วันที่ 12 มีนาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานภาวะหุ้นวันนี้ว่า หุ้นเคลื่อนไหวในแดนลบ โดยเปิดตลาดภาคเช้ามาที่ระดับ 1,249.89 จุด ปิดตลาดภาคเช้าที่ระดับ 1,140.0 จุด ก่อนปิดตลาดภาคบ่ายที่ระดับ 1,114.91 จุด ปรับลดลง 134.98 จุด หรือ 10.80% โดยดัชนีทำจุดสูงสุดที่ระดับ 1,187.39 จุด และทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,095.37 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 101,652.04 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น นักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิ 4,636.95 ล้านบาท นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ 4,077.94 ล้านบาท นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ 1,928.87 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปในประเทศ ซื้อสุทธิ 10,643.76 ล้านบาท โดยดัชนีลบน้อยสุด 62.50 จุด ลบมากสุด 154.52 จุด
โดยนายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทย ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงร้อนแรงกว่า 10% ส่งผลให้ต้องใช้มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราวกรณี (เซอร์กิตเบรกเกอร์) 1 ครั้งในภาคบ่าย ซึ่งถือเป็นการใช้ครั้งแรกในรอบ 11 ปี 4 เดือน สาเหตุหลักมาจากความกังวลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดแบบเร่งตัวขึ้นในยุโรป ส่วนในประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 11 ราย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่พบผู้ติดเชื้อจำนวน 2 หลักภายในวันเดียว จึงทำให้ภาวะการลงทุนถูกกดดันจากโรคระบาด รวมถึงในวันที่ 11 มีนาคม 2563 องค์การอนามัยโลก (ดับเบิ้ลยูเอชโอ) ได้ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วโลก อีกทั้งสหรัฐยังไม่มีมาตรการอย่างเต็มรูปแบบออกมา บอกเพียงแค่วงเงิน 200,000 ล้านบาทที่จะใช้เท่านั้น ซึ่งตลาดยังรอดูการตอบรับมาตรการที่สหรัฐออกมาอยู่ ว่าจะสามารถตอบสนองตลาดทุนได้มากน้อยเท่าใด ในขณะทีฝั่งยุโรปเอง นางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีชาวเยอรมนีกว่า 70% ที่มีโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงสร้างแรงกังวลเพิ่มขึ้นในทุกภาคส่วน โดยหุ้นเอเชีย ปรับลดลง 5% ตามดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ที่ปรับลดลงกว่า 1,465 จุด ตามมาด้วยยุโรป ลดลง 6-7% ส่วนไทยปรับลดลงมาแรงมาก ซึ่งก็เป็นไปตามทิศทางของตลาดเกิดใหม่ อาทิ ฟิลิปปินส์ ที่ลดลงกว่า 10% เช่นกัน
“ในภาพรวมหากดูสถิติการใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ 3 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม ปี 2549 เป็นการใช้มาตรการกันสำรอง 30% (แคปปิตอลคอนโทรล) เพื่อป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินบาท ซึ่งไม่สามารถประเมินจากครั้งนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่หากดูอีก 2 ครั้งที่เกิดขึ้น สาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้หากอ้างอิงจาก 2 ครั้งล่าสุด หลังจากใช้มาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์แล้ว ในวันรุ่งขึ้น ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 5% ส่วนวันถัดๆ ไปจะขึ้นเฉลี่ยประมาณ 8% จึงเชื่อว่าหากไม่มีปัจจัยอะไรที่เข้ามาสร้างความเหนือคาดหมายอีก สถิติก็ควรจะทำงาน เนื่องจากยังมีความหวังอยู่ จากการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งเชื่อว่าจะต้องอัดฉีดเงินเยอะมากๆ เพราะการกระบาดในตอนนี้ไปรุนแรงในยุโรป และไปหนักที่ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจเยอะมากอยู่แล้ว จึงคาดหวังว่าอีซีบีจะต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเยอะมากขึ้น รวมถึงการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง ทำให้ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความหวังเหลืออยู่เลย” นายณัฐพลกล่าว
นายณัฐพลกล่าวว่า ส่วนในประเทศไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นขึ้นมา ซึ่งจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงยังไม่แน่ใจ แต่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้ในระดับหนึ่ง รวมถึงมีมาตรการที่จะบรรเทาผลกระทบในแง่ของเศรษฐกิจ หรือตลาดทุน ชุดที่ 2 หรือ 3 ออกมาเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้ โดยมองว่ามาตรการที่เหลืออยู่มีทางเลือกอีกไม่มาก จึงคาดว่าจะมีโอกาสเห็นมาตรการทางภาษีส่วนบุคคล และนิติบุคคลออกมาได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลบวกในระยะถัดไป ในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาวจะกลับมาดีขึ้น ก็ต่อเมื่อเจอวัคซีนที่จะสามารถรักษาเชื้อไวรัสได้และ สามารถควบคุมไวรัสได้อย่างจริงจัง ซึ่งหากเจอแล้วจะทำให้ดัชนีหุ้นฟื้นได้ในระยะยาว สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวในขณะนี้ แนวรับระดับ 1,100 จุด บวกหรือลบ 10 จุด แนวต้าน 1,120 จุด ถัดไป 1,130 จุด และ 1,150 จุด กลยุทธ์ที่แนะนำในการลงทุนคือ จากเดิมแนะนำให้ปรับลดน้ำหนักในการลงทุน แต่ขณะนี้ถือเป็นจุดที่น่าสนใจในการเข้าลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี ทั้งด้านกระแสเงินสดมั่นคง และมีปันผลอยู่บ้าง กลุ่มแรกคือ หุ้นกลุ่มสื่อสาร อาทิ แอดวานซ์ อินทัช และหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า อาทิ จีพีเอสซี รวมถึงหุ้นกลุ่มอาหารและค้าปลีก อาทิ ซีพีเอส ซีพีออลล์
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่