‘พันท้ายนรสิงห์’ที่เพิ่งสร้าง ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องคลองโคกขาม เปิดพงศาวดาร เล่า ‘นิทานการเมือง’

ตรงกับคืนเคาต์ดาวน์ 31 ธันวาคมพอดิบพอดี สำหรับรายการ ‘ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว’ ตอน ‘พันท้ายนรสิงห์ นิทานการเมือง ผู้ยืนหยัดอุดมการณ์นิติรัฐ’ ซึ่งถ่ายทำที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ ปากคลองโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนโควิดระบาดหนักระลอกใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ชื่อดัง นั่งรับลมที่หัวมุมคลองโคกขาม ตัดกับคลองมหาชัย 3 แยกใหญ่อันเป็นที่ตั้งของศาลพันท้ายนรสิงห์อันปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเขียนขึ้นในยุคหลัง มีลักษณะเป็นนิทานแทรก เล่าเรื่องราวในรัชกาลพระเจ้าเสือว่าเมื่อคราวเสด็จผ่านย่านนี้ใน พ.ศ.2247 พันท้ายนรสิงห์ถือท้ายเรือไปชนกิ่งไม้ใหญ่ ทำให้หัวเรือตกน้ำ ตามกฎหมายยุคนั้นต้องถูกตัดหัว พระเจ้าเสือจะยกโทษให้ แต่เจ้าตัวไม่ยอม หลังถูกประหาร มีการสร้างศาลเพียงตาไว้เพื่อตั้งศีรษะพันท้ายนรสิงห์ เนื้อหาในพงศาวดารมีเพียงสั้นๆ ไม่ได้บอกรายละเอียดว่าพันท้ายนรสิงห์มีภูมิลำเนาที่ไหน อายุเท่าไหร่ มีภรรยาชื่ออะไร ส่วน ‘นวล’ เป็นตัวละครเกิดใหม่โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล หรือพระองค์ชายใหญ่ ทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งนำเรื่องดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เมื่อ พ.ศ.2493

Advertisement

“พันท้ายนรสิงห์เป็นนิทานการเมือง แสดงออกให้เห็นว่าเป็นผู้ยืนหยัดในอุดมการณ์นิติรัฐ เป็นนิทานที่สร้างขึ้นเพื่อใส่ร้ายป้ายสีพระเจ้าเสือ ด้อยค่าราชวงศ์บ้านพลูหลวง พงศาวดารอยุธยาซึ่งเขียนขึ้นสมัยหลัง อาจเขียนในสมัยปลายอยุธยา ธนบุรี หรือรัตนโกสินทร์ ไม่ได้เขียนในสมัยพระเจ้าเสือ บอกว่า พระองค์ประทับเรือต้นเอกชัย ไปประพาสทรงเบ็ด ที่ปากน้ำเมืองสาครบุรี คือ เมืองสมุทรสาคร เมื่อถึงตำบลโคกขาม คลองคดเคี้ยว พันท้ายนรสิงห์ถือท้ายเรือไปชนกิ่งไม้ใหญ่ ทำให้หัวเรือหักตกน้ำ ตามกฎหมายสมัยนั้นพันท้ายนรสิงห์ต้องถูกตัดหัว พระเจ้าเสือจะยกโทษ แต่พันท้ายนรสิงห์ ไม่ยอมรับ ขอตายตามกฎหมาย หลังประหารโปรดให้สร้างศาลเพียงตาเพื่อตั้งศีรษะพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกฟันขาด กับหัวเรือที่หัก ข้อความในพงศาวดารมีแค่นี้ เพราะฉะนั้น เมื่ออาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไปพูดที่ธรรมศาสตร์ ท่านได้สรุปว่า ผู้ที่ยืนหยัดยึดมั่นในอุดมการณ์นิติรัฐคือพันท้ายนรสิงห์” ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ร่วมกันบอกเล่า ก่อนบอกด้วยว่า ศาลพันท้ายนรสิงห์มีอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ 1.ปากคลองโคกขาม ซึ่งเป็นจุดถ่ายทำรายการครั้งนี้ 2.วัดพันท้ายนรสิงห์ 3.บริเวณใกล้ทะเล

เรื่องศาลพันท้ายนรสิงห์ที่ปากคลองโคกขามนี้ยังปรากฏในความทรงจำของ ขรรค์ชัย ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญต่อการสืบค้นความเป็นมาของศาลแห่งนี้

“ศาลพันท้ายนรสิงห์เท่าที่ทราบอย่างน้อยมี 3 แห่ง ที่นี่แห่งหนึ่ง วัดพันท้ายนรสิงห์แห่งหนึ่ง แล้วที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ใกล้ทะเลอีกแห่งหนึ่ง ตรงนี้คือปากคลองโคกขาม ซึ่งเชื่อตามพงศาวดารว่าเป็นที่ตั้งศาลพันท้ายนรสิงห์ ซึ่งพระเจ้าเสือโปรดให้สร้างไว้เป็นศาลเพียงตา คุณขรรค์ชัยเล่าให้ผมฟังว่า ศาลตรงนี้พระองค์ชายใหญ่ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ที่ทรงทำหนังเรื่องพันท้ายนรสิงห์ มาสร้างไว้เมื่อปี 2493 ซึ่งอาจหมายถึง 1.สร้างใหม่เลย 2.บูรณะของเก่า พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล เป็นท่านลุงของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือท่านมุ้ย เป็นคนแรกที่นำเรื่องนี้มาสร้างเป็นภาพยนตร์ โดยสร้างตัวละครที่เป็นนางเอกขึ้นมา ชื่อ นวล เพื่อให้มีรสชาติ มีความโรแมนติก ให้มีความรักบ้าง ไม่มีตัวตนจริง” สุจิตต์ย้อนเล่าโดยอ้างอิงจากความทรงจำของขรรค์ชัยผู้มีเกร็ดน่าสนใจนอกหนังสือประวัติศาสตร์

ส่วนประเด็นที่เขียนกันมากมายก่ายกองว่า พันท้ายนรสิงห์ ชื่อเดิมว่า ‘สิน’ เป็นชาวบ้านนรสิงห์ อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทองบ้าง แขวงเมืองวิเศษไชยชาญบ้างนั้น อดีตสองกุมารสยามบอกว่า

“เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นใหม่ เข้าใจว่าหลังการสร้างหนังด้วยซ้ำไป”

สำหรับประเด็นที่ว่า พันท้ายนรสิงห์มีตัวตนจริงหรือไม่? ทั้ง 2 วิทยากรอธิบายว่า

“คลองโคกขามในพงศาวดารมีจริง ตำแหน่งพันท้ายก็มีจริง แต่ตัวบุคคลคือนรสิงห์ ไม่มีหลักฐานว่ามีจริงหรือไม่ ส่วนนวล เป็นตัวละครแต่งใหม่ตอนพระองค์ชายใหญ่ทรงสร้างหนัง พันท้ายนรสิงห์เป็นชื่อในพงศาวดาร อย่างที่บอกแล้วว่ามันเป็นนิทาน หมายถึง ผู้ชื่อนรสิงห์ มีตำแหน่งเป็นพันท้าย คือ เป็นคนถือท้ายเรือ ศักดินา 100 ไร่ คู่ตำแหน่งคัดหัวเรือ ส่วนพันท้ายตำแหน่งคัดท้ายเรือพันท้ายประจำเรือต้น มีตำแหน่งอยู่ในกฎมณเทียรบาล สังกัดกรมอาสาวิเศษ มี 2 คน คือ ขวากับซ้าย อยู่ในพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนสมัยอยุธยาตอนต้น”

กล่าวโดยสรุปเป็นข้อๆ พันท้ายนรสิงห์ที่ ‘พงศาวดารไม่ได้บอก’ ได้แก่

1.ไม่ได้บอกชื่อเดิมของพันท้ายนรสิงห์ บอกแค่ พันท้ายนรสิงห์ ซึ่งเป็นตำแหน่ง
2.ไม่ได้บอกว่าเป็นคนบ้านไหน เมืองไหน
3.ไม่ได้บอกว่าอายุเท่าไหร่
4.ไม่ได้บอกว่ามีเมียชื่ออะไร

จากนั้น ขรรค์ชัย-สุจิตต์เดินทางต่อไปยัง วัดโคกขาม เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมงดงามซึ่งมีร่องรอยหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา

“หลักฐานหนักแน่นที่บอกว่าวัดนี้มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา คือโบสถ์มหาอุด เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ รูปแบบศิลปกรรม เป็นแบบพระพุทธสิหิงค์ มีจารึกบอกปีที่สร้างคือ พ.ศ.2232 ในแผ่นดินพระเพทราชา พระราชบิดาของพระเจ้าเสือ นี่เป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง
ที่บ่งชี้ว่าบริเวณแถบนี้มีวัดโคกขามเป็นศูนย์ต้องเป็นพื้นที่สำคัญ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีพระพุทธรูปหล่อด้วยสัมฤทธิ์องค์นี้ประดิษฐาน เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง คนสั่งทำต้องมีอำนาจ มีเงิน
มีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ต้องมีทั้ง 2 อย่าง” สุจิตต์ร่วมเล่า

คำถามต่อมาที่ว่า ‘ทำไมเรียกโคกขาม?’

คำตอบพร้อมหลักฐานมีอยู่ว่า สุนทรภู่เคยเขียนบอกไว้ในนิราศเมืองเพชร ความตอนหนึ่งว่า

‘ถึงโคกขามคร้ามใจได้ไถ่ถาม

โคกมะขาม บ่มิใช่อะไรอื่น’

ที่แท้ ขามในที่นี้ก็คือ ต้นมะขาม

“แถวนี้เป็นที่ราบลุ่มใกล้ทะเล พื้นที่ตรงนี้ คือ เป็นบริเวณที่เป็นดอน เป็นโคก สูงกว่าจุดอื่น นอกจากนี้ คลองโคกขามยังคดเคี้ยวเหมือนเงี้ยวงู คลองแถบนี้ที่ใกล้ออกทะเลคดเคี้ยวแบบนี้เป็นปกติ แต่ก่อให้เกิดปัญหาในการเดินทาง ทำให้เดินทางช้า มีอยู่ที่หนึ่งเรียกว่า คลอง 32 คุ้งคด คิดดูก็แล้วกัน” สุจิตต์เล่า โดยมีขรรค์ชัยนั่งฟังแล้วหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

ขรรค์ชัย ยังเล่าเรื่องราวที่สะท้อนถึงความคุ้นเคยกับย่านนี้ตั้งแต่เด็ก สมัยก่อนเดินทางมาด้วยเรือรับจ้าง แล้วเดินเท้าตัดทุ่ง สองฝั่งคลองมีลิงมากมาย เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ทุกอย่างแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าอย่างไร พื้นที่นี้ยังคงมีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทยอย่างไม่อาจมีอะไรเปลี่ยนแปลงได้

“พื้นที่ย่านนี้สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ เป็นเส้นทางคมนาคมมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ควรมีการพัฒนา อนุรักษ์ ดูแลความสะอาดและประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้สังคมไทยได้รู้” หัวเรือใหญ่ค่ายมติชนปิดท้าย

นับเป็นทริปส่งท้ายปีที่ไขปมประวัติศาสตร์ในข้อสงสัยที่ถกเถียงกันมานาน ส่วนในปีนี้จะเปิดด้วยทริปใดในสถานการณ์โควิด-19 ก็เป็นความท้าทายที่ชวนติดตาม

พรรณราย เรือนอินทร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image