“ศักดิ์สยาม” เชื่อไฮปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน 25 ต.ค.นี้จรดปากการ่วมกันได้แน่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ความคืบหน้าหลังจากวันที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้มีการเลื่อนลงนามสัญญาร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน ออกไปเป็นวันที่ 25 ตุลาคมนี้ เวลา 12.00 น.แทน ซึ่งจะลงนามกันที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สาเหตุที่เลื่อนเป็นเพราะต้องรอการเห็นชอบจากคณะกรรมการรฟท. หรือบอร์ดรฟท.ก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแต่งตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ หลังจากชุดเก่าลาออกไปยกชุด โดยเบื้องต้นได้ทำหนังสือแจ้งไปยังกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (ซีพีเอช) หรือเครือเจริญโภคภัณฑ์ถึงการเลื่อนแล้ว สำหรับการแต่งตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้พิจารณารายชื่อบอร์ดรฟท. และส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสามารถเสนอครม.ได้ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ เพื่อแต่งตั้งบอร์ดรฟท.ชุดใหม่ และเริ่มประชุมเรื่องการเซ็นสัญญาในโครงการดังกล่าวทันที

“การเซ็นสัญญาในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ มั่นใจว่าเอกชนจะมาลงนามในสัญญาร่วมกัน ตามที่นัดหมายไว้อย่างแน่นอน เพราะถือเป็นวันสุดท้ายที่จะมีโอกาสเซ็นสัญญาแล้ว และจะไม่มีการขยายเวลาเพิ่มให้อีกต่อไป และหากดูตามเงื่อนไขการร่างข้อเสนอ (อาร์เอฟพี) พบว่าการทำสัญญาร่วมกันได้ล่าช้ามามากแล้ว และเขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า หากวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ทางผู้ได้รับคัดเลือก ไม่มาลงนามในสัญญา จะมีเงื่อนไขและต้องดำเนินการอย่างไร โดยหากเอกชนไม่มาทำสัญญาตามกำหนด ก็ต้องเป็นผู้ทิ้งงานภาครัฐและติดแบล็คลิสต์ ซึ่งเชื่อว่าหากทุกคนเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศ ยึดตามกฎหมาย และดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องทำกันอย่างตรงไปตรงมา อยู่ในกรอบของกฎหมายอยู่แล้ว รวมถึงได้เน้นย้ำมาตลอดว่า ขอให้ผู้ที่ชนะการประมูลทำตามกรอบกฎหมาย และอย่าทำในสิ่งที่ไม่เข้าใจ หากสงสัยให้ถามมา อย่าคิดเอาเอง เพราะโครงการเหล่านี้ก็มีต้นแบบอยู่แล้วว่า การประมูลงานของภาครัฐควรทำอย่างไร ปฎิบัติอย่างไรไม่ให้ผิดหลักที่ควรทำ”นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เนื่องจากมีการกำหนดวันเซ็นสัญญาที่ชัดเจนอยู่แล้ว ตามกำหนดและเงื่อนไขที่มี จึงมองว่าไม่ได้เป็นการบีบบังคับให้ภาคเอกชน มาร่วมลงนามสัญญาด้วยกัน เพราะในขั้นตอนการดำเนินโครงการก็มีเงื่อนไขเวลาบอกไว้ชัดเจนว่า วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 เป็นวันสิ้นสุดการยืนราคา จึงไม่น่าจะใช่การบีบบังคับแน่นอน เพราะหากบังคับคงทำไปนานแล้ว ซึ่งหากดูในการการร่างข้อเสนอ ตามเงื่อไขของข้อกฎหมายแล้ว ถือว่าการเจรจาทั้งหมดได้ทำครบถ้วนแล้ว ไม่น่าจะเหลืออะไรที่ต้องหารือมากกว่านี้อีก ที่เหลือจึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องความเข้าใจร่วมกันมากกว่า สำหรับช่วงหลังจากที่เซ็นสัญญาร่วมกันสำเร็จแล้ว เงื่อนไขที่อยู่ในการร่างข้อเสนอ ภาครัฐจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ อาทิ การส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่แล้ว 72% ซึ่งรฟท.ยืนยันว่ามีความพร้อมในการส่งมอบทั้ง 72% และมีรายละเอียดอยู่ในมือแล้วว่า สามารถส่งมอบพื้นที่ใดได้บ้าง เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถวางแผนในการก่อสร้างในจุดที่พร้อมส่งมอบได้ก่อน ในส่วนของพื้นที่ที่ยังติดการรื้อย้ายสาธารณูปโภค จะให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่างๆ ได้มาชี้แจงแผนการรื้อย้าย และงบประมาณที่ต้องใช้ ระยะเวลาในการรื้อย้าย เพื่อทำแผนการส่งมอบให้กับผู้รับจ้างให้ชัดเจนอีกครั้ง หลังจากมีการลงนามสัญญาต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าคดีค่าโง่โฮปเวลล์ เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสรุปแนวทางการชำระค่าเสียหายมูลค่า 12,000 ล้านบาท ได้พร้อมเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าผู้รับผิดชอบในการจ่ายเงินผ่านการกู้เงินจะเป็น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ในส่วนของรูปแบบการชำระเงินอาจจะต้องขอเจรจากับเอกชนก่อน เพื่อผ่อนจ่ายเป็นงวด ไม่จ่ายทีเดียวทั้งหมด เพื่อลดภาระทางการเงินให้กับรฟท. ควบคู่ไปกับการขอลดอัตราดอกเบี้ยลง จากเดิมมัมูลค่า 13,000 ล้านบาท ในขณะที่การยื่นฟ้องศาลเพื่อหาผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดค่าโง่โฮปเวลล์ขึ้น เป็นคนละคดีกับเรื่องการชดเชยให้กับภาคเอกชน ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องทำคู่กันไป โดยขณะนี้มั่นใจว่าภาครัฐจะชนะในการฟ้องร้องครั้งนี้ เพราะมีหลักฐานเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่สามารถมัดตัวผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ แต่การยื่นฟ้องศาลกระทรวงคมนาคมไม่สามารถยื่นฟ้องซ้ำซ้อนในคดีลักษณะเดียวกันได้ จึงจะส่งมอบให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนตามเงื่อนไขของกฎหมาย ซึ่งตอนนี้คาดว่าหน่วยงานที่รับดำเนินการจะเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

Advertisement

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นอกจากนี้ ในฐานะประธานในงานวันคล้ายวันก่อตั้งครบรอบ 17 ปี ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ยังได้มอบนโยบายแบบไม่เป็นทางการให้ทช. โดยได้กำชับให้อธิบดี และผู้บริหารของทช. ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งได้งบกลางจากสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลัง โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อให้หากกรมบัญชีกลางสามารถพิจารณางบได้รวดเร็ว ก็สามารถดำเนินการได้ทันที พร้อมเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะมีในภาคใต้ โดยเตรียมความพร้อมในด้านเครื่องมือต่างๆ รวมถึงตั้งศูนย์ช่วยเหลือ เพื่อรองรับสถานการณ์ไม่ครดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันต้องติดตามนโยบายที่จะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา โดยทช.ได้เร่งรัดสั่งการทดสอบและออกแบบแบริเออร์ที่ประกอบด้วยยางพาราแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ตุลาคมนี้ จะได้เห็นรูปแบบที่พร้อมใช้งานชัดเจนขึ้น

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image