สารคดีเสียงจากแผ่นดิน#5 – EP.23 “ชุมชนเกาะพิทักษ์” จ.ชุมพร สร้างกลุ่มอาชีพเชื่อมโยงการท่องเที่ยว จดคัมภีร์ครัวเรือน ปลดหนี้ 29 ล้านบาท

“ชุมชนเกาะพิทักษ์” ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ชุมชนขนาด 50 ครัวเรือน ที่ให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติรอบเกาะและพัฒนาสร้างกลุ่มอาชีพเชื่อมโยงการท่องเที่ยว
จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่หลายคนถวิลหา

คุณอำพล ธานีครุฑ ผญ.บ.เกาะพิทักษ์ เล่าให้ฟังว่า การจะให้ชาวบ้านทำการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรให้มันยั่งยืนได้ มาคิดอยู่เรื่องหนึ่งว่าถ้าอนุรักษ์มันสมบูรณ์ขึ้นทำไมไม่เอาคนข้างนอกมาดูแลเราด้วย ให้มาดูว่าคนเกาะพิทักษ์ไม่ได้พึ่งพารัฐเขา ทำได้ก็เลยมาคิดว่าการท่องเที่ยวดีที่สุ จึงเริ่มนำการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนทุกเรื่องเพราะการท่องเที่ยวผมถือว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม สังคม พัฒนาคน พัฒนาชุมชนให้มันเกิดขึ้นได้

การรณรงค์ให้ชาวบ้านรู้คุณค่าของทรัพยากรและดึงสิ่งที่มีในชุมชนมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนทำให้เกิดการเรียนรู้ธรรมชาติอย่างเข้าใจ เกิดการร่วมกลุ่มสร้างอาชีพที่เพิ่มมูลค่า
ให้กับวัตถุดิบที่มีในชุมชนเพิ่มขึ้น

Advertisement

“เกาะพิทักษ์ อาชีพหลักๆคือการประมงพื้นบ้าน เมื่อก่อนออกไป ได้ปู ได้ปลา ต้องรอนายทุน ต้องรอพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นการถูกบีบรัดเรื่องเงินเรื่องราคาสินค้ามันหนัก บางทีขายไม่ได้ปล่อยให้ปลาเน่า พอเแปรรูปขึ้นมา หาตลาดขายไม่ได้ แต่พอเรา เอาการท่องเที่ยวเข้ามาใส่ลูกหลานที่ได้ปลามาเล็กๆน้อยๆแม่นั่งอยู่ที่บ้านมานั่งแปรรูป ชวนลูกหลานมานั่งสอนการแปรรูปปลาเค็มฝังทราย ทุกแห่งถ้าเอาการท่องเที่ยวเครื่องมือคุณจะทำอะไรสำเร็จหมด”

คุณพิชญาภา ปลอดสุวรรณ ประชาสัมพันธ์กลุ่มผ้ามัดย้อมบ้านเกาะพิทักษ์ กล่าวว่า ชาวบ้านนอกจากว่าเราทำโฮมสเตย์และทำประมงแล้ว ช่วงหน้ามรสุมจะว่างผู้ใหญ่เขาก็เลยบอกว่าในเมื่อว่างเราจะทำอะไรดีไหม แบบว่าหารายได้เสริมเราก็เลยมอง เห็นว่าหลายๆที่ อย่างนักทองเที่ยวที่มาเขาใส่ผ้ามัดย้อม เราก็เลยลองว่าเราน่าจะทำดู ก็เลยลองดู

“ตอนแรกที่เริ่มในกลุ่มจับกลุ่มกันแค่ 10 คน หลังจากนั้นมามาทดลองทำแล้วก็พูดในที่ประชุม ทุกเดือนเราจะมีการประชุมหมู่บ้านกัน เราก็พูดกันว่า ถ้าเราเข้ามาร่วมกลุ่มกันเยอะๆ เราก็สามารถสร้างรายได้ขึ้นมาอีก…ช่วงหน้ามรสุมเราจะได้มี
อะไรทำมากขึ้น”

Advertisement

ด้านคุณยุพา รอดรักษา สมาชิกกลุ่มผ้ามัดย้อมบ้านเกาะพิทักษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เราก็มีวัตถุดิบในหมู่บ้านเราอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติ เป็นใบไม้ เป็นพวก กาบมะพร้าว ไม้เขี้ยมอะไรพวกนี้ เวลามาทำ เราสามารถจะหยิบจับมาทำได้โดยที่ไม่ต้องซื้อไม่ต้องมีต้นทุนเยอะ แล้วก็มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย

และด้วยการทำงานที่แบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน มีการวางแผนร่วมกันอย่างเป็นระบบส่งผลทำให้ชุมชนเกาะพิทักษ์ยกระดับเป็นชุมชนอยู่ดีมีสุขที่เต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย

“ทุกเดือนเราก็มีการประชุมว่ามีปัญหาอะไรไหมแล้วก็นำมาแก้ไขปัญหาพวกนี้ เวลามีงบประมาณอะไรเข้ามา ผู้ใหญ่ต้องถามชาวบ้านก่อนไม่ได้ว่านั่งเทียนคนเดียวว่าต้องทำนั้นทำนี้ ผุ้ใหญ่จะเรียกมาก่อน ประชุมแล้วก็ถามว่าต้องการแบบนี้ไหมถ้าไม่ต้องการผู้ใหญ่ก็ไม่บังคับ แต่ว่าเราต้องคิดเอาเองว่าเราสมควรจะทำงานนี้ไหมทำแล้วได้อะไร ชาวบ้านได้อะไร เราก็ต้องคิดจากตัวเราเองด้วย”

คุณอำพล กล่าวอีกว่า การรวมคนเกาะพิทักษ์ยากมากเพราะคนเกาะพิทักษ์แตกเป็นเสี่ยงหมด เพราะแตกเป็นเสี่ยงหมด แล้วกว่าจะรวมเสี่ยง คือ 32 หลังคาเรือน เป็นหนี้ 29 ล้าน เพราะถือว่าหลังคาเรือนละเกือบล้านบาท ภายใต้ที่คนเกาะพิทักษ์เป็นหนี้อยู่ กว่าจะรวมคนพวกนี้ได้ ผมใช้เวลา 7 ปี เต็ม การทำงานของผม ผมไม่เคยคิดเอาเงินเป็นที่ตั้ง แต่เวลาขับเคลื่อนงานมันต้องไปหาเงินทุกครั้งนั้นคือปัญหาหลักเรื่องทุนเราต้องขับเคลื่อนงานเอง กว่าจะขอตังค์ชาวบ้านให้เขาเข้าใจได้รวมกลุ่มกันลงหุ้นกันลงขันกัน

การทำงานที่โปร่งใสเปิดรับความคิดเห็นจากทุกมิติช่วยผลักดันให้คนในชุมชนรู้จักวางแผนวางเป้าหมายการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับบริบทของชุมชน

“หลักจริงๆคนเกาะพิทักษ์ ทำบัญชีตัวเอง รายได้เท่าไร มีรายจ่ายเท่าไร ต้องใช้จ่ายแล้วคิดกัน อีกส่วนคุณต้องมาตุนตรงนี้ และกว่าจะเอาเงิน 3 เปอร์เซ็นต์คุยให้เขาตกผลึกได้คนเราทุกแห่งคิดอย่างเดี่ยวว่าเงิน 3 เปอร์เซ็นต์คุณเอาไปทำอะไรถ้ามอง ภาพส่วนรวมจริงๆ ภาพทั่วประเทศไทย ถ้าผู้นำไปเที่ยวไปกำเงินเป็นกองๆไว้มันทำงานไม่ได้ แต่ผมมีวิธีผมจะตั้งคนดุแลเป็นกลุ่มๆกันไป ผมจะไม่แตะเรืองเงิน คือเอาตัวเองเป็นตัวอย่างให้เขาดูว่าเราทำจริงนะไม่ได้พูดอย่างเดียว ดังนั้นการทำงานทุกแห่ง มันล่มสลายเพราะผู้นำเอาแต่พูดอย่างเดียว พูดแล้วสร้างภาพ แต่ตัวเองไม่ลงมือปฏิบัติ” คุณอำพล กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image