คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ย้อนระลึกเรื่อง‘ความเป็นรัฐมนตรี’ กับ‘คดีจำคุก’

ไม่ใช่แต่เพียงเจ้าตัว ครอบครัว และกองหนุนกองเชียร์เท่านั้นที่จะคาดไม่ถึงว่า บทสรุปของพวกตนจะต้องจบลงด้วยคำพิพากษาให้จำคุกมากน้อยตามกรรมตามวาระ และพฤติการณ์แห่งคดี

แม้กระทั่งฝ่ายที่แช่งชักรอชมก็คาดไม่ถึงเช่นกัน หลายคนถึงกับกล่าวว่า อย่างน้อยคืนวันที่ 24 กุมภาพันธ์
ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกคืนที่นอนหลับฝันดี เมื่อได้เห็นแกนนำสำคัญทั้งแปดราย ซึ่งปัจจุบันหลายคนได้ดีเป็นรัฐมนตรีผู้ยังแสดงบทบาทประจันหน้าอยู่ฝั่งฝ่ายตรงข้ามกับประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย หรือที่มีพฤติกรรมพฤติการณ์ในลักษณะที่พยายามจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกวิถีทางที่ตนทำได้ตามอำนาจหน้าที่ที่มีนั้น ต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับการประกันตัวให้ปล่อยชั่วคราวจากศาล

อันเป็นเรือนจำเดียวกับที่ “คนฝั่งนี้” เคยไปเยี่ยมไปเยือน หรือรับขวัญมิตรสหายที่ต้องโทษเข้าคุกกันอีกต่างหาก

สำหรับข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ไม่มีปัญหาใดๆ เนื่องจากพฤติการณ์และพฤติกรรมของจำเลยทุกคนล้วนชัดเจน
เห็นได้ต่อผู้คนแล้วว่าแต่ละคนมีส่วนมีเศษในกิจกรรมที่ถูกฟ้องว่าเป็นความผิดอย่างไร หลายคนภาคภูมิและยังอ้างว่าเป็นวีรกรรมของพวกตนด้วยซ้ำ แม้แต่ศาลจะพิพากษาออกมาเช่นนั้นแล้วก็ยังมีคนภูมิใจและยอมรับว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ก็จะกระทำอีกด้วยซ้ำ

Advertisement

ปัญหาที่ต่อสู้กัน จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายล้วนๆ ว่าบรรดาพฤติกรรมทั้งหลาย ถือว่ามีความผิดตามข้อกล่าวหาที่สถานหนักสุดคือ ร่วมกันเป็นกบฏและก่อการร้ายอันระวางโทษถึงประหารชีวิตหรือไม่

จากคำพิพากษาโดยสรุปแล้ว ศาลยังเห็นว่าการกระทำของบรรดาจำเลยนั้นยังไม่ถึงขนาดเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 แต่ก็ถือว่าเป็นความผิดในฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาอันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และไม่ใช่การแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต ก่อให้เกิดความปั่นป่วน เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี กับความผิดฐานมั่วสุมและบุกรุกรวมทั้งความผิดฐานกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิได้ ซึ่งต่างกรรมต่างวาระและต่างกรณีกันไปตามแต่พฤติการณ์และการกระทำของจำเลยแต่ละคน และรับโทษกันไปคนละ 9 ปี 7 ปี 1 ปี ไปจนถึงหลักเดือน อีกทั้งบางส่วนได้รอการลงโทษ รวมถึงที่ศาลยกฟ้องไปก็หลายคน

และนอกจากนี้ สำหรับจำเลยผู้ที่เป็นรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภา ก็มี “โทษทางรัฐธรรมนูญ” ที่ได้แก่ลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งด้วย กรณีของรัฐมนตรี 3 คน ได้แก่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และ นายถาวร เสนเนียม นั้นถือเป็นลักษณะต้องห้ามที่ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (7) ที่บัญญัติว่า “…รัฐมนตรีต้อง…ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” ส่วนกรณีของผู้เป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรีที่มีตำแหน่งเป็น ส.ส. ด้วยนั้น ก็จะต้องพิจารณากันอีกชั้นว่าจะมีการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถือว่าความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังกล่าวนี้หรือไม่

บางคนจึงว่าถ้าเอาแบบความสะใจระยะสั้น ได้เห็นพวกเขาเหล่านั้นตกเก้าอี้รัฐมนตรีก็พอใจแล้ว

คงต้องยอมรับว่า “มาตรฐาน” เกี่ยวกับลักษณะต้องห้ามที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องคำพิพากษา
ของศาลในกรณีนี้เป็นเรื่องที่คนทุกฝั่งฝ่ายนั้นเห็นด้วยอย่างไม่มีปัญหา ทั้งส่วนใหญ่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องถูกต้อง
และสมควรจะต้องเป็นเช่นนั้น

ปัญหาเรื่องโทษจำคุกกับความเป็นสมาชิกภาพของสมาชิกรัฐสภาหรือสถานะความเป็นรัฐมนตรีนี้เป็นประเด็นกันครั้งแรกตั้งแต่สมัยปี 2542 ที่น่าจะเป็น “คดีแรก” ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน “ขัดใจ” ประชาชนคนส่วนใหญ่ คือคดีสถานะความเป็นรัฐมนตรีของ คุณเนวิน ชิดชอบ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 36/2542 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้สรุปว่า การที่ศาลจังหวัดบุรีรัมย์พิพากษาให้คุณเนวิน มีความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการต้องคำพิพากษาให้จำคุกตามความหมายของรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 (4) ของรัฐธรรมนูญปี 2540

เนื่องจากคำวินิจฉัยนี้ไม่ได้มาจากมติเอกฉันท์ และมีผู้เห็นต่างจากคำวินิจฉัยกลางไปสองสามทาง ทั้งที่เห็นว่าแม้ศาลพิพากษาให้จำคุกแล้ว แม้ว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุดหรือไม่ หรือถูกนำตัวไปบังคับโทษจำคุกด้วยหรือเปล่าก็ต้องพ้นตำแหน่ง เนื่องจากเป็นเรื่องของสถานะทางการเมืองมิใช่โทษอาญา เช่นความเห็นของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช และที่เห็นว่า การรอการลงโทษทางอาญานั้นไม่มีผลต่อโทษอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับโทษอาญานั้น เพียงแต่การจะลง “โทษอุปกรณ์” ได้หรือไม่ก็ต้องมาจากคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลเสียก่อนตามหลักนิติธรรมที่ว่าบุคคลจะไม่ถูกลงโทษจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดและต้องลงโทษ ซึ่งเป็นแนวคิดของ ศ.ดร.โกเมนทร์ ภัทรภิรมย์

มีเรื่องอยากเล่าไว้เป็นเกร็ดในเรื่องนี้ว่า แม้ว่าโดยคำวินิจฉัยเสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญ การที่รัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงตุลาการรัฐธรรมนูญจะต้องพ้นตำแหน่งด้วยเหตุจำคุกนี้ จะต้องเป็นการถูกจำคุกโดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อน แต่จะต้องมีการบังคับโทษจริงๆ มิใช่รอการลงโทษก็ตาม

หากเมื่อถึงคราวที่ท่านอาจารย์โกเมนทร์ต้องคำพิพากษาให้จำคุกในคดีหนึ่งซึ่งมูลเหตุเกิดขึ้นก่อนที่ท่านจะมาดำรงตำแหน่งตุลาการ แต่คำพิพากษาดังกล่าวให้รอการลงโทษไว้ ท่านก็รอจนกระทั่งมีคำพิพากษาศาลฎีกายืนในโทษจำคุกนั้น แล้วท่านก็ยื่นใบลาออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันต่อมา

แม้ว่าโดยผลของบรรทัดฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินไว้ ท่านจะไม่ถือว่าต้องพ้นตำแหน่งดังกล่าวก็ตาม แต่ท่านก็ได้ลาออกเพื่อรักษา “หลักการ” ที่ท่านเคยเขียนไว้ในคำวินิจฉัยคดีคุณเนวิน

สำหรับผมแล้ว ผู้ที่ยืนยันในสิ่งที่ตนเองเชื่อ และปฏิบัติตามนั้นแม้ในที่สุดมันจะเป็นผลร้ายต่อตนเองก็ตามนั้น เป็น “คนจริง” ผู้สมควรได้รับการคารวะเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 จึงได้แก้ไขเรื่องนี้ไว้ให้ชัดเจนในมาตรา 182 (3) ว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษ ซึ่งเป็นหลักการเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ส่งผลให้อดีตรัฐมนตรีทั้งสามคนต้องตกเก้าอี้รัฐมนตรีโดยไม่คาดฝัน

แม้เรื่องนี้ใครๆ จะเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ว่ามันควรเป็นเช่นนั้น แต่อยากชวนมองไปอีกทางว่า เราจำเป็นต้องมีมาตรฐาน “ลักษณะต้องห้าม” เช่นนี้ในทางการเมืองกันจริงหรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ถือว่ามีการ “บังคับโทษทางการเมือง” ทันทีแม้จะยังไม่มีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดว่าผู้นั้นกระทำความผิด

แนวคิดที่ไม่ลงรอยกันของเรื่องนี้มีสองแนวทาง คือปัญหาว่า “ลักษณะต้องห้าม” ในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองถือเป็น “โทษ” อย่างหนึ่งหรือไม่

ถ้าเรามองอย่างแคบว่า “โทษ” ในทางอาญามีห้าสถาน ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน นอกจากนั้น แม้จะเป็นการที่บุคคลต้องเสียสิทธิประโยชน์ใดบ้าง ก็อาจจะถือว่าเป็นสภาพบังคับตามกฎหมายลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ใช่โทษ หรือเป็นเงื่อนไขกติกาแห่งการดำรงตำแหน่งที่ ถ้าไม่ตรงกับที่กำหนดไว้เมื่อไรก็เท่ากับต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น การที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้รัฐมนตรีหรือตำแหน่งใดต้องพ้นตำแหน่งไปแม้จะยังไม่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดก็อาจจะเข้าใจได้และไม่ผิดหลักการอะไร

แต่ถ้าในมุมมองว่า การใดที่ทำให้บุคคลต้องเสียสิทธิอันสำคัญเช่น สิทธิทางการเมืองนี้เป็น “โทษ” อย่างหนึ่ง เช่นในกรณีของทฤษฎีทางฝรั่งเศสมองว่านี่ถือเป็น “โทษอุปกรณ์” ที่ต่อพ่วงเข้ากับโทษอาญาอันเป็นโทษหลักแล้ว การที่บุคคลจะต้องถูกบังคับโทษอุปกรณ์ไปก่อนแม้คำพิพากษาจะยังไม่ถึงที่สุด หรือไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า สุดท้ายแล้ว “โทษหลัก” ที่ส่งผลให้เกิดโทษอุปกรณ์นั้นขึ้นจะมีจริงหรือไม่ ถ้าในที่สุดแล้วคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนั้นได้ถูกกลับ หรือแก้โดยคำพิพากษาของศาลในชั้นที่สูงขึ้น

เช่นนี้ก็น่าคิดว่า การที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะต้องพ้นตำแหน่งหรือสมาชิกภาพไปแม้ว่าจะโดยคำพิพากษาที่ยังไม่ถึงที่สุดนั้น ก็อาจจะเป็นปัญหาไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมก็ได้

จริงอยู่ว่า ตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น เป็นตำแหน่งทางการเมืองระดับสูง และอาจจะถือว่าสูงที่สุดในฝ่ายบริหาร
หรือฝ่ายปกครองในกระทรวงนั้น เช่นนี้ผู้ดำรงตำแหน่งจึงต้องมีความสง่างาม การต้องคำพิพากษาให้จำคุกนั้น แม้ว่าจะโดยชั้นศาลใด หรือได้รับโทษนั้นจริงหรือไม่ ก็ถือว่าขาดความสง่างาม หรือความน่าไว้วางใจแล้ว และบางคดีก็อาจจะมีมูลและหากให้ดำรงตำแหน่งต่อไปก็อาจจะเกิดความเสียหายที่ไม่คุ้มค่าต่อการ “รักษาหลักการ” เพื่อการเคารพสิทธิของบุคคลเช่นว่านั้น

ข้อนี้ก็อาจจะพอเห็นด้วยได้อยู่ หากเป็นสมัยที่รัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 ใช้บังคับ แต่ในเมื่อตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ มันมีช่องทางที่คล้ายๆ กับการ “คุ้มครองชั่วคราว” โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีปัญหานั้นหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไว้ชั่วคราวก่อนก็ได้อยู่

อย่าลืมว่า ในสถานะปกติแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน หรือได้รับความเห็นชอบหรือไว้วางใจของประชาชนให้เป็นตัวแทนในการใช้อำนาจรัฐระดับสูงหรืออำนาจอธิปไตยแทนประชาชน อันเป็นหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน

อีกทั้งเราก็มีหลักเรื่อง “เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน” ของสมาชิกรัฐสภาเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้กระบวน
ยุติธรรมทางอาญามาเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งหรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของบรรดาผู้แทนราษฎรเหล่านั้น ซึ่งเป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับในทางสากลว่าในสมัยประชุมจะมีการจับกุม คุมขัง หรือดำเนินคดี สมาชิกรัฐสภา หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมิได้

ถึงจะยอมรับจากส่วนลึกของจิตใจก็ตามว่า บรรดา “จำเลย” (หรือนักโทษสองคืน) ในคดีนี้ จะกระทำความผิดที่สมควรได้รับการอภัยให้ก็ตาม เพราะเป็นการกระทำที่เป็นการสร้างสภาวะรัฐล้มเหลวอันเหมาะสมแก่การรัฐประหาร ส่งผลให้ในที่สุดเกิดการรัฐประหารที่น่าจะก่อความเสียหายให้แก่ประเทศชาติรุนแรง ยืดเยื้อ และยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของไทยก็ตาม

กระนั้นบางครั้งการคิดถึงปัญหาทางกฎหมายออกไปให้หลุดจากกรอบการมองหน้าคนหรือพิจารณาบริบทเป็นรายกรณี ก็อาจจะทำให้เราได้มุมมองใหม่ๆ บางอย่างก็ได้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image