‘หอการค้า’ ห่วงดัชนีเชื่อมั่นฯ วูบยาวถึงปีหน้า กังวลเศรษฐกิจแย่-ห่วงการเมืองไม่นิ่ง ฉุดจีดีพีดิ่งต่ำ 2.5%

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยนายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปี 2563 คาดจะขยายตัวในกรอบ 2.7-3.1% การส่งออกขยายตัว 1.8% แนวโน้มดีขึ้นกว่าปีนี้ที่คาดจีดีพีขยายตัว 2.6% และการส่งออกติดลบ 2.4% โดยภาครัฐจะต้องใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินประสานกัน คาดการณ์ว่างบประมาณประจำปี 2563 ออกมาในช่วงต้นปี และรัฐบาลเร่งใช้จ่ายงบประมาณ มีการลงทุนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) รวมทั้งการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งชิมช้อปใช้ ประกันรายได้เกษตรกร กระตุ้นเศรษฐกิจต่อ นอกจากนี้ต้องจับตาจะมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหรือกระตุ้นการท่องเที่ยวอกมาเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและมีแรงส่งในการขยายตัวช่วงที่เหลือของปี ขณะที่มาตรการทางการเงิน ภาครัฐอาจจะมีการให้สถาบันการเงินของรัฐมีการผ่อนคลายสินเชื่อในธุรกิจเฉพาะและในกรอบที่เหมาะสมเพื่อเป็นการกระตุ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก เกษตร เป็นต้น ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงต้นปี 2563 แต่หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ลงมาอยู่ที่ 1.00% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์อีกครั้งได้ในช่วงไตรมาสที่กลางปี 2563

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือนพฤศจิกายน 2562 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ทั้งเศรษฐกิจโดยรวม เศรษฐกิจปัจจุบันและเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีอยู่ที่ 56.4 จาก 57.9 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 ขณะที่ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในปัจุบัน อยู่ที่ 39.7 จาก 40.9 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 241 เดือนหรือ 20 ปี 1 เดือนตั้งแต่เดือนพฤกษภาคม 2552 ด้านเศรษฐกิจในอนาคตด (ใน 6 เดือนข้างหน้า หรือธันวาคม 2562-พฤษภาคม 2563) ลดลงมาอยู่ที่ 73.2 จาก 74.8 อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 66 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ดัชนีความเชื่อมั่นยังลดลงต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของประชาชนที่ยังไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำความกังวลต่อเสถียรภาพการเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยประชาชนยังจับตามองปัญหาเดิม ๆ ทั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ กังวลการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง การยุบสภา งบประมาณประจำปี 2563 ยังไม่ออกมา ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐและจีนที่ยังมีความไม่แน่นอน สถานการณ์เบร็กซิท การแข็งค่าของค่าเงินบาทที่กระทบต่อการแข่งขันของผู้ส่งออกและการท่องเที่ยว ความกังวลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าใช้จ่าย

“เดิมคาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคใรเดือนพฤศจิกายนนี้จะปรับดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาทำให้เห็นการผงกหัวขึ้นของดัชนี แต่ผลสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 7% ตั้งแต่ต้นปี ทำให้การส่งออกเดิมที่คาดขยายตัว 3% กลับติดลบ 2% เม็ดเงินหายไปกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งค่าเงินบาทแข็งกระทบต่อการท่องเที่ยว คาดนักท่องเที่ยวลดลงราว 5 หมื่นคน รายได้การท่องเที่ยวหายไป 5 หมื่นล้านบาท ประกอบกับความกังวลด้านการเมือง ผู้บริโภคจึงไม่กล้าใช้จ่าย แนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไปนั้น คาดว่าช่วง 3 เดือน ตั้งแต่ธันวาคม 2562 ไปจนถึงมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563 ปัจจัยความกังวลทั้งในประเทศและต่างประเทศจะคลี่คลายลงบ้าง น่าจะเริ่มเห็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น แต่หากช่วง 3 เดือนนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่อง จะเป็นการลดลงในรอบ 12 เดือนหรือในรอบ 1 ปี ถือเป็นความเสี่ยงรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งจีดีพี ปี 2563 อาจจะต่ำกว่า2.5% ได้” นายธนวรรธน์ กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image