมนตรีใหม่ จะเห็นว่ามีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้ามาในไทยเยอะมาก เพราะประเทศไทยกลับเข้าสู่กระบวนการแบบประชาธิปไตยอีกครั้ง ทำให้ประเทศที่อาจมีข้อจำกัดในเรื่องนี้ก็จะไม่มีข้อจำกัดนั้นแล้ว”นายศรชัยกล่าว

Advertisement

นายศรชัย กล่าวว่า กลยุทธ์ในการลงทุน ขณะนี้ภาพรวมตลาดหุ้นในจีนและสหรัฐฯยังดี แต่ต้องเน้นการลงทุนระยะสั้น ที่หากมีกำไรแล้วก็ควรขายทำกำไร การลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยงเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว หรือกองทุนระยะยาว โดยมองว่าตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่น่าลงทุนมาก เพราะเวียดนามเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ที่ได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากปัจจัยสงครามการค้า ซึ่งเวียดนามเป็นมิตรกับสหรัฐฯ เกาหลีเหนือ และสนิทกับจีนมาก ทำให้ได้เปรียบทั้งการเมืองและการค้า รวมถึงที่ผ่านมาตลาดหุ้นเวียดนามยังคงปรับตัวขึ้นมาช้ากว่าตลาดหุ้นไทย ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามยังมีราคาค่อนข้างถูก ทำให้เป็นตลาดหุ้นที่น่าสนใจ

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสแรก โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกสินค้าและบริการที่แท้จริงลดลง 4.9% โดยคาดว่าการส่งออกของประเทศในปีนี้จะโตติดลบ 1.6% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวนจากสถานการณ์สงครามการค้า รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า โดยเชื่อว่าในส่วนของค่าเงินบาทนั้นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้มาตรการในการดูแลอย่างเหมาะสม ทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้นได้ ซึ่งการส่งออกมีส่วนทำให้จีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้ โตลดลงเหลือ 2.8% โดยปัจจัยที่จะเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจในปี 2562 ต้องพึ่งการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวเป็นหลัก

“การพยุงเศรษฐกิจของประเทศคาดหวังว่า รัฐบาลจะมีนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศออกมา ด้วยการกระตุ้นการบริโภคในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่อยู่นอกประเทศ จึงจำเป็นต้องใช้นโยบายกระตุ้นภายในประเทศในการพยุงเศรษฐกิจแทน ซึ่งคาดว่าต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา เพื่อให้จีดีพีโตถึง 3% กว่าได้”นายสุกิจกล่าว

นายสุกิจ กล่าวว่า นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลคาดว่า จะมีการเพิ่มการลงทุน เพราะเป็นเรื่องการเติมจีดีพีในระยะยาว เพิ่มรายได้ของเกษตรกร เพราะเป็นฐานหลักของเกษตรกร มองว่าจะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อและลดภาระหนี้ลง การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่าจะค่อยๆ ปรับขึ้นเป็นขั้นบรรได เนื่องจากหากปรับขึ้นครั้งเดียวหรือมากเกินไป จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) มีความเสี่ยง รวมถึงการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทย ที่ผ่านมามีปัจจัยหนุนจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้า ซึ่งขณะนี้ได้มีรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ จึงคาดว่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น เนื่องจากความชัดเจนทางการเมือง รวมถึงการดำเนินนโยบายเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจและนักลงทุน โดยประเมินว่าดัชนีหุ้นไทยในครึ่งปีหลัง 2562 มีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,700-1,750 จุด

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image