นักวิชาการแนะแก้ปม ‘ป้อมมหากาฬ’ ปรับชุมชนเป็น ‘มิวเซียม’ กลางแจ้ง

ความคืบหน้ากรณีชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 57 หลังคาเรือน คัดค้านแผนไล่รื้อชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่รอบป้อมมหากาฬเป็นสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี โดยล่าสุด กทม.เตรียมออกหนังสือปิดประกาศให้ชาวชุมชนป้อมมหากาฬย้ายออกจากพื้นที่ภายในต้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ชุมชนได้ออกแถลงการณ์และยื่นข้อเสนอ 5 ข้อต่อ กทม.เพื่อขออยู่ในพื้นที่ต่อ และจะร่วมกับเครือข่ายชุมชน นักวิชาการ จัดเสวนาใหญ่ในวันที่ 27 มีนาคมนั้น

อ.ชาตรี ประกิตนนทการ
อ.ชาตรี ประกิตนนทการ

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม นายชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน เชื่อว่าครั้งนี้ กทม.จะไล่รื้อจริง สำหรับเหตุผลที่ กทม.จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะนั้น เห็นว่าเป็นแนวคิดเมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเกาะรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับการสร้างสวนสันติชัยปราการ แต่ในฐานะนักวิชาการไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะป้อมมหากาฬไม่เหมาะสมที่จะเป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากมีทางเข้า-ออกเพียงด้านเดียว คือ ส่วนที่ติดถนนตรงข้ามวัดเทพธิดาราม นอกนั้นติดคลอง และตัวป้อมไม่สามารถเข้า-ออกได้ หากสร้างสวนอาจก่อให้เกิดอันตราย หรือกลายเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมได้ง่ายในช่วงเช้าตรู่และกลางคืน แต่หากจะไม่ดำเนินการก็อาจติดปัญหาที่ข้อกฎหมาย

“ผมเสนอทางออกคือ ให้ปรับแก้ไขพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถดำเนินการได้ หลังจากนั้นควรปรับปรุงพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เนื่องจากในชุมชนมีเรือนไม้เก่าจำนวนมาก โดยให้ชาวบ้านเป็นลูกจ้างของรัฐดูแลพื้นที่ สามารถอยู่อาศัยได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ และในกรณีที่ชาวบ้านซึ่งมีบ้านหลังอื่นนอกเหนือจากในชุมชน ให้ย้ายออกทันที” นายชาตรีกล่าว และว่า หากดำเนินการเช่นนี้ได้ ชุมชนป้อมมหากาฬจะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการดำเนินการกับชุมชนแห่งอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกันในกรุงเทพฯ เพราะการแก้ปัญหาโดยการไล่รื้ออย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ

สุจิตต์ วงษ์เทศ
นายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน

ด้านนายสุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ในเครือมติชน กล่าวว่า กทม.ไม่ควรไล่รื้อชุมชน แต่ควรจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ (มิวเซียม) กลางแจ้ง ซึ่งนอกจากเรือนไม้แล้ว เห็นว่าควรทำมิวเซียมลิเก สร้างวิกที่สามารถจัดแสดงมหรสพได้ เพราะพื้นที่ป้อมมหากาฬเคยเป็นที่ตั้งของวิกลิเกแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นของพระยาเพชรปาณี สมัยรัชกาลที่ 5 (ร.5) มีหลักฐานคือ ภาพถ่ายเก่ารูปหญิงหลายคนนุ่งโจงกระเบน คาดผ้าแถบ กับเด็ก และผู้ชายอีกสองคนเดิน-ยืนอยู่หน้าโรงร้านแห่งหนึ่งซึ่งขึ้นป้ายชัดๆ ว่า “ลิเกพระยาเพชรปาณี” ถ่ายโดย เจ. อันโตนิโย เจ้าของร้านถ่ายรูป เจ. อันโตนิโย ปากตรอกชาร์เตอร์ดแบงก์ ถนนเจริญกรุง ซึ่งนายอเนก นาวิกมูล ได้นำมาให้ดู และตีพิมพ์ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 21 ฉบับที่ 2 เดือนธันวาคม พ.ศ.2542

Advertisement

“พระยาเพชรปาณีมีบ้านอยู่ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ทำลิเกขึ้นครั้งแรกสมัย ร.5 โดยแต่งตัวเลียนแบบละครพันทางของเจ้าคุณมหินทร์ วิกปรินซ์เธียเตอร์ ท่าเตียน แต่แหกคอก นอกกรอบละคร เลยมีชาวบ้านดูมาก เพราะดูรู้เรื่องและสนุก จึงสร้างวิกลิเกครั้งแรก แห่งแรกที่ป้อมมหากาฬ ดังนั้น ควรทำมิวเซียมลิเกในชุมชนป้อมมหากาฬโดยไม่ไล่รื้อชุมชน แล้วมีลิเกเล่นประจำบริเวณลานกลางบ้านในชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านทั่วไปและรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดู และให้คนชุมชนป้อมมหากาฬเป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียมลิเก” นายสุจิตต์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image