ทิศทางการศึกษาที่เปลี่ยนไปในยุค Post Pandemic ในมุมมอง ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

ทิศทางการศึกษาที่เปลี่ยนไปในยุค Post Pandemic ในมุมมอง ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ที่ยืดเยื้อกินเวลามาร่วม 2 ปี ส่งผลกระทบกับสังคม เศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ของคนทั่วโลก รวมถึง ผลกระทบด้านการศึกษาในวงกว้าง ตั้งแต่เด็กเล็กชั้นอนุบาล จนถึงระดับปริญญาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสถาบันการศึกษา ถือเป็นความท้าทาย และบทบาทความรับผิดชอบใหม่ของนักบริหารการศึกษา ที่ต้องพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ เพราะการสร้างระบบการศึกษาที่มั่นคง ส่งผลถึงการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพสู่ตลาดงานในการขับเคลื่อนเศรฐกิจของประเทศ

สถาบันการศึกษาจึงต้องมีมาตรการในการปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบ “ออนไลน์” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้ผู้เรียนไม่เสียโอกาสในการเรียนรู้ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไปในช่วงโควิด-19 สถาบันการศึกษาไม่สามารถยึดติดกับระบบ Offline หรือการเรียนการสอนในห้องเรียน 100% ได้อีกต่อไป ทั้งยังเป็นการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ผ่านรูปแบบการเรียนออนไลน์ ในส่วนของ ผู้เรียน และผู้สอนด้วย

อีกด้านก็เกิดเป็นคำถามที่ว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ Post Pandemic ทิศทางการศึกษาจะเป็นอย่างไร มีแง่มุมไหนบ้างที่ได้รับบทเรียนจากผลกระทบในครั้งนี้ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) และประธานกรรมการโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ นักบริหารการศึกษา ที่ดูแลนักเรียน นักศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงระดับปริญญา ได้สะท้อนถึงการบริหารการศึกษาในช่วง Post Pandemic ที่หากใครไม่เร่ง “ปรับตัว” อาจต้องเจอกับความท้าทายที่เกินกว่าจะรับมือได้

Advertisement

๐ ความเร็ว&แรงของ Pandemic
“Pandemic ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในระลอกแรกเป็นอะไรที่วางแผนไม่ได้ ทุกคน หรือแม้แต่เราไม่มีประสบการณ์มาก่อน ดังนั้น Pandemic ที่เกิดขึ้นเป็นการมาแบบตูมเดียว ทำให้องค์กรต่างๆ ต้องปรับทุกอย่างมาเป็นออนไลน์ ซึ่งก็พบว่าหลายเซ็คเตอร์ สามารถปรับตัวได้ดีในยุคของการล็อคดาวน์

ในมุมการจัดการเรียนการสอน เมื่อมองถึงระดับชั้นเรียน พบว่าแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงอายุ ด้วยประสบการณ์การบริหารการศึกษาในระดับเด็กเล็กที่ โรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ พบว่า การเรียนของเด็กเล็กระดับเตรียมอนุบาลถึง 7 ขวบ จะเป็นช่วงอายุที่คิดว่ามีผลกระทบมากที่สุดจากการปรับการเรียนการสอนจากออฟไลน์เป็นออนไลน์ ส่วนหนึ่งมาจากความพร้อมของผู้เรียน การพึ่งพาตัวเองยังมีน้อยกว่าเด็กโต รวมทั้ง พฤติกรรมของวัยนี้ที่การเรียนรู้ส่วนใหญ่ จะเน้นผ่านการจับต้องสิ่งของ และการสนทนากับผู้สอน

ด้วยลักษณะการเรียนของเด็กวัยนี้ จึงทำให้เชื่อว่า แม้ในช่วงของ Post Pandemic เด็กเล็กจะยังคงมีการเรียนการสอนที่เน้นการเรียน และปฏิบัติในชั้นเรียนมากกว่าการผ่านเทคโนโลยี”

Advertisement

๐ O2O คือคำตอบ
“มหาวิทยาลัยปรับระบบการทำงานในทุกมิติ ได้แก่ ระบบหลังบ้าน การลงทะเบียนนักศึกษา และอื่นๆ ให้พร้อมทำงานทุกอย่างได้ครบในจุดเดียว ซึ่งในส่วนนี้ มธบ.ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาปีกว่า และพร้อมให้บริการได้เต็มรูปแบบในปีการศึกษา 2564 อาจารย์ผู้สอนที่ปรับแผนการสอนจาก 100% เป็นการเรียนในห้องไปสู่การเรียนออนไลน์ โดยจัดสัดส่วนเนื้อหาที่เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสาขาวิชา เช่น บางสาขาวิชา 1 ใน 3 ของเนื้อหาความรู้จะเป็นออนไลน์ แล้วปรับ 2 ใน 3 เป็นการเรียนออฟไลน์ ขณะที่บางสาขาวิชาอาจปรับเป็นออนไลน์ได้มากถึง 2 ใน 3

ในส่วน มธบ.ที่เน้นการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ด้วยการเรียนในแบบ O2O เพื่อสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัวในการเรียนการสอนออนไลน์ และออฟไลน์ ขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ผู้เรียนให้ได้มากที่สุด และสร้างเอนเกจเม้นท์ระหว่างผู้สอน และผู้เรียนให้ได้ด้วย

สำหรับผู้เรียนแล้ว เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างมากจนถึง 5G ในปัจจุบัน และจะมีเข้ามาเพิ่มอีกมากในอนาคต มีส่วนสนับสนุนให้การเรียนรู้ทำได้ดีมากขึ้น”

๐ Liquid Learning เทรนด์ที่ใช่ ในยุค Post Pandemic
“เทรนด์การเรียนรู้นับจากนี้ จะไม่ใช่แค่ปรับตัวจากออฟไลน์สู่ออนไลน์ แต่จะได้เห็นการเรียนรู้แนวใหม่ ที่มุ่งการตอบโจทย์ความเป็น Personalize ของผู้เรียนในแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น เช่น บางคนชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆ แต่กับบางคนชอบการนำเสนอที่เป็นภาพมากกว่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของพฤติกรรม และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละคน ส่งผลต่อการเรียนรู้มาก หรือน้อยได้ด้วย เช่น บางคนเป็นมนุษย์เที่ยงคืน มนุษย์เช้า ประสิทธิภาพ และความสนใจที่จะเรียนรู้ก็แตกต่างกันออกไป

กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ปรับให้ลื่นไหลไปตามแต่ละบุคคล ทั้งความสนใจ ช่วงเวลา และอื่นๆ นับเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก ซึ่งที่น่าสนใจ และเป็นความท้าทายไม่แพ้กัน คือ การจัดคอนเท้นท์ หรือเนื้อหาวิชา การวัดผล และการให้ Certificate”

๐ ความท้าทายในยุค Post Pandemic โจทย์ใหญ่ของแต่ละมหาวิทยาลัยจากนี้จะอยู่ที่การประเมินผล
“ที่มองว่าการประเมินผลเป็นความท้าทาย นั่นเป็นเพราะแม้ว่าจะมีการจัดการเรียนออนไลน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่การทำงาน และระบบงานต่างๆ ยังคงเป็นออฟไลน์อยู่เหมือนเดิม หากเป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น หากในอนาคตมีการปรับเป็นออนไลน์ 100% ซึ่งเป็นโจทย์ และภารกิจที่ต้องคิดว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต”

 

๐ ความท้าทายที่เกิดขึ้นเมื่อโรคระบาดคลี่คลาย
“การระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่ผ่านมา คนชอบบอกว่าในวงการศึกษาปรับตัวช้าที่สุด แต่ถึงตอนนี้พูดไม่ได้แล้ว เพราะทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน ต้องเร่งปรับตัว

จากที่หลายๆ คนพูดว่าทำไม่ได้ วันนี้จากสถานการณ์ที่บีบบังคับ ทำให้ค้นพบว่ามนุษย์เราปรับตัวได้ขนาดไหน กฎเกณฑ์ที่บอกว่าทำไม่ได้ วันหนึ่งต้องฉีกทิ้ง แล้วจัดกฎเกณฑ์ใหม่ ได้เวลารื้อบ้านครั้งใหญ่ และ Pandemic ครั้งนี้ นับเป็นบทดสอบที่สำคัญ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image