พด. เตรียมฟื้นฟูแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปรับปรุงดินภาคอีสาน ตั้งเป้าเป็นศูนย์เรียนรู้ใหญ่ที่สุดในประเทศ

นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ติดตามงานการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด ของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 จังหวัดขอนแก่น โดยลงพื้นที่โครงการปรับปรุงและผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอนุรักษ์ดินและน้ำและพืชปรับปรุงดิน บ้านโสกขุ่น ต.กุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ซึ่งมีเนื้อที่รวม 793 ไร่ เพื่อเตรียมการพัฒนา ปรับปรุง และคัดเลือกพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ และพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์พืชอนุรักษ์ดินและน้ำและพืชปรับปรุงดิน ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พืชปุ๋ยสด ได้แก่ ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า ถั่วมะแฮะ และโสนอัฟริกัน เป็นพืชปรับปรุงบำรุงดิน โดยแต่ละปีจะมีงบประมาณสนับสนุนส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชปุ๋ยสด ประมาณ 3,000 ตันต่อปี คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 175,000 ไร่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหว่านเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด แล้วรอการเจริญเติบโตของพืชปุ๋ยสดเต็มที่ จึงไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยเคมีในการปลูกพืชหลักฤดูต่อไปได้เป็นอย่างดี 

Advertisement

โดยเฉพาะพื้นที่ปลูกข้าวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ที่ดูแลรับผิดชอบ 8 จังหวัดภาคอีสานตอนเหนือ  ได้สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ปอเทืองและถั่วพร้า ปลูกและไถกลบช่วงก่อนปลูกข้าว พื้นที่ 1 ไร่ ทำปุ๋ยพืชสด จะเพิ่มธาตุไนโตรเจน 30 กก./ไร่ คิดเป็นมูลค่าเมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีไม่น้อยกว่า 1,200 บาท/ไร่ ซึ่งสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5  ได้ขยายพื้นที่ผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดให้เป็นเมล็ดพันธุ์หลัก และเมล็ดพันธุ์ขยายในพื้นที่ศูนย์ผลิตพันธุ์พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ บ้านโคกขุ่น ต.กุดรัง อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม และพื้นที่แปลงเกษตรกรเครือข่ายที่ผ่านการอบรมการผลิตเมล็ดพันธุ์ จากผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ทุกปี เพื่อเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดกระจายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน

ในการนี้ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน มอบหมายกับผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 ผู้เชี่ยวชาญ และผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินในพื้นที่ภาคอีสาน ให้ควบคุมคุณภาพของเมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสด และถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในการปรับปรุงดินโดยใช้พืชปุ๋ยสด เพื่อลดต้นทุน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี นำสู่การผลิตที่ปลอดภัย และให้ผสมผสานวิธีการการจัดการดินแบบสหวิชาการ นำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image