“อัยการธนกฤต” ชี้ช่องโหว่ พ.ร.บ.จราจรทางบก จากเหตุสลดบิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย

“อัยการธนกฤต”ตั้งข้อสังเกตช่องโหว่ พ.ร.บ.จราจรทางบก จากเหตุสลด บิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย ประมาทชนคนข้ามม้าลาย ไม่มีโทษพักใช้เพิกถอนใบขับขี่ กฎหมายลูกตัดคะแนนความประพฤติยังไม่ออกทั้งที่แก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบก ตั้งแต่ปี 62 โทษขับเร็วเกินกำหนดไม่ว่ามากน้อยใช้อัตราเดียวกันหมด ไม่เหมาะสม แนะให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษเสริมได้

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
ปฏิบัติราชการในหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์
สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมายกรณี ส.ต.ต. ขี่บิ๊กไบค์ชนหมอกระต่าย เรื่องข้อสังเกตเรื่องโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ว่า “ตามที่ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวดก ขี่รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชนแพทย์หญิงวราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย ขณะเดินข้ามทางม้าลาย จนเสียชีวิต ผมขอให้ความเห็นส่วนตัวทางวิชาการที่เป็นข้อสังเกตทางกฎหมายในเรื่องโทษตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ดังนี้

1. การขับขี่รถโดยประมาทชนคนเดินข้ามถนนในทางม้าลาย พ.ร.บ. จราจรทางบกไม่ได้กำหนดโทษให้พักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ กำหนดโทษให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ เฉพาะในบางฐานความผิด เช่น แข่งรถบนถนน ฝ่าฝืนมาตรา 134 มีโทษตามมาตรา 160 ทวิ เสพยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทขณะขับขี่รถ ฝ่าฝืนมาตรา 43 ทวิ มีโทษตามมาตรา 157/1 ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ฝ่าฝืนมาตรา 43 (2) มีโทษตามมาตรา 160 ตรี

Advertisement

แต่การขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินตามมาตรา 43 (4) เช่น ขับขี่รถโดยประมาทชนคนเดินข้ามถนนในทางม้าลาย และความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ อีกหลาย ๆ ฐานความผิด เช่น ขับขี่รถบนทางเท้าโดยไม่มีเหตุอันสมควร ขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ไม่ได้กำหนดโทษให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ไว้เหมือนการกระทำความผิดอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น

ถึงแม้ว่ามาตรา 162 จะกำหนดให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ ได้ แต่ศาลจะใช้ดุลพินิจในการลงโทษนี้หรือไม่ก็ได้ ไม่ได้เป็นบทบังคับที่ศาลจะต้องลงโทษนี้แก่ผู้กระทำผิดเหมือนกับกรณีที่ได้กำหนดโทษไว้โดยชัดเจนให้ศาลต้องเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่หรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ดังกล่าวข้างต้น ซึ่งหากมีการกระทำความผิด ก็จะเป็นบทบังคับให้ศาลต้องลงโทษสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้

2. ยังไม่มีการออกกฎหมายลูกรองรับการตัดคะแนนความประพฤติทั้งที่มีการแก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบก ตั้งแต่ พ.ศ. 2562

Advertisement

พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา 142/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2562 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดให้มีระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ โดยการบันทึกคะแนนความประพฤติ ซึ่งมีทั้งการกำหนดคะแนน การตัดคะแนน และการคืนคะแนน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและอธิบดีกรมการขนส่งทางบกร่วมกันกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ถูกตัดคะแนนความประพฤติในการขับรถจนหมดคะแนนตามที่กำหนดไว้ ให้สั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่คราวละ 90 วัน

อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการออกกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูกตามมาตรา 142/1 มาใช้บังคับ ทำให้การตัดคะแนนความประพฤติในการขับขี่ตามมาตรา 142/1 นี้ ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้

3. พ.ร.บ.จราจรทางบกกำหนดอัตราโทษกรณีขับรถเร็วเกินกำหนดไว้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด

การขับขี่รถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดฝ่าฝืนมาตรา 67 วรรคหนึ่ง มีอัตราโทษตามมาตรา 152 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท ไม่ว่าจะขับขี่รถเร็วกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดมากน้อยแค่ไหน และไม่ว่าจะเป็นการขับขี่รถเร็วเกินกำหนด ณ สถานที่ใด ก็จะมีโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาทเหมือนกัน

แต่การขับขี่รถยิ่งเร็วมากเท่าใด หรือเป็นการขับขี่รถในสถานที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย เช่น หน้าโรงเรียน ย่านชุมชนหนาแน่น ความรุนแรงในการกระทำความผิดย่อมมีมากขึ้นและย่อมมีโอกาสในการเกิดอันตรายและอุบัติเหตุได้มากขึ้น จึงควรมีการกำหนดอัตราโทษที่แตกต่างกันตามความเร็ว ที่เกินจากอัตราที่กฎหมายกำหนด และตามสถานที่ที่ขับรถเร็วเกินกำหนดด้วยว่าอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่ออันตรายและอุบัติเหตุมากน้อยอย่างไร ซึ่งในหลายประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ก็ได้ใช้การกำหนดอัตราโทษที่แตกต่างกันตามความเร็วและสถานที่ที่แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความรุนแรงของการกระทำความผิด

4. ควรกำหนดให้ศาลมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษผู้ฝ่าฝืนที่เป็นโทษเสริมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับผู้กระทำความผิดและพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เช่น การให้ทำงานบริการสังคม หรือการให้ทำงานสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image