‘หอการค้า’ แนะหากงบปี 63 เบิกจ่ายได้แล้ว รัฐควรเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบ

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย เปิดเผยว่า เมื่องบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ผ่านมติสภาฯแล้ว เชื่อว่ามีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ แต่ต้องเร่งกับความคุ้มค่า เพราะแบ่งเป็นงบที่ใช้ได้ไม่ถึง 21% ส่วนที่เหลือเป็นงบประจำ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ในส่วนอื่นๆ ได้ โดยหากสามารถใช้เม็ดเงินกระจายได้อย่างทั่วถึง ทำให้คุ้มค่า งบส่วนนี้ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้

ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าวว่า ทางออกทางเดียวคือ ต้องหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะภาคการส่งออก ก็พึ่งพารายได้ได้ยากมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ปัจจัยต่างประเทศ ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีได้มากนัก โดยเฉพาะความเสี่ยงในตะวันออกกลาง ที่อาจจะกลับมาสร้างความกังวลได้ทุกวินาที ทำให้ภาคการส่งออกที่สร้างรายได้หลักกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ไม่สามารถพึ่งหาได้อีกต่อไป ประกอบกับภาคการท่องเที่ยว ก็เจอผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 ซึ่งคาดว่าจะทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน และชาติอื่นๆ ที่หายไปกว่า 2.5 แสนล้านบาท ก็ทำให้การพึ่งพาเครื่องจักรหลักทั้ง 2 ด้าน ทำได้เหนื่อยและเป็นไปได้ยากมากขึ้น

“ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เหมือนประเทศไทยกำลังติดหวัด ไข้ตัวแรกมาจากสงครามการค้า (เทรดวอร์) การถอนตัวจากยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) และปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ทำให้ภาคการส่งออกไทยติดลบต่อเนื่อง จนไข้ขึ้นสูงและมีอาการไอแห้ง เพราะเจอปัญหาภัยแล้งกระทบกับภาคการเกษตร ต่อมาเริ่มหายใจติดขัด เพราะงบปี 2563 ล่าช้ากว่าปกติ ทำให้หากงบประมาณสามารถเบิกจ่ายได้ ก็จะหายใจโล่งขึ้น บรรยากาศในประเทศก็เริ่มดีขึ้นระดับหนึ่ง ส่วนอาการไข้ยังไม่หาย เพราะเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงต้องพยายามประคับประคองอาการต่อไป” ว่าที่ ร.อ.จิตร์

ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าวว่า สิ่งที่ต้องพยายามมากกว่านี้คือ การทำให้คนที่มีกำลังซื้อและมีศักยภาพในการใช้จ่าย ใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น หรือออกเดินทางในประเทศมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลในเรื่องโรคระบาด เพราะต้องเริ่มจากคนในประเทศที่มีความสามารถในการใช้จ่าย ส่วนคนที่ไม่มีกำลังใช้จ่าย ไม่ต้องพูดถึงเลย เพราะไม่มีเงินใช้ จะเข้าไปกระตุ้นอย่างไรก็ไม่มีใช้อยู่ดี โดยจะต้องหาทุกวิธีในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศทดแทน ในส่วนของการท่องเที่ยวในประเทศ จะต้องจัดมหกรรมใหญ่ๆ ตามเมืองรองหรือเมืองหลักอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทั้งปี เพื่อกระตุ้นไทยเที่ยวไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ ลดความกังวล และดึงดูดเข้ามาเที่ยวตามเดิม แต่ต้องไม่ใช่การแจกเงิน เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะนี้

Advertisement

ว่าที่ ร.อ.จิตร์กล่าวว่า นอกจากนี้ งบประมาณที่จะออกมานั้น หากนำไปใช้ในภาคเกษตร ด้วยการขุดบ่อน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เองนั้น ต้องช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม โดยต้องหาวิธีทำให้เม็ดเงินลงไปสู่แรงงานด้วย รวมไปถึงโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น หากจะทำถนน 1 เส้น ปกติใช้เวลา 6 เดือน รัฐต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไป เพิ่มการจ้างงานล่วงเวลา (โอที) เพื่อให้แรงงานทำงานได้มากขึ้น ร่นเวลาในการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น ประชาชนได้ใช้สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้เร็วขึ้น และเม็ดเงินก็จะกระจายได้ทั่วถึงมากขึ้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image