เฉลียงไอเดีย : เจ้าพ่อละครซิทคอม-ละครเวที ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับความท้าทาย..ทีวีต้องไม่ตาย

เฉลียงไอเดีย : เจ้าพ่อละครซิทคอม-ละครเวที ถกลเกียรติ วีรวรรณ กับความท้าทาย..ทีวีต้องไม่ตาย

ฉายา “เจ้าพ่อละครซิทคอม” ที่พ่วง “เจ้าพ่อละครเวที” อีกตำแหน่ง คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากบิ๊กบอสแห่งช่องวัน 31 “บอย” ถกลเกียรติ วีรวรรณ ที่ผลิตผลงานมาหลายชิ้นกลายเป็นกระแสฮือฮา เป็นทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์ ถ้าพลาดไม่ดูก็จะคุยกับใครไม่รู้เรื่อง

ส่งผลให้ช่องวันไล่ระดับเรตติ้งจากเริ่มต้นตัวเลขสองหลักขึ้นมาติดกลุ่มท็อปเท็นภายในระยะเวลา 2 ปี ด้วยกลยุทธ์ “กล้าแตกต่าง” เป็นตัวผลักดันรายการออกสู่ตลาด

เส้นทางของนักสร้าง เริ่มต้นในปี 2533 หลังเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษาด้านสื่อสารมวลชนและละครเวที ก่อนคว้าปริญญาโทด้านการผลิตรายการโทรทัศน์จากมหาวิทยาลัยบอสตัน สร้างผลงานชิ้นแรกในประเทศ ในฐานะผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ไฟแรง จากละคร “นางฟ้าสีรุ้ง”

Advertisement

ละครออนแอร์แค่ 2 ตอน ได้เสียงตอบรับจากผู้ชมดีเกินคาด จากความต่าง กล้าเสนอความแปลกใหม่ด้วยการผสมผสานความเป็นละครครอบครัวเข้ากับแนวแฟนตาซีได้อย่างลงตัว ซึ่งหาไม่ได้ในยุคนั้น

ความสำเร็จจากละครเรื่องแรก ทำให้ชื่อของผู้กำกับหน้าใหม่กลายเป็นที่จับตามอง ขณะเส้นทางเดินในชีวิตเขาก็ยิ่งดูชัดเจนขึ้น หลังมีความแน่วแน่ในแนวทางของตนเอง แทนการเลือกเดินเส้นทางการเมืองตามรอยเท้าผู้เป็นพ่อ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.อำนวย วีรวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคนำไทย พรรคมวลชน อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แม้บิดาจะพยายามโน้มน้าวแต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนใจลูกชายคนเดียวคนนี้ได้

ความรู้มากมายที่สั่งสมมาในต่างแดน ไม่ได้มาจากในห้องเรียนเพียงเท่านั้น แต่การได้ออกไปสำรวจโลกกว้าง ทำให้เขามีไอเดีย ในการสร้างสรรค์ และผลิตผลงานคุณภาพ ตอกย้ำคำพูดที่ว่า “การได้ทุ่มเททำงานที่รักและชื่นชอบ ผลลัพธ์ย่อมออกมาดีเสมอ”

Advertisement

แม้ในวันนั้น จะเป็นอาชีพที่ผู้คนยังไม่ให้ค่าให้ราคามากนัก!

หลังความสำเร็จของละครเรื่องแรก ผู้กำกับมือทอง กล้าที่จะเลือกเปลี่ยนแนวละครที่ยังไม่เคยมีในเมืองไทย ณ ตอนนั้น สร้างละครซิทคอมจนติดทั่วบ้านทั่วเมือง นั่นคือละคร “3 หนุ่ม 3 มุม” แจ้งเกิดพระเอกใหม่ กบ-ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, แท่ง-ศักดิ์สิทธิ์ แท่งทอง และ มอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์

พอถึงยุคคนไทยใช้โมบาย อินเตอร์เน็ตในปัจจุบันกว่า 55 ล้านคน สามารถเข้าถึงคอนเทนต์หลากหลายทั้งไทยและต่างประเทศเพียงปลายนิ้ว ทั้งดูฟรีและออนดีมานด์ ท่ามกลางการขยายตัวของดิจิทัลแพลตฟอร์ม จึงมีคำถามอยู่บ่อยครั้งว่าทีวีจะตายหรือไม่? เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทีวีดิจิทัลบาดเจ็บล้มตายมีให้เห็นมากกว่าผู้ที่อยู่รอด

แต่ในมุมมองของบอย-ถกลเกียรติยังเชื่อว่าทีวีไม่ตาย! เขามองปัจจัยสนับสนุนคือทีวียังตอบโจทย์ฟังก์ชั่นสำคัญ คือพฤติกรรมคนไทยเปิดทีวีไว้เป็นเพื่อน แค่ให้ได้ยินเสียง เมื่อมีภาพที่สนใจจึงหันมาดู มีทั้งกลุ่มที่เปิดทีวีฟังและทำงานอื่นๆ ไปด้วย และกลุ่มที่ฟังหรือดูทีวีพร้อมแชต ออนไลน์ พูดคุยเนื้อหารายการทีวีกับกลุ่มเพื่อน พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้รายการที่มีเวลาออกอากาศยาวอย่างละคร ซีรีส์ ภาพยนตร์ต่างประเทศ ของช่องทีวีที่มีคอนเทนต์ดังกล่าว มีเรตติ้งติดในกลุ่มผู้นำ

“การเปิดทีวีฟังเป็นเพื่อน มีเพียงสื่อทีวีเท่านั้นที่ทำฟังก์ชั่นนี้ได้ และไม่มีสื่อใดแทนที่ เพราะหากเป็นสื่อออนไลน์ยังต้องใช้สมาธิทั้งการดูหน้าจอและใช้มือกดหาคอนเทนต์”

ปัจจุบันทีวียังเป็นสื่อที่เข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศมากหรือเกือบ 100% ปีที่ผ่านมาช่องวันเข้าถึงคนไทย 94% หรือ 62 ล้านคน ปีนี้วางเป้าหมายเข้าถึงผู้ชมไทย 98% หรือ 64 ล้านคน และในช่วงไพรม์ไทม์ เวลา 18.00-22.30 น. ช่องวันมีคอนเทนต์ละคร และวาไรตี้ ที่ดึงผู้ชมมาอยู่กับสถานีได้เพิ่มขึ้น เดือนมกราคมเรตติ้งไพรม์ไทม์อยู่อันดับ 6 เพิ่มขึ้น 8%, เดือนกุมภาพันธ์เรตติ้งขยับมาที่อันดับ 5 เพิ่มขึ้น 26% เดือนมีนาคม-พฤษภาคมเรตติ้งขึ้นมาอยู่อันดับ 3

วันนี้รายได้หลักช่องวันมาจากโฆษณาทีวี 70% เมื่อเรตติ้งรายการเพิ่มขึ้น ก็สามารถขยับราคาโฆษณาได้ต่อเนื่อง แต่วันนี้สมรภูมิการแข่งขันหน้าจอทีวีไม่ได้ลดลง แม้จะมีทีวีดิจิทัลขอคืนใบอนุญาต 7 ช่องก็ตาม โดยในปี 2561 ช่องวันมีผลประกอบการ “ขาดทุน” 500 ล้านบาท แต่ปี 2561 พลิกมากำไร 28 ล้านบาท ปี 2562 วางเป้าหมายรายได้เพิ่มขึ้น 15% กำไรเติบโต 100% และจะทำกำไรต่อเนื่องในปี 2563 ช่วงปลายปีเดียวกันจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

“คนที่ไม่คืนช่องคือยังสู้ต่อไป และทุกคนได้ประโยชน์เหมือนกัน คือต้นทุนค่าใช้จ่ายจากค่าใบอนุญาตและค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (มักซ์) ลดลง ช่องวันลดลงไปราว 200 ล้านต่อปี จากนี้จะเห็นทุกช่องที่เลือกอยู่ต่อ จะใส่คอนเทนต์เต็มที่”

จากนี้ต้องจับตาและเอาใจช่วยให้ทีวีดิจิทัล 15 ช่องธุรกิจและอีก 4 ช่องสาธารณะที่เหลือยืนหยัดจนสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนพฤษภาคม 2572 รอด..ไม่รอด รอดู

อัมพวัน อยู่กระทุ่ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image