ภาคเอกชนโชว์ไอเดียส่งออก ชี้ ‘โอกาส’ในวิกฤต

หมายเหตุ มติชน เมื่อวันที่ 22 กันยายน หนังสือพิมพ์มติชนได้จัดสัมมนารูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านเฟซบุ๊กในเครือมติชน ณ อาคารมติชน เนื่องในโอกาสที่หนังสือพิมพ์มติชนดำเนินกิจการเข้าสู่ปีที่ 44 เมื่อ
วันที่ 9 มกราคม 2564 โดยงานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ปลุกพลังส่งออกพลิกเศรษฐกิจไทย” มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษ “ความหวัง ส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” โดยแบ่งหัวข้อเสวนาเป็น 2 ภาค ได้แก่ ภาครัฐ โดย นายภูสิตรัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) บอกเล่าทิศทางการทำงานของรัฐ หัวข้อ “2021 สู่ 2022 ทิศทางส่งออกไทย” และวงเสวนาภาคเอกชน หัวข้อ “มุมมองผู้ส่งออก ความหวังเศรษฐกิจไทย” โดย ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ดร.การัณย์ อังอุบลกุล ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด ดำเนินรายการโดย นายชัยรัตน์ ถมยา โดยวงเสวนาภาคเอกชนจัดในรูปแบบถาม-ตอบ มีรายละเอียด ดังนี้

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์
นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย

•ประเมินสถานการณ์ส่งออกในไตรมาส 4 ยังเหลือเวลา 3 เดือน

นายยุทธนา กล่าวว่า ถ้ามองฝั่งของการส่งออกมีความเป็นไปได้จะเติบโตอีก 10% ในสภาวะที่เคยเจอช่วงสูงสุดมาแล้วที่โรงงานหลายคลัสเตอร์ติดโควิดในอุตสาหกรรมหลัก ตอนนี้เปิดปกติ มีการควบคุม ใช้ระบบ ตรวจ ATK ต่างๆ ได้ผ่านมาหมดแล้ว

ฉะนั้นในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้ ตัวเลขการผลิต รวมถึงความต้องการสินค้าของโลกที่ยังมีความต้องการสูงอยู่ น่าจะส่งออกได้ค่อนข้างดี จากที่ได้ 2.3 แสนล้านบาทในปี 2562 ปีนี้มีสิทธิจะถึง 2.5 แสนล้านบาท ถ้าเติบโต 10% จะเป็นนิวไฮ สามารถกลับมาส่งออกได้มากกว่าในปีที่ก่อนโควิด แต่ต้องบอกว่ามีหลายสภาวะที่เป็นปัจจัยมาประกอบ เมื่อเทียบจากปีที่แล้วที่ดร็อปลงไป ขณะที่ปีนี้มีความต้องการสูง แต่ปีหน้าจะเป็นปีที่ท้าทายมากๆ ถ้ามองช่วง 3 เดือนนี้ หลายอุตสาหกรรมน่าจะยังเอ็นจอยกับการส่งออกอยู่

Advertisement

ขณะที่ ดร.การัณย์ กล่าวว่า ในกลุ่มธุรกิจเครื่องใช้ในครัวและครัวเรือน เติบโตแฮปปี้มาก 35% แนวโน้มไตรมาส 4 คิดว่าจะยังโตอีก ถ้าไม่มีโรคระบาดเพิ่มเติมที่รุนแรง น่าจะโตไม่ต่ำกว่า 30% โดยมีอานิสงส์จากการรีฟิลสต๊อก ชะลอตัวการสั่งซื้อ และเกี่ยวกับการกีดกันทางการค้า ซัพพลายเออร์รายใหญ่ๆ ถูกบังคับต้องหาทางเลือกซัพพลาย ของเราต้องทำงานในเชิงรุก ยังมีประเทศที่เป็นคู่แข่ง ต้องเร่งเจรจา ผลิตและส่งมอบให้ได้

สำหรับปลายปีนี้พูดถึงออเดอร์สำหรับต่างประเทศที่ได้รับวีคซีนเป็นส่วนใหญ่ เริ่มผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น เช่นตลาดหลักที่อเมริกา อังกฤษ ในช่วงโควิดมีดีมานด์เพิ่มขึ้นในกลุ่มของเฮ้าส์แวร์ สมัยก่อนคนไม่ทานข้าวบ้าน พอทุกคนอยู่บ้าน สินค้าเฮ้าส์แวร์มีการเติบโตมาก อย่างเครื่องใช้อะลูมิเนียมปีนี้โต 91% เพราะยังเป็นสินค้าที่สามารถขายทางออนไลน์ อีคอมเมิร์ซต่างๆ ได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับแพคเกจจิ้งให้ตอบโจทย์ มองว่าในไตรมาส 4 ในต่างประเทศเริ่มเปิดประเทศ โมเมนตัมจะเริ่มมา คนจะเปลี่ยนสินค้าใหม่ อย่างสินค้าประเภทของขวัญที่ปีนี้น่าจะจัดคริสต์มาสได้

ส่วน ดร.พจน์ ฉายภาพให้คิดตามว่า แนวโน้มการส่งออกไทยช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 2564 (ตุลาคม-ธันวาคม) เชื่อว่าจะยังขยายตัวได้ในตัวเลข 2 หลักแน่นอน แม้เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจะถูกดิสรัปชั่นจากการมีประเด็นในเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ และการเดินเรือที่ไม่สามารถเดินเรือได้ตามปกติ ซึ่งคาดการณ์ว่าหากสามารถเดินเรือได้ตามปกติ การส่งออกไทยจะบวกได้อีก 10-20% แน่นอน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเข้ามาแล้ว แต่ติดขัดในเรื่องการเดินเรือและตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีไม่เพียงพอ หรือไม่กลับเข้ามาในไทย จึงมั่นใจว่าการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังสามารถไปได้ดีอยู่ รวมถึงประเทศไทยมีอานิสงส์เชิงบวกเฉพาะในส่วนของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง เอื้อประโยชน์ในการส่งออก โดยหากค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอ่อนค่าในลักษณะนี้ต่อไป จะได้อานิสงส์เชิงบวกนี้มากพอสมควร ซึ่งในเดือนกันยายน-ตุลาคมของทุกปี มักเป็นเดือนสำคัญในการส่งออกสินค้า เพื่อใช้สำหรับเทศกาลคริสต์มาส ต่อเนื่องถึงเทศกาลตรุษจีน อย่าลืมว่าเหตุการณ์การระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบในแง่การขนส่งหนักมาก โดยภาคการส่งออกสินค้าไทย มีสัดส่วนประมาณ 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย ในอดีต ก่อนจะถูกดิสรัปชั่นลดลงเหลือ 50% เนื่องจากรัฐบาลเข้าไปเสริมสร้างในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะโครงสร้างในประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติทุกฉบับ สนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีพื้นฐานอยู่แล้ว

Advertisement

ปี 2563 การระบาดโควิดเข้ามาส่งผลดิสรัปชั่นต่อภาคการส่งออก ส่งผลให้ประเทศผู้บริโภคถูกล็อกดาวน์ ทำให้ต้องบริโภคเพียงของที่มีอยู่ เพราะการส่งออกสินค้าเข้าไปใหม่ทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากการเดินเรือและท่าเรือเองก็ถูกดิสรัปชั่นเช่นกัน จึงเห็นการสั่งซื้อสินค้าจากไทยสามารถเติบโตได้ดี แม้หลายประเทศทั่วโลกจะเติบโตในแง่การส่งออกสินค้าเหมือนกัน แต่ประเทศไทยถือว่าเติบโตได้มากกว่าหลายประเทศ เพราะจังหวะการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาให้ความสนใจกับสินค้าไทยมากขึ้น

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย
นายกกิตติคุณ สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

•ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือที่แพง

นายยุทธนา กล่าวว่า เราจะเจออีกอย่างน้อย 4-6 เดือน แต่ว่าจะค่อยๆ ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะช่วงพีคสุดได้ผ่านมาแล้ว จากนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นในการส่งออก ส่วน ดร.การัณย์ มองว่าเรื่องเฟดและค่าระวางเรือ ยังเป็นสิ่งที่ท้าทาย

•ปัญหาอุปสรรคและการปรับตัวจากการะบาดของโควิด

นายยุทธนา กล่าวว่า ปีที่แล้วตัวเลขการส่งออกหมวดสินค้าไลฟ์สไตล์ติดลบกว่า 10% เครื่องนุ่งห่มกว่า 16% สิ่งทอเกือบ 20% คนทั้งโลกไม่ซื้อเสื้อผ้า ซื้อกันน้อยมาก เพราะแพนิกโควิด ตลาดดร็อปไป 10-20% ปีนี้ตัวเลขกลับมาแล้วกว่า 10% และคาดว่าจะกลับมาใกล้เคียงปีก่อนโควิดน่าจะเป็นไตรมาส 2 ปีหน้า โดยสิ้นปีนี้น่าจะเติบโตจากปีที่แล้ว 10-12% จากที่เคยติดลบ 16-18%

มีอานิสงส์หลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงในเชิงของธุรกิจค่อนข้างมาก เมื่อก่อนเคยเวิร์กกับลูกค้าล่วงหน้า 6 เดือน ตอนนี้เหลือ 3-4 เดือน ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว จากเคยบินหาคู่ค้า ตอนนี้ต้องออนไลน์ ที่บอกว่าเป็น “นิว นอร์มอล” ตอนนี้ต้อง “นิวนิว นอร์มอล” ทั้งปัจจุบันและอนาคต แต่ทำให้ต้นทุนถูกลง เพราะลดต้นทุนการเดินทาง การปรับตัวเหล่านี้ต้องเอามาใช้เพื่อให้สามารถแข่งขันในอนาคตได้และภาครัฐต้องช่วยด้วย

การปรับตัวของภาคธุรกิจโดยธรรมชาติ อย่างแรกปรับตัวเพราะเดือดร้อน ถูกบีบรัดไม่มีออเดอร์ มีแต่รายจ่าย อย่างที่สองปรับตัวเพราะเห็นโอกาส ในแง่ของการปรับตัว คนที่เดือดร้อนที่สุด มองเห็นโอกาสด้วยจะปรับได้เร็ว ไม่ใช่แค่อยู่ได้ จะเจริญเติบโต และความสามารถการแข่งขันจะสูงมาก

อย่างปีที่แล้วขายเสื้อผ้าไม่ได้ เพราะคนไม่ใส่เสื้อผ้า เพิ่งจะรู้ว่าไทยเราไม่มีความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขอย่างแรง ไม่มีวัคซีน ไม่มีแม้แต่หน้ากาก คนแย่งกันซื้อในช่วงหนึ่ง ไม่มีโรงงานผลิตชุด PPE ต้องนำเข้า 100% คนที่เห็นโอกาสเขาเปลี่ยนไลน์การผลิตเสื้อมาผลิตชุด PPE ส่งออกยุโรปได้เดือนละเกือบ 1 ล้านตัว กลายเป็นธุรกิจใหม่โดยอัตโนมัติ ยังมีโอกาสในวิกฤตอีกมาก อยู่ที่เรามองเห็นโอกาสอย่างไร ต้องจับจ้องอยู่กับมูฟเมนต์ที่เปลี่ยนเร็วมาก ต้องปรับตัวตลอดเวลาในสภาวการณ์แบบนี้

ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ในสภาวะการแข่งขันที่ไม่เหมือนเดิม หากราคาถูก ไม่เร็ว ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ต้องถูก ต้องเร็ว คุณภาพดี เซอร์วิสดี ทุกอย่างต้องไปพร้อมกัน ภาพอยากจะเห็นรัฐและเอกชนร่วมกันวิจัยเพิ่มมูลค่าสินค้า อะไรที่เป็นอุปสรรคเอาออกไป อนาคตต้องวางแผนระยะยาว ขาดแค่การวิจัยในอุตสาหกรรม ใช้เงินแค่หลักร้อยล้าน แต่เพิ่มมูลค่าได้เป็นแสนล้าน

หากจะดันให้การส่งออกสูงขึ้น ต้องเป็นเรื่องฟังก์ชั่น ฟิวเจอร์ของสินค้า เรื่องแนวความคิดของคน วิธีคิดต่างๆ และไปบวกกับการตลาด แบบนี้พอตั้งธงเป็นเชิงกลยุทธ์ได้ระหว่างรัฐและเอกชน ต้องผลักไปด้วยกัน งบประมาณที่รัฐชูจะเป็นระยะกลางและระยะยาวมากขึ้น มากกว่างบระยะสั้น เน้นไปจุดย่อยมากเกินไป ทำให้ไม่มีพลังไปสู่กลยุทธ์ได้ยาก

อนาคตรัฐและเอกชนต้องร่วมกัน ช่วยกันยกระดับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยการสร้างแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ต่างๆ ไม่ใช่แค่ช่วยลดค่าไฟ ประกันสังคม

ดร.การัณย์ กล่าวว่า ทุกคนทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิดด้วยกันหมดทั้งโลก มองว่าเป็นโอกาสในหลายอย่าง อย่างแรกสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร บางองค์กรจะกลับมาดูหลายอย่างปรับให้กระชับขึ้น อย่างที่สองถ้าองค์กรไหนปรับตัวได้เร็วจะได้เปรียบ ขณะที่ฝ่ายบุคคลองค์กรจะรู้ว่าพนักงานคนไหนเป็นซุปเปอร์สตาร์

สิ่งสำคัญที่ชกโดนๆ เต็มๆ คือ ทิศทางที่เกี่ยวกับเทรดวอร์ของอเมริกา ต้องหาซัพพลายมากขึ้น จากเอาต์ซอร์ส ขณะเดียวกันควรมีเรื่องอินโนเวชั่น ใกล้ชิดกับลูกค้า เพราะลูกค้าจะรู้ดีที่สุดประเทศปลายทางพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอย่างไร ขณะเดียวกันต้องจอยกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ และปรับแพคเกจจิ้งให้ดึงดูดและสามารถปิดการขายได้

ดร.พจน์ กล่าวว่า สะท้อนสถานการณ์ภาคผลิตและส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารแช่เยือกแข็งเกษตรแปรรูป รวมถึงสินค้าอนาคต ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ค่าระวางสินค้าพื้นฐานทางเรือ ปรับเพิ่มสูงขึ้นทะลุฟ้า อาทิ สหภาพยุโรป (อียู) เคยมีราคาอยู่ที่ 400 เหรีญสหรัฐ แต่ขณะนี้ราคาอยู่ที่ 20,000 เหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย ปรับขั้นกว่า 300% หัวใจหลักอยู่ที่ว่า ทุกอย่างลงตัวพอดี จากเมื่อ 5-7 ปีที่ผ่านมา สายเรือมีจำนวนมากจนล้น ตู้คอนเทนเนอร์มีให้ใช้จำนวนมาก ทำให้บริษัทสายเรือขาดทุนและต้องปิดบริษัทไปหลายราย แต่เมื่อเกิดการระบาดโควิดระลอกแรก ปี 2563 ตู้คอนเทนเนอร์ค้างอยู่ในประเทศปลายทางค่อนข้างนาน ขณะที่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ประกอบกับประเทศไทยไม่มีท่าเรือน้ำลึก เหมือนเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ฮ่องกง จีน จึงต้องขนส่งต่อไปประเทศอื่นๆ ที่มีท่าเรือน้ำลึก ผู้ประกอบการจึงมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นในเวลาประจวบเหมาะใกล้ๆ กัน จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้น

ประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องกฎระเบียบ สาเหตุที่เรือแม่ของไทยไม่สามารถขนส่งสินค้าเข้าไปได้นั้นส่วนหนึ่งเพราะติดกฎระเบียบเรื่องการห้ามเทียบท่าเรือเกิน 300 เมตร แม้จะปรับให้เป็น 400 เมตรแล้ว แต่ยังมีปัญหาเรื่องความลึกที่ไม่มากพอ หรือความตื้นมากเกินไป สะท้อนให้เห็นถึงกฎระเบียบที่เป็นปัญหา ซึ่งต้องแก้ไขให้ได้

ดร.การัณย์ อังอุบลกุล
ประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ โคราช จำกัด

•มองว่าโอกาสใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากโควิดและตลาดจะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่

นายยุทธนา กล่าวว่า ตลาดไม่ได้เปลี่ยนไปเร็วและมากจนตามไม่ทัน อยู่ที่สภาพธุรกิจมากกว่ามีการเปลี่ยนแปลงของดีมานด์ ซัพพลายเชน แม้แต่ตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ทุกเรื่องที่เปลี่ยนมีผลกระทบเชื่อมโยงกันหมด สำหรับประเทศไทยใช้เวลาปรับตัวจากระดับหนึ่งไปสู่อีกระดับหนึ่งในแง่ของการพัฒนาช้าเกินไป ขาดการลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช้าเกินไป ทำให้กำลังอ่อนลง เรียกว่าติดกับดับรายได้ปานกลาง

ตอนนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก การที่จะก้าวกระโดด แค่เปลี่ยนไม่ได้ ต้องกระโดด สปริงบอร์ดเร็ว เทคโนโลยีเก่าที่มี สินค้าที่ขายเบสิกแล้วแข่งราคาอย่างเดียวประเทศไทยต้องลดน้อยลง เพราะมีประเทศที่กำลังพัฒนา ค่าแรงถูกกว่า ทรัพยากรมากกว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีดีกว่า ขณะที่เราเหมือนวิ่งตามเขาอยู่หลายก้าว พยายามวิ่งให้ทันเขา ตอนนี้เราฟิตไม่ทันแล้ว ต้องเอาเครื่องมือมาช่วย ไม่สามารถจะวิ่งไปเหมือนเดิม ถ้าไม่เปลี่ยน ไม่อยากคิด ตายหมดแน่ในอนาคต รัฐต้องพิจารณาจะสามารถสร้าง FTA สิทธิประโยชน์ให้เร็ว เสื้อจากเวียดนามไปยุโรปไม่โดนภาษี เสื้อจากไทยไปยุโรปโดนภาษี 12.5% ของมูลค่าขาย ต่อให้เย็บเร็วแค่ไหนก็สู้ภาษีไม่ได้

ขณะที่ ดร.พจน์ กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้รับผลกระทบทุกประเทศ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย เป็นการเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมมนุษย์และพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรุนแรง แต่ยั่งยืน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากปล่อยให้ใช้ชีวิตแบบช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด มองว่าอีกไม่นานสังคมโลกต้องพังแน่นอน

การส่งออกไม่อยากให้มองว่าประเทศใดดีกว่ากัน อาทิ มองว่าเวียดนามดีกว่า เพราะความจริงแล้วเป็นเพราะเขาอาจยังไม่เจอปัญหาเท่านั้น เหมือนไทยก่อนที่เจอวิกฤตปี 2540 สมัยนั้นเราโตได้เป็นพลุ ทั่วประเทศในอาเซียนและเอเชียไม่มีใครดีกว่าเรา แต่พอเจอวิกฤตปี 2540 ผลกระทบก็ทำให้ต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง จึงมองว่าเวียดนามก็เหมือนกัน ยังนั่งทับอุจจาระอยู่เยอะ อาทิ ปัญหาทางการเมือง ช่องว่างของคน ช่องว่างของรายได้ ค่าเงิน ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ มีอยู่ค่อนข้างมาก

สำหรับไทย ต้องตั้งหมุดให้กับตัวเองว่าต้องการอะไร โดยในอดีตก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 การส่งออกโต 5-8% ถือว่าดีมากแล้ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตปี 2540 การส่งออกก็โต 2 หลักต่อเนื่องตลอด สุดท้ายคือ การขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งมองว่ายังสามารถโตผ่านไปได้เรื่อยๆ อยากให้วางยุทธศาสตร์ในการส่งออก 5 ปีต่อจากนี้ ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมต้องการโตที่เท่าใด แม้จะไม่ถึงก็ไม่เป็นไร แต่เป้าหมายที่วางไว้ถือเป็นจุดสูงสุดไว้

•มองความท้าทายปลายปีนี้ถึงปีหน้า

นายยุทธนา กล่าวว่า ประเด็นแรกผู้บริหารต้องหาโอกาสทางธุรกิจให้เจอรองรับการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ไม่รอด สอง ต้องอัพสกิลคนในองค์กรให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง และสาม การใช้เทคโนโลยี ข้อมูล ความรู้ด้านต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้มาก่อนมาเป็นองค์ประกอบ ปรับตัวให้ได้คู่กันไป

ส่วน ดร.การัณย์ มองว่า ต้องดูปัจจัยบวกก่อน ถ้าในประเทศฟื้น ในประเทศอาเซียนที่อยู่ใกล้ๆ เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการ ดีมานด์คงกลับมา ความท้าทายคือต้องเมกชัวร์ว่าส่งมอบได้ และต้องปรับแผนธุรกิจตลอดเวลา และมองหาโอกาสใหม่ๆ ด้วย

ดร.พจน์ กล่าวปิดท้ายงานสัมมนาว่า ทุกคนพูดตลอดเวลาว่า การส่งออกถือเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี แล้วทำไมไม่มีการตั้งยุทธศาสตร์ชาติในการจัดตั้งทีมทำงานที่ทำงานร่วมกัน และแก้ปัญหาร่วมกัน ไม่มีใครเป็นหลัก แต่ทั้งทีมทำงานด้วยกัน เหมือนภาคการท่องเที่ยว ก็ควรตั้งทีมทำงานในรูปแบบเดียวกัน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจไทย โดยตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เจอปัญหามาหมดแล้ว การเมืองไม่เกี่ยว ขอแค่สร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เราเท่านั้น อาทิ ทำถนนให้ มีน้ำและไฟฟ้าพร้อม เราเติบโตมาตลอด แม้ประเด็นการเมืองก็ยังเห็นการเติบโตมาตลอด ขอเพียงอย่างเดียวคือ ไม่สนับสนุนก็อย่าขวาง หรือหากจะสนับสนุนด้วยก็จะดีมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image