#DELETEFACEBOOK : การลบเฟซบุ๊ก เป็นทางออกไหม? ถ้าไม่ใช่ – เราควรทำอย่างไร? โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

คุณลบเฟซบุ๊กได้ไหม? – ผมเชื่อว่า ก่อนหน้านี้ คุณเองคงเคยมีห้วงเวลาที่อยากลบเลือนเฟซบุ๊ก (รวมถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กทั้งปวง) ออกจากชีวิตอยู่บ้าง มันอาจจะรุกล้ำคุณมากเกินไป อาจทำให้คุณรู้สึกว่าตัวเองสมาธิสั้น อาจทำให้คุณรู้สึกไม่มั่นคงทางใจ แต่จนแล้วจนรอด คนส่วนมากก็ไม่อาจทำใจลบเฟซบุ๊กออกจากชีวิตได้ – ด้วยความที่มันเป็น “หลายสิ่งหลายอย่าง” เกินไป

จนกระทั่งตอนนี้?

กรณีอื้อฉาวครั้งล่าสุดของ Facebook กับบริษัท Cambridge Analytica ที่ตักตวงข้อมูลผู้ใช้กว่า 30 ล้านรายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทำให้เกิดแคมเปญรณรงค์ #DeleteFacebook (อีกครั้ง) แคมเปญดังกล่าวริเริ่มบนทวิตเตอร์ มีผู้มีชื่อเสียงในวงการเทคโนโลยีเข้าร่วมแคมเปญมากมาย อีลอน มัสก์ แห่ง Tesla และ SpaceX เองก็ออกมาเล่นมุขว่า “เฟซบุ๊กคืออะไรเหรอ” ก่อนที่จะลบเพจทั้ง SpaceX และ Tesla ออก โดยแสดงความเห็นว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องโฆษณา” กระทั่งไบรอัน แอคทอน ผู้ก่อตั้ง Whatsapp (ซึ่งต่อมาขายกิจการให้กับ Facebook) ก็ยังทวีตว่า “ถึงเวลาแล้ว ลบเฟซบุ๊กกันเถอะ #DeleteFacebook” ซึ่งปัจจุบัน ทวีตดังกล่าวได้รับการรีทวีตมากกว่า 35,000 ครั้งแล้ว

แต่คำถามสำคัญก็คือ การลบเฟซบุ๊กเป็นทางออกไหม? มันช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือเปล่า? การตอบคำถามนี้อาจต้องแยกออกเป็นสองระดับ คือระดับบุคคล กับระดับภาพรวม

Advertisement

ในระดับบุคคล – หากการลบเฟซบุ๊กจะทำให้คุณสบายใจ ทำให้คุณรู้สึกว่าตนเองมีสติอยู่กับร่องกับรอย มีสมาธิได้นานขึ้น – ก็ทำเถอะครับ, หากคุณชั่งน้ำหนักกับการที่จะไม่ได้เชื่อมต่อหรือมีบทสนทนาร่วมกับเพื่อนๆ ที่ยังคงอยู่ในแพลตฟอร์ม หรือการไม่ได้ทำมาหากินบนเฟซบุ๊กร่วมด้วยแล้ว – แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณก็อาจต้องตระหนักด้วยว่า “การลบเฟซบุ๊ก” โดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาข้อมูลของตนเองนั้นอาจไม่ใช่วิถีทางที่ดีที่สุด เมื่อคุณยังลงแอพพลิเคชั่นอื่นๆ อย่างเช่น Instagram หรือ Whatsapp บนเครื่องอยู่ รวมไปถึงสคริปต์ปุ่มกดไลค์กดแชร์ที่ฝังไว้ตามเว็บไซต์อื่นๆ นอกเฟซบุ๊กก็ใช่ว่าจะตามตัวคุณไม่ได้เสียเมื่อไหร่

ส่วนในระดับภาพรวม – การลบเฟซบุ๊กจะทำให้พวกเขาสะเทือนไหม? ความเห็นส่วนใหญ่เชื่อว่าเฟซบุ๊กจะไม่สะดุ้งสะเทือนกับแคมเปญเช่นนี้นัก ด้วยความที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 2.2 พันล้านคนทั่วโลก หากแคมเปญนี้ได้ผลมากๆ และทำให้คนเลือกลบเฟซบุ๊กสัก 1 ล้านคน นั่นก็เป็นเพียงแค่ไม่ถึง 1% ของจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กทั้งหมดเท่านั้น (ในประเทศไทยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กราว 46-48 ล้านคน คิดเป็นราว 70% ของประชากรทั้งหมด) และในตอนนี้ เฟซบุ๊กก็ยังหันไปมุ่งทำตลาดในประเทศกำลังพัฒนามากกว่าที่จะห่วงกับตัวเลขผู้ใช้ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างอเมริกาหรืออังกฤษ (แต่ในเชิงภาพลักษณ์ – พวกเขาก็คงเป็นห่วงอยู่นั่นแหละครับ อย่างที่เห็นได้จากการลงโฆษณาขอโทษเต็มหน้าในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ)

Aaron Balick นักจิตวิทยาผู้เขียนหนังสือ พลวัตทางจิตของโซเชียลเน็ตเวิร์ก (Pyschodynamics of Social Networking) ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Wired ว่า ผู้คนก็รู้อยู่แล้วว่าเฟซบุ๊กมีข่าวฉาวทำนองนี้ แต่ก็ยังไม่เลิกใช้แพลตฟอร์ม เขาไม่คิดว่าเรื่องนี้จะทำให้คนเลิกใช้เฟซบุ๊ก เพราะเหตุผลและความสะดวกสบายนั้นมีน้ำหนักมากกว่าความกังวล

ยังมีผู้เสนอว่า การที่กระแสอื้อฉาวผลักบาปให้ไปตกอยู่กับเฟซบุ๊กแต่เพียงผู้เดียวอย่างตอนนี้ ยังเป็นการปล่อยให้บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ อย่างกูเกิลและทวิตเตอร์ลอยนวลด้วย เราต้องไม่ลืมว่าอัลกอริธึมแนะนำวิดีโอในยูทูบนั้นมีปัญหาในการผลักให้คนมีความคิดทางการเมืองสุดขั้ว (และอาจรุนแรงกว่าเฟซบุ๊กเสียอีก เมื่อคำนึงว่ามันมาทั้งภาพทั้งเสียง และไม่ได้แสดงหลายโพสต์ให้มีความเห็นหลากหลายในหน้าเดียว) ส่วนทวิตเตอร์เองก็มีคำถามที่ต้องตอบในเรื่องการจัดการกับแอ๊กเคานท์บอตที่ปลอมตัวมา
สร้างความวุ่นวายในช่วงเลือกตั้งอเมริกาที่ผ่านมาที่ยังไม่เคลียร์นัก

Siva Vaidhyanathan แห่ง New York Times เสนอความเห็นว่าการ #ลบเฟซบุ๊ก นั้นเป็นคล้าย “สิ่งหรูหรา” ที่คนในประเทศเจริญแล้วสามารถทำได้เท่านั้น ผู้คนในประเทศกำลังพัฒนามากมายต้องพึ่งพาเฟซบุ๊กในการติดต่อสื่อสาร, ในการรับข่าวสาร และในการทำมาหากิน สำหรับพวกเขาแล้วเฟซบุ๊กเป็นเหมือนอินเตอร์เน็ต พวกเขาไม่อาจนึกลบเฟซบุ๊กได้ในฉับพลันยามมีความกังวล เมื่อชีวิตของพวกเขาทั้งชีวิตแขวนอยู่บนนั้น (ซึ่งจริงๆ แล้ว ผมคิดว่าวิธีคิดแบบนี้ก็เป็นปัญหาในตัวมันเองอยู่ – ว่าเราปล่อยให้
เฟซบุ๊ก “เป็นอะไรมากขนาดนั้น” ได้อย่างไร)

หากการลบเฟซบุ๊กไม่ช่วย แล้วคำตอบคืออะไร? เราอาจต้องเรียนรู้วิธีการทำงานของมันให้พอมีความตระหนักไว้บ้าง มีเครื่องมืออย่างเช่น Gobo (https://gobo.social) จาก MIT ที่ทำให้เราสามารถควบคุมฟีดของเราได้ว่าอยากให้แสดงเนื้อหาแบบไหนมากน้อยแค่ไหน (ยังเป็นช่วงทดลองอยู่ – ยังมีข้อผิดพลาดมากมาย) เราอาจติดตั้งโปรแกรมเสริมอย่างเช่น Feedless (http://feedless.me/) เพื่อบล็อกไม่ให้เราเห็นฟีดต่างๆ เมื่อรู้สึกว่าตัวเอง “ติด” โซเชียล
มากเกินไป เราอาจเข้าร่วมโซเชียลเน็ตเวิร์กย่อยๆ อื่นๆ ที่เฉพาะทางขึ้น (เช่น Goodreads สำหรับคนอ่านหนังสือ) ในฐานะองค์กร เราอาจลดการพึ่งพาเฟซบุ๊กว่าเป็นทางเดียวที่จะกระจายสารของเราไปสู่ผู้บริโภคได้ อาจทดลองกระจายผ่านช่องทางอื่นๆ – หรือเชื่อมั่นในหน้าเว็บของตัวเองมากขึ้นสักหน่อย

Jillian York แห่ง Buzzfeed เสนอแนวทางที่ – อาจฟังดูแล้วโลกสวยนิดหน่อย – แต่ก็น่าคิดทีเดียว เธอบอกว่า เราไม่ต้องลบเฟซบุ๊กหรอก แต่สิ่งที่เราควรทำคือ “กลับไปใช้เฟซบุ๊กเหมือนที่เราเคยใช้ในปี 2010 ต่างหาก ในตอนนั้น เราใช้เฟซบุ๊กเพื่อเชื่อมต่อกับเพื่อนและครอบครัว แชร์รูปขำๆ ตลกๆ บ้าง แต่ไม่ได้ใช้แบบติดหนึบ ไถหน้าจอทั้งวันผ่านนิวส์ฟีดที่มีแต่เนื้อหาที่เรียกร้องให้กดไลค์อย่างทุกวันนี้” เธอคิดว่า “เราเริ่มกลับไปใช้เฟซบุ๊กแบบนั้นได้ตั้งแต่วันนี้เลย และในขณะเดียวกัน คุณก็อาจเลือกอ่านข่าว ดูวิดีโอจากที่อื่นบ้าง ในขณะที่ก็ยังใช้เฟซบุ๊กอยู่ – แต่ขอให้ใช้ด้วยเหตุผลที่ทำให้คุณชอบมันในตอนแรกนะ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image