ดร.ธรณ์รับ ‘ทำใจยาก’ หลังรู้ข่าวปลาโรนินถูกวางขายในตลาดภูเก็ตตัวละ 8 พัน เผยอยู่ระหว่างรอขึ้นบัญชีสัตว์สงวน

นักวิชาการชื่อดังสลดใจ ”ปลาโรนิน”สัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธ์ วางขายในตลาดภูเก็ต ระหว่างรอขึ้นบัญชีสัตว์สงวน

วันที่ 10 สิงหาคม ดอกเตอร์ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) อดีตสมาชืกสภาการปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลชื่อดัง เปิดเผยว่า ได้โพสต์ในเฟซบุ้ค” Thon Thamrongnawasawat “ กรณีมีการนำปลาโรนินหรือกระเบนท้องน้ำวางจำหน่ายในตลาดที่ จ.ภูเก็ต ในราคาตัวละ 8,000 บาท เนื่องจากโรนินเป็นปลาหายาก และตนเคยพบในการดำน้ำเพียงครั้งเดียว

ปัจจุบันปริมาณปลาโรนินมีน้อยมากแทบไม่ปรากฎข้อมูลในท้องทะเลไทย ขณะที่ก่อนหน้านี้มีการผลักดันให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวน ได้เสนอชื่อปลาโรนินเป็นสัตว์คุ้มครอง และ ผ่านทุกกระบวนการในเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยความร่วมมือจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์พืช ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เป็นสัตว์สงวน และมีมติให้สัตว์ทะเลอีก 12 ชนิดเป็นสัตว์คุ้มครอง โดยมีปลาโรนินรวมอยู่ด้วย จากนั้นได้เรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการ

“ ในฐานะผู้ที่มีส่วนในการผลักดันได้ติดตามเรื่อง เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการทะเลแห่งชาติ ได้ถามในที่ประชุมซึ่งมีรองนายกประวิตรเป็นประธาน ทุกคนก็ให้ความสนใจ บรรจุเป็นวาระสืบเนื่องในที่ประชุมในทุกครั้งที่ผ่านมา และเมื่อเป็นประธานในคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ก็พยายามติดตาม รวมถึงหลายครั้งที่พยายามถามความคืบหน้าอย่างไม่เป็นทางการกับผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่ขณะนี้สัตว์ทั้งหมดยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทั้งที่เวลาผ่านไปหลังจากครม.เห็นชอบกว่า 1 ปี “

Advertisement

ในเฟซบุ้ค ” Thon Thamrongnawasawat “ ระบุว่า มั่นใจว่าภายในปีนี้ ทุกอย่างจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ และไม่เคยคิดว่าจะต้องเขียนลงเฟซบุ้ค ไม่อยากให้เรื่องของทะเลต้องเร่งด่วนกว่าเรื่องอื่นๆ เพราะทุกเรื่องมีความสำคัญ และกฤษฎีกามีงานมากมายแต่ผมเห็นภาพกระเบนราหูโดนจับ เห็นภาพปลาโรนินถูกนำมาขาย เป็นอะไรที่ทำใจยาก ผมใคร่ขอร้องว่า รบกวนสักนิดได้ไหมครับ ขอความกรุณาช่วยผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นกระบวนการ เพราะระหว่างที่ไม่มีกฎหมาย ชีวิตสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้กำลังตาย โดยไม่มีใครทำอะไรได้ ผมไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจดำน้ำ แม้ผมจะเห็นด้วยว่าโรนินมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อการท่องเที่ยวมหาศาล แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับความภาคภูมิใจของคนรุ่นเรา ความภูมิใจที่สามารถรักษาสัตว์หายากของโลก ปลาดึกดำบรรพ์กึ่งฉลามกึ่งกระเบน ให้คงอยู่ในทะเลไทยต่อไป

“ ลูกเราหลานเรากำลังจะรู้จักปลาโรนินแต่เพียงชื่อ เหมือนที่คนรุ่นหนุ่มสาวสมัยนี้รู้จักปลาฉนากแต่เพียงชื่อ เราอาจมีหวังน้อยๆ กับปลาโรนิน หากกฎหมายออกมาทันเวลา และการมีหวังน้อยๆ ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลยจึงใคร่ขอคนรักทะเลทั้งหลาย ช่วยกันแชร์ช่วยกันบอกกล่าวเรื่องนี้ไปเพราะพวกเราไม่อยากเห็นกฎหมายออกมาเมื่อสายเกินไป ดังที่เกิดมาแล้วหลายครั้งคราวน้ำตาและความเสียใจเมื่อสายเกินไป มันตอบคำถามลูกหลานไม่ได้หรอกครับ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image