อย.เผยร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ปชช.จดแจ้งปลูกที่บ้านเพื่อรักษา เปิดแซนด์บ็อกซ์นันทนาการเสรี

อย.เผยร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ปชช.จดแจ้งปลูกที่บ้านเพื่อรักษา เปิดแซนด์บ็อกซ์นันทนาการเสรี

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงรายละเอียดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. …ว่า พืชกัญชา กัญชง เป็นพืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบัน หรือภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย และยังสามารถนำสารสำคัญที่มีประโยชน์ในกัญชา กัญชง ไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ทั้งอาหาร ยา เครื่องสำอาง สมุนไพรและอื่นๆ ที่สำคัญสามารถปลูกใช้ประโยชน์ในครัวเรือน เป็นเหมือนพืชสมุนไพรประจำบ้าน นำมารักษาสุขภาพตนเองและครอบครัว สร้างรายได้กับผู้ปลูก เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งในครัวเรือนและของประเทศ จากที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้กัญชา กัญชง พ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. … เพื่อให้มีการนำกัญชา กัญชง ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … จำนวน 10 หมวด 52 มาตรการ เพื่อควบคุมการใช้กัญชา กัญชง ให้เกิดประโยชน์ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด

นพ.ไพศาล กล่าวว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีสาระสำคัญคือ ห้ามใช้แบบนันทนาการ เว้นแต่ในพื้นที่ที่กำหนดซึ่งต้องได้รับอนุญาตก่อน เช่น รูปแบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ส่วนการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โฆษณา เพื่อไม่ให้มีการใช้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์และให้นมบุตร ยกเว้นผู้ที่มีโรคที่แพทย์รับรองให้ใช้ได้ และบุคคลอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศกำหนด ทั้งนี้ ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถสั่งจ่ายให้กับคนไข้ของตนได้ และหากจะมีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุข โดยใช้กัญชา กัญชง เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ซึ่งบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถปลูกกัญชาได้ แต่ต้องมาดำเนินการจดแจ้งหรือขออนุญาตก่อน โดยสามารถทำได้ง่าย

เลขาธิการ อย.กล่าวว่า สำหรับการจดแจ้ง จะใช้ในกรณีที่มีการปลูกเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน หรือการปลูกเพื่อปรุงยาของผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย การแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งจดแจ้งได้ภายในจังหวัดนั้น นี่เป็นการใช้ในครัวเรือนเท่านั้น ทั้งนี้ จะมีการสุ่มตรวจจาก อย.ด้วย หากพบความผิด เช่น ปลูกโดยไม่ได้จดแจ้งก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ. คือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนกรณีที่ผู้ใดประสงค์จะผลิต นำเข้า ส่งออก ขาย โฆษณา ต้องขออนุญาตจากเลขาธิการ อย. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายก่อนจึงจะดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนั้น การนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากการขออนุญาตกับ อย. เช่น เครื่องนุ่งห่ม ก็สามารถทำได้ เช่น เส้นใยกัญชง ทำเสื้อเกราะ ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนแผนการดำเนินธุรกิจ จึงขยายอายุใบอนุญาตจาก 1 เป็น 3 ปี

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเน้นควบคุมป้องกันไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิด เราห้ามใช้นันทนาการ เว้นแต่พื้นที่ที่กำหนดที่ต้องขออนุญาตก่อน โดยในข้อนี้ก็ถูกระบุใน พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 และ ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 อยู่แล้ว ส่วนการจะกำหนดว่าพื้นที่ใดสามารถเป็นการนันทนาการได้นั้น ต้องมีขั้นตอนพิจารณาตามลำดับ โดย พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ตามกระบวนการแล้ว ต้องมีการพิจารณาร่าง ผ่านการทำประชาพิจารณ์ เพื่อปรับร่าง ส่งเข้าไปที่สำนักนายกรัฐมนตรี ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วจึงเข้าสำนักงานกฤษฎีกา ก่อนมีการประกาศใช้” นพ.ไพศาล กล่าว

Advertisement

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตามที่เราได้อนุญาตใช้กัญชา กัญชงไปก็เป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ได้คาดการณ์ว่าปี 2021-2025 จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มจาก 600 ล้านบาทเป็น 15,770 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ  126 เช่น มูลค่าเครื่องดื่มตาม พ.ร.บ.อาหารฯ เพิ่มจาก 280 ล้านบาทเป็น 7,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  128 ส่วนของยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพิ่มจาก 50 ล้านบาท เป็น 1,240 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ  123 อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงของประชาชนในประเทศ จะเข้าถึงยาที่มาจากกัญชา กัญชงมากขึ้น เพราะการวิจัยพัฒนาจะง่ายขึ้น ไม่ได้หลบอยู่ใต้ดิน แต่จะมีการนำมาใช้ที่ถูกต้อง เพิ่มมูลค่าได้ จึงตาม พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ มีมาตราหนึ่งที่ระบุว่า อย.มีหน้าที่ประสานหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลเรื่องพันธุ์กัญชา กัญชง เพื่อส่งเสริมอาชีพ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการพิจารณาพื้นที่กำหนดให้มีการใช้กัญชา แบบนันทนาการได้ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ร่างประกาศนี้จะมีรายละเอียดว่า หากเป็นพื้นที่เฉพาะจะได้รับอนุญาต และมีการจำกัดอายุของคนที่ได้รับอนุญาต ซึ่งส่วนนี้จะมีการออกรายละเอียดมารูปแบบกฎหกระทรวงฯ ที่ต้องเพิ่มเข้ามา ซึ่งเรารู้ว่าในบางส่วนเป็นประโยชน์ เพื่อดูแลสุขภาพด้วย

เมื่อถามต่อว่า การอนุญาตให้มีพื้นที่นันทนาการได้ จะขัดต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศใดหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ในอนุสัญญาระหว่างประเทศนั้น จะต้องเรียนว่าเรามีการควบคุมอยู่ในร่าง พ.ร.บ. อย่างไรก็ตาม ถือว่าไม่ผิด และนี่เป็นความชัดเจนว่ามีหน่วยงาน คือ อย. ดูแลชัดเจน จึงต้องเรียนว่า เป็นการใช้ประโยชน์เพื่อประชาชนอย่างชัดเจน จึงไม่มีปัญหาเรื่องอนุสัญญา ตนมั่นใจว่าไม่มีประเด็นในส่วนนี้

เมื่อถามถึงการกำหนดอายุผู้ที่จะขออนุญาตปลูกกัญชาด้วยการจดแจ้ง อายุ 20 ปี ถึงว่าสูงไปหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า การกำหนดอายุ 20 ปี ตามเกณฑ์การบรรลุนิติภาวะ เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.เหล้า บุหรี่ หรือแม้แต่กระท่อม ซึ่งเรามีการจดแจ้ง มีการพิจารณาการตัดสินใจเรียบร้อยแล้ว

เมื่อถามว่า หากมีการปลูกเพื่อรักษาสุขภาพในครัวเรือน เราจะควบคุมไม่ให้ใช้ทางนันทนาการอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า การปลูกกัญชา กัญชง เพื่อดูแลสุขภาพตัวเอง ต้องมีคุณสมบัติคื อายุมากกว่า 20 ปี ปลูกในปริมาณ พื้นที่เหมาะสม ซึ่งจะมีการกำหนดในกฎกระทรวงฯ ต่อไป ส่วนหากอยู่บ้าน เราก็คงไม่ทราบ แต่คนที่รับจดแจ้งปลูกในครัวเรือนเพื่อดูแลสุขภาพ ก็ต้องมีวิจารญาณว่า ตัวเองทำอะไร

เมื่อถามถึงตัวอย่างโทษการนำกัญชา กัญชงในทางที่ผิด นพ.ไพศาล กล่าวว่า ตัวอย่างการกำหนดโทษตาม พ.ร.บ. เช่น ปลูกโดยไม่ได้จดแจ้งในจังหวัด มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือ การผลิต จำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต กำหนดโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำและปรับ ซึ่งเป็นโทษหนักสุดในพ.ร.บ.

เมื่อถามว่า นันทนาการตามกฎหมายตีความว่าอย่างไร หมายถึงการสูบหรือไม่ และเหตุใดต้องเว้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้ นพ.ไพศาล กล่าวว่า นันทนาการก็คือการนำไปใช้เพื่อความเพลิดเพลิน ส่วนการเว้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้จริงๆ มีตั้งแต่ใน พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 แล้ว ส่วนที่กำหนดในร่างฉบับนี้ก็เพื่อรองรับอนาคต เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลง การจะมาแก้ พ.ร.บ.นั้นเป็นเรื่องยาก จึงมีการเปิดกว้างๆ เอาไว้ ซึ่งอาจจะไม่ต้องมีการกำหนดพื้นที่ก็ได้ แต่หากมีการกำหนดพื้นที่ก้ต้องออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ผ่าน ครม.และผ่านกฎฤษฎีกา ถึงประกาศใช้ และต้องเป็นการใช้อย่างปลอดภัยด้วย

“ทั้งนี้ การเว้นเรื่องนี้ไว้ก็เพราะเรามีภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือแผนไทย หรือแม้แต่การช่วยเลิกยาเสพติดที่อาจจะใช้ตัวอื่นมาแทนเพื่อลดอันตรายจากการเลิกยา ก็เอาคอนเซ็ปต์เรื่องเหล่านี้มาวางเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้” นพ.ไพศาล กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า การเปิดช่องตรงนี้เพราะมองเห็นประโยชน์ของการนันทนาการหรือไม่ และมีโมเดลที่จะทำเหมือนต่างประเทศที่มีร้านคาเฟ่ที่ใช้นันทนาการหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าเรามองว่าในเชิงประโยชน์ของพืชสมุนไพรและเศรษฐกิจ แต่เรายังห้ามเรื่องนันทนาการ ส่วนการมีพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ก็เผื่ออนาคตแต่ก็ต้องดูว่าจะมีการพิจารณาใช้ในเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งเราไม่ได้เอาวัฒนธรรมที่อื่นมากำหนด แต่เราอาจจะหารูปแบบที่มีประโยชน์มาประยุกต์ได้ เช่น ในเรื่องของแผนไทย ภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องเสนอและประชาพิจาณษ เพื่อกำหนดเป็นกฎกระทรวง

เมื่อถามถึงกรณีการสกัดแล้ว THC เกิน 0.2% เข้าข่ายเป็นยาเสพติดต้องดำเนินการอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า ร่างนี้ไม่เกี่ยวกับร่างประกาศรายชื่อยาเสพติด ซึ่งเราร่างกฎหมายนี้ไว้อยู่ก่อนแล้ว เราดึงเรื่องของกัญชากัญชงทั้งหมดมาไว้ในร่างกฎหมายนี้ ซึ่งการสกัดก็ต้องมาขออนุญาตตามปกติอยู่แล้ว ไม่ได้ดูว่าเกินหรือไม่เกิน 0.2% ส่วนสารสกัดที่ได้ไม่ว่าจะเกินหรือไม่ก็ต้องไปดูในเรื่องของการผลิตที่ต้องขออนุญาตผลิตก็ต้องเป้นไปตามสุตรที่ขออนุญาต หากสูตรที่ขอต้องใช้ทีเอชซีเกิน 0.2% แต่ได้รับอนุญาตก็เอาสารสกัดที่ได้ไปใช้ตามสเปคที่กำหนดไว้ เพราะอย่างที่บอกว่าเกิน 0.2% เป็นยาเสพติดแต่ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้

ถามต่อว่า การออกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่มีเรื่องเว้นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ เพราะมีเรื่องของการเมืองหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน เราเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากกัญชากัญชง อย่างที่บอกว่าเรามองเรื่องของพืชสมุนไพรและพืชเศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวกับการเมืองหรือไม่

ต่อข้อถามว่า การออกร่าง พ.ร.บ.นี้จะมีขั้นตอนต่อไปอย่างไร นพ.ไพศาล กล่าวว่า จากนี้ก็จะเร่งประชาพิจารณ์โดยเร็วที่สุด ภายในเดือน ก.พ.ได้ก็ยิ่งดี เมื่อประชาพิจารณ์แล้วอาจมีการปรับร่างเสนอรัฐมนตรีว่าการ สธ.เห้นชอบ ก้เสนอเข้าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอ ครม. และไปคณะกรรมกฤษฎีกาพิจารณา เพื่อออกกฎหมาย

ด้าน ภญ.ขนิษฐา ตันติศิรินทร์ ผู้อำนวยการกองควบคุมวัตถุเสพติด กล่าวว่า การกำหนดแซนด์บ็อกซ์นั้น ขอให้ย้อนกลับไปที่หลัก พ.ร.บ.ฉบับนี้ ว่า ห้ามใช้เพื่อนันทนาการ แต่การที่เราเปิดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ก็เป็นทำนองเดียวกันที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 ซึ่งมีแซนด์บ็อกซ์ เช่นเดียวกับประมวลยาเสพติดฯ เปิดขึ้นมาเพื่อรองรับในอนาคต คือหลายๆ อย่างมีการเปลี่ยนแปลง มีมุมมองที่เปลี่ยนแปลงไป

“ยกตัวอย่างเช่น หากเรากำหนดพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ไว้ ก็เพื่อใช้สำหรับผู้ที่ต้องการเลิกยาเสพติด แต่เลิกไม่ได้ จำเป็นต้องใช้อะไรมาแทนยาเสพติดตัวนั้นเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา ตรงนี้เป็นการแก้ปัญหายาเสพติด จึงเอาหลักการนี้มาวางแซนด์บ็อกซ์ไว้ก่อน ซึ่งเราต้องศึกษาจากโมเดลหลายประเทศมาปรับให้เข้ากับบ้านเรา ส่วนการจะกำหนดในรูปแบบกฎกระทรวงฯ จะต้องมีการประชาพิจารณ์ก่อน” ภญ.ขนิษฐา กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image