‘ไทยยูเนี่ยน’ ติดอันดับดัชนี DJSI 8 ปีซ้อน ตอกย้ำความเป็นผู้นำในการส่งมอบ ‘อาหารทะเลคุณภาพเพื่อความยั่งยืน’

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการผลิตอาหารทะเลคุณภาพสูง ที่ดีต่อสุขภาพ รสชาติอร่อย และมีความสร้างสรรค์ สู่ลูกค้าระดับโลกมากกว่า 40 ปี ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices) หรือ DJSI ระดับโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ในกลุ่มผู้นำธุรกิจอาหารทะเลที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในธุรกิจของบริษัทและอุตสาหกรรมในวงกว้าง อีกทั้งได้รับคะแนนประเมินผลการพัฒนาอย่างยั่งยืนสูงสุด เป็นอันดับที่ 2 ของโลก ในดัชนีกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร หัวข้อหลักเรื่องธรรมาภิบาล  เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับคะแนนความยั่งยืนโดยรวมที่ 99 เปอร์เซ็นต์ไทล์ 

พร้อมกันนี้ ไทยยูเนี่ยนได้เดินหน้าสู่ความสำเร็จจากการได้รับคะแนนในหัวข้อมิติทางสังคม เป็นคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ไทล์ ภายใต้บทบาทการบริหารและจัดการ 13 หัวข้อ ประกอบไปด้วย 1. การสรุปประเด็นที่มีนัยสำคัญ 2. การบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต 3. การบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์ 4. การโน้มน้าวด้านนโยบาย 5. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน 6. การบริหารจัดการด้านนวัตกรรม 7. สุขภาพและโภชนาการ 8. การรายงานด้านสิ่งแวดล้อม 9. นโยบายและระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม 10. ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในเรื่องน้ำ 11. การรายงานด้านสังคม 12. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ 13. ความรับผิดชอบต่อสังคมและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน ต้องอาศัย ทั้งความทุ่มเทและความมุ่งมั่นในการทำงาน เพราะสำหรับธุรกิจระดับโลกและอุตสาหกรรมอาหารทะเลยังมีความท้าทายเข้ามาให้เผชิญอย่างต่อเนื่อง 

Advertisement

“การได้รับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ เป็นปีที่ 8 ครั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจสำหรับไทยยูเนี่ยน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจโดยใช้ ‘ความยั่งยืน’ เป็นหัวใจสำคัญ และยังมีภารกิจอีกหลายด้านที่ยังต้องสานต่อ โดยมีความมุ่งมั่นผลักดันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและก่อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารทะเลทั่วโลก”

นอกจากได้รับการจัดอับดับ DJSI ต่อเนื่อง 8 ปีซ้อนแล้ว ไทยยูเนี่ยนยังได้รับการประเมินดัชนี Seafood Stewardship Index หรือ SSI  เป็นอันดับที่ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จาก 30 บริษัทกลุ่มอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดทั่วโลก ซึ่งประเมินจากการทำงานด้านความยั่งยืนต่อมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ  

ขณะที่ นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ไทยยูเนี่ยน ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืนมาต่อเนื่องยาวนาน ด้วยความมุ่งมั่นในการสร้างมาตรฐานการทำงานที่สูงขึ้น เพื่อเป็นองค์กรตัวอย่างให้กับอุตสาหกรรมเดียวกัน 

Advertisement

“ฝ่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนยังต้องทำงานอย่างต่อเนื่อง ริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ที่สามารถไปไกลทั่วโลก เพื่อให้สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ทั้งการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ ครอบคลุมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น”

อีกทั้งการเข้าไปมีส่วนช่วยการจัดการความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ซึ่งการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัททั้งหมด สอดคล้องไปกับเป้าหมายของไทยยูเนี่ยน ในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับผู้คน ควบคู่กับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติท้องทะเลให้ดีที่สุด  

สำหรับมาตรการด้านความยั่งยืนที่ไทยยูเนี่ยน กำหนดแนวทางเป็นนโยบาย และเป็นผู้ริเริ่มการดำเนินงานและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย 6 นโยบายหลัก ได้แก่

  1. กำหนดการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน โดยประกาศเป้าหมายการจัดหาปลาทูน่าด้วยการบริหารและจัดการอย่างยั่งยืน ภายในปี 2568
  2. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแรงงานข้ามชาติ โดยประกาศรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรับสมัครงานทั้งหมด ให้กับแรงงานข้ามชาติในโรงงานที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป
  3. นโยบายด้านบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นนโยบายด้านบรรจุภัณฑ์ทั่วโลก ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ รีไซเคิล และย่อยสลายได้ ตั้งเป้าหมายการดำเนินงานภายในปี 2568 แยกเป็นบรรจุภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ทั้งหมด 100% และสินค้ารับจ้างผลิตอีก 30%
  4. นโยบายการสูญเสียอาหาร โดยตั้งเป้าหมายที่จะลดการสูญเสียอาหารและของเสียตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การยอมรับวัตถุดิบไปจนถึงการใช้และการกำจัดของลูกค้า 
  5. นโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดแนวทางพัฒนานโยบายด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศที่สอดคล้องกับเป้าหมายในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)
  6. นโยบายไม่ตัดไม้ทำลายป่า โดยมุ่งส่งเสริม หลีกเลี่ยง และรณรงค์การไม่ตัดไม้ทำลายป่า

ทั้งนี้ การประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ หรือ DJSI ในแต่ละปี S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) จะทำการประเมินการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัทกว่า 8,000 แห่งทั่วโลก โดยมีเกณฑ์การประเมินในแต่ละอุตสาหกรรมและด้านการเงิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image