เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีไทยปี’62 เหลือ 2.7% ชี้มาตรการกระตุ้นศก.มาทันเวลาพอดี

นายแอนดรู เมสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในปี 2562 เหลือ 2.7% จากเดิมที่คาดการ์ณไว้ที่ 3.5% เนื่องจากภาคการส่งออกที่ติดลบในครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งคาดว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 5.3% จากครั้งก่อนคาดว่าจะโจได้ 2.2% รวมถึงในปีนี้ประเทศไทยยังประสบปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบหลายปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำ ซึ่งมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขของการลงทุนภาครัฐ พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2563 เหลือโตที่ 2.9% จากเดิมคาดว่าจะโตที่ 3.6% ก่อนจะเพิ่มขึ้นในปี 2564 ที่  3.0% โดยประเมินว่าประเทศไทยมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ไม่ดีเท่าที่ควร จากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสุด ความล่าช้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และสถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง ที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวไทย

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลอนุมัติออกมาในเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา มุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยทำผ่านการโอนเงินให้โดยตรง รวมถึงการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การคืนภาษีจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การขยายยกเว้นค่าวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนด น่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนในระยะกลาง ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกำลังของมาตรการทางการคลังต่อไป ขณะที่สถานการณ์ความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ที่อาจจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจต่อความเหนียวแน่นของรัฐบาลใหม่ ที่เป็นรัฐบาผผสมจาก 19 พรรคการเมือง รวมทั้งความล่าช้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ อาจส่งผลในทางลบต่อมุมมองของนักลงทุนและความมั่นใจของผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีความคืบหน้าบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินงานต่อไป”นายแอนดรูกล่าว

นายเกียรติพงษ์ อริยปรีชา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า การปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยเหลือ 2.7% น่าจะใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.7-2.9% และมีอัตราต่ำสุดในภูมิภาค เพราะเป็นประเทศอยู่ในช่วงกำลังพัฒนา ทำให้มีความสามารถในการพัฒนาที่แตกต่างกัน รวมถึงการที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเร็วที่สุดในอาเซียน ทำให้ประชากรในวัยทำงานลดน้อยลงตามไปด้วย แต่ยังโชคดีที่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการประเมินถึงความต่อเนื่องในนโยบายของภาครัฐที่ดูมีความท้าทาย แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีความก้าวหน้าในด้านของความต่อเนื่องในนโยบายของภาครัฐ โดยหากมองไปข้างหน้า ยังประเมินว่าประเทศไทยยังมีช่องว่างในนโยบายการเงินและการคลังที่เพียงพอในการปฎิรูปด้านการเงินในประเทศ

นายเกียรติพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวลง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคอย่างชัดเจน ซึ่งมีสาเหตุจากนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่สร้างผลกระทบให้กับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอการเติบโตลง จึงเป็นผลทำให้การส่งออกไทยโตลดลง พร้อมทั้งมีปัจจัยในประเทศอย่างค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเดียวกันเป็นเพราะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจปัจจุบัน ทำให้นักลงทุนต้องหาพื้นที่ที่ปลอดภัยในการลงทุน ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในหลายด้าน อาทิ เงินเฟ้อต่ำ หนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่มีออกมาในขณะนี้ ถือว่ามาได้ทันเวลา เนื่องจากขณะนี้จะเห็นได้ว่าตัวเลขภาคการส่งออกเติบโตลดลง อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศยังชะลอการเติบโตลง ซึ่งช่องว่างมาตรการการเงินการคลังของประเทศไทยยังมีพื้นที่อยู่มาก ทำให้ยังสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร อาทิ ภาคอีสาน รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง”นายเกียรติพงษ์กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image