มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน และกลุ่ม ปตท. ติดตั้งระบบ ‘โซลาร์เซลล์’  ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักและให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน โดยเฉพาะชุมชนในพื้นที่ที่ระบบสายส่งไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึง จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายดำเนินโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทั่วถึง 

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ซึ่งก่อตั้งโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในเบื้องต้นจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.กลุ่มส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 2.ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย 3.ชุมชนบ้านน้อยกาฬสินธุ์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี 4.ชุมชนบ้านนาปอ ต.แสงภา อ.นาแห้ว จังหวัดเลย และ 5.ชุมชนบ้านมะค่า ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เป็นต้น

1.กลุ่มส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน ต.หนองตะพาน อ.บ้านค่าย จ.ระยอง

Advertisement

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนดำเนินการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 16 แผง ซึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 5 กิโลวัตต์ ในรูปแบบ On-Grid Connection ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าจากเดิมเดือนละประมาณ 2,000- 3,000 บาท เหลือเพียงเดือนละประมาณ 200-300 บาท  และเป็นต้นแบบการใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2.ศูนย์เรียนรู้พลังงานทดแทนเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย

จากพระดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่จะพัฒนาเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จ.เชียงราย ร่วมกับการฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง เพื่อเตรียมความพร้อมให้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน จึงร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าภายในเรือนจำ และที่สำคัญคือเป็นต้นแบบและศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นกำลังใจให้แก่ผู้ต้องขังจำนวน 5,600 คน ในการฝึกทักษะทางอาชีพ สำหรับใช้ประกอบอาชีพหลังการพ้นโทษ

และช่วยให้เรือนจำชั่วคราวดอยฮางประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 110,160 บาทต่อปี ลด CO2 10.37 ตัน/ปี 

3.ชุมชนบ้านน้อยกาฬสินธุ์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าและเครื่องสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 2.56 กิโลวัตต์ และชุดส่องไฟฟ้าแสงสว่างให้แก่ชุมชน สำนักสงฆ์ รวมถึงอาคารอเนกประสงค์ รวมจำนวน 30 ชุด เนื่องจากชุมชนบ้านน้อยกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีไฟฟ้าใช้มาก่อน ใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง การดำเนินงานของมูลนิธิฯ คาดว่าสามารถประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับปั่นไฟในการสูบน้ำเป็นเงิน 114,975 บาทต่อปี นอกจากนั้นมูลนิธิฯ ยังได้ดำเนินการเปลี่ยนแบตเตอรี่ระบบโซล่าร์เซลล์ที่ชำรุดให้แก่กองร้อยทหารพรานที่ 1405 อีกด้วย ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง และมีน้ำเก็บไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตรในฤดูแล้ง 

นายอำพร คาดีวี ผู้นำชุมชนบ้านน้อยกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “ในวันนี้ พวกเรามีไฟฟ้าใช้ มีทีวี มีสิ่งอำนวยความสะดวก มีน้ำเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันสำหรับเครื่องปั่นไฟ ชีวิตดีขึ้นมาก แต่หากถามว่าเพียงพอไหม ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะเรายังไม่มีไฟส่วนกลางที่จะรองรับกิจกรรมส่วนรวมของชุมชน ซึ่งในอนาคต เราจะมีการเก็บค่าส่วนกลางในการบำรุงรักษาแผงโซลาร์เซลล์ เป็นรายเดือนครัวเรือนละ 50 บาท แม้จะมีไฟฟ้าใช้แล้วเราก็ต้องประหยัด และนำความรู้ที่ได้มาใช้ในชีวิตประจำวัน

4.ชุมชนบ้านนาปอ ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย

ชุมชนบ้านนาปอมีปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้าไม่เสถียร มีปัญหาไฟฟ้าตกและไฟฟ้าดับภายในชุมชน การขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในการสูบน้ำสำหรับระบบน้ำประปาชุมชนและน้ำเพื่อการเกษตร รวมถึงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค   มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้ร่วมกับ ฝ่ายกิจการเพื่อสังคม ปตท. และหน่วยงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท.  ร่วมกับทีมจิตอาสาจากรายการคนมันส์พันธุ์อาสา ลงพื้นที่ติดตั้งระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ คือ ระบบตะบันน้ำ ระบบสูบน้ำจากเซลล์แสงอาทิตย์ ขนาดกำลังผลิต 5.2 กิโลวัตต์ และไฟส่องสว่างจากพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับ วัด อาคารอเนกประสงค์ โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ระบบสเปรย์หมอกพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบกรองน้ำ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

5.ชุมชนบ้านมะค่า ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา

ชาวบ้านชุมชนบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีชุมชนที่ใช้น้ำประปาทั้งสิ้นจำนวน 210 ครัวเรือน มีค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาสูงถึงประมาณ 150,000 บาทต่อปี ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าจากการสูบน้ำและมอเตอร์กวนสารเคมี ทำให้ชุมชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาชุมชนที่สูง  ส่งผลให้ต้นทุนค่าน้ำประปาที่จัดเก็บในครัวเรือนสูงตามไปด้วย

มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ได้ตระหนักและเห็นถึงความยากลำบากที่ชุมชนได้รับ จึงได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 32 แผง สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 10 กิโลวัตต์ ในรูปแบบ OnGrid Connection ซึ่งช่วยให้ประหยัดค่าพลังงานไฟฟ้าได้ถึงจำนวน  83,724 บาท/ปี ทำให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น 

จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานของมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน และ กลุ่ม ปตท. นอกจากจะช่วยส่งเสริมให้สังคมชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังจะช่วยให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืน คืนความสุขสู่สังคมและสร้างประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image