สภาวิศวกรตั้ง 4 ประเด็นเครนรถไฟฟ้าสายสีแดงถล่ม-เตรียมตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน ทำมาตรฐานก่อสร้างระบบราง

นายอมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุเครนก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงถล่มระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายนั้น ความคืบหน้าในส่วนของสภาวิศวกรหลังจากลงพื้นที่นำผู้ชำนาญการพิเศษลงตรวจสอบร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยแล้ว และพบว่าเหตุการณ์วิบัติที่เกิดขึ้นมาจากฐานรองรับเครนที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างตัวเครนและโครงสร้างเสาคอนกรีต ทางคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจพบว่ามีการขาดของเหล็กยึดที่เรียกว่า PT bar จำนวน 3 เส้น

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นว่าเหล็กยึดหลุดได้อย่างไรนั้นได้วางกรอบไว้ 5 ประเด็น คือ1.การออกแบบการยึดโครงเหล็กเข้ากับหัวเสาถูกต้องหรือไม่ 2.การก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ 3.มีการกำหนดระบบป้องกันกรณีอื่นเมื่อ PT bar ขาดหรือไม่ คือระบบสำรองที่จะยึดโครงเหล็กไว้ไม่ให้ร่วงลงมา ซึ่งในทีโออาร์ไม่ได้มีเขียนไว้ 4.วัสดุเช่น PT bar ได้มาตรฐานและมีกำลังรับน้ำหนักตามที่ออกแบบหรือไม่ ซึ่งทางสภาฯยังไม่ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกไป และยังต้องรอเอกสารรายชื่อวิศวะกร จากนั้นจะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเข้ามาสอบส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้น โดยจะเรียกวิศวกรที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลและดำเนินการทางจรรยาบรรณต่อไป หากพบว่าวิศวกรไม่ปฏิบัติตามหลักจะมีบทลงโทษขั้นสูงสุดคือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และหากไม่มีวิศวกรคุมการก่อสร้างก็จะถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ. วิศวกร 2542 ที่มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ขั้นตอนทั้งหมดจะได้ข้อสรุปภายใน 6 เดือน

“เรื่องนี้ไม่สามารถตอบด้วยตาเปล่าได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด หากเป็นเรื่องของความประมาทก็ต้องดำเนินการต่อตามขั้นตอน แต่หากเป็นเรื่องของระบบก็ถือว่าอันตรายก็ต้องเช็คให้รอบคอบว่าจะแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร หากจะถามถึงระบบ Fail save ซึ่งเป็นระบบป้องกันนั้น โดยปกติโครงการเช่นนี้จะเน้นความรวดเร็ว การจะมีระบบเพื่อมารองรับจะทำให้การก่อสร้างช้าออกไป แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อนก็จำเป็นต้องทำเพราะเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นมาหลายครั้งและในอนาคตประเทศไทยยังมีโครงการเช่นนี้อีก จึงเป็นสิ่งที่สภาต้องเรียกร้องว่าเราอยากเห็นระบบป้องกันสำรองเพื่อให้เกิดความปลอดภัย คือ งานสะดุดได้แต่ต้องปลอดภัย”นายอมรกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อให้การก่อสร้างระบบรางที่เกิดขึ้นในอนาคตเป็นไปอย่างปลอดภัยได้มาตรฐาน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้จะตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงสร้างระบบราง มีคณะกรรมการเฉพาะกิจประมาณ 20 ราย ประกอบด้วยตัวแทนจากสภาวิศวกร เอกชนที่เกี่ยวข้องประมาณ 7-8 บริษัท เช่น ผู้รับเหมา ที่ปรึกษาโครงการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานติดตั้งในงานก่อสร้างระบบขนส่งทางราง และภาครัฐ โดยให้แต่ละบริษัทเอกชนมาชี้แจงระบบที่ใช้ และให้บริษัทอื่นรวมทั้งหน่วยงานกลางร่วมวิพากษ์จุดอ่อน เพื่อกำหนดเป็นหลักเกณฑ์แนวปฏิบัติ เพิ่มความปลอดภัยทั้งการก่อสร้างทางเทคนิค การวิเคราะห์ความปลอดภัยของงาน จากนั้นจะนำข้อเสนอแนะเสนอต่อภาครัฐ และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะนำไปเป็นแนวทางในการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานในงานระบบรางของรัฐต่อไป

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image