‘ปนัดดา’ ยกพระราชดำรัสพระมหากษัตริย์ -แนวคิดบุคคลต้นแบบ เป็นแรงบันดาลใจพนง.กฟผ.

หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการกระทรวงยุติธรรม แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ‘ใต้ร่มพระบารมี’ ในโอกาสที่ กฟผ.ก้าวสู่ปีที่ 50 เมื่อวันที่ 25 เมษายน โดยมีพนักงาน กฟผ. สื่อมวลชนจากทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ตลอดจนลูกหลานเยาวชน เข้ารับฟังเต็มหอประชุม ‘เกษม จาติกวณิช’ สำนักงานใหญ่ กฟผ. ถนนจรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

ม.ล.ปนัดดา กล่าวในตอนหนึ่งของการปาฐกถาพิเศษว่า ทำการบ้านมาเมื่อคืน คือเตรียมการบรรยายสำหรับวันนี้เป็นพิเศษ ตั้งใจจะนำเสนอแนวคิดของบรรพบุรุษไทยที่ไม่เคยล้าสมัยและถือเป็นบทเรียนชีวิต เข้าใจได้ง่ายแก่ทุกท่าน เพื่อจะได้ช่วยกันขยายผลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการร่วมกันจรรโลงรักษาแผ่นดินไทย และสืบสานพระราชปณิธาน ก้าวเดินตามรอยพระยุคลบาท

การบรรยายวันนี้ จะเริ่มต้นด้วยบทพระราชนิพนธ์ของพระมหากษัตริย์ พระนิพนธ์ และแนวคิดของพระบรมวงศ์ บุคคลสำคัญของชาติไทย และที่ชาวต่างประเทศซึ่งแปลมาจากพระราชดำรัสในโอกาสสำคัญ ซึ่งท่านเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลผู้มีความจงรักภักดีต่อแผ่นดิน พูดคุยวันนี้ ขอให้ทุกท่านตั้งข้อสมมุติฐานว่าเราคุยกันอยู่ในห้องขนาดเล็ก จำนวนคนไม่ได้มากดั่งที่เห็น เพราะหากคิดว่าห้องประชุมใหญ่โต แขกเหรื่อมากมาย การบรรยายที่ผมตั้งใจจะให้เกิดบรรยากาศใหม่ๆ การพูดคุยสนทนา การตั้งคำถาม ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก อยากให้ทุกท่านน้อมนำปรัชญาคำสอนต่อไปนี้สู่การปฏิบัติ ท่านผู้บริหารอาจมอบหมายบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ช่วยกันขบคิด นอกกรอบบ้าง แต่อย่าสุดโต่งจนเลยเถิด เพื่อการทำงานที่มีระเบียบ สร้างสรรค์ และประสบการณ์ที่ทุกท่านจะได้รับ ย่อมเป็นสิ่งที่ควรแก่การจดจำ

บทพระราชนิพนธ์ พระนิพนธ์ และบทประพันธ์ที่วิมีความตั้งใจนำเสนอต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเพื่อนำไปเป็นอนุสติเตือนใจ ให้เกิดความละเอียดรอบคอบ มีความสุขุมคัมภีรภาพในการทำงาน และมีความรับผิดชอบชั่วดีในการดำเนินชีวิต

Advertisement

1)”ถึงสูงศักดิ์ อัครฐาน สักปานไหน
ถึงวิไล เลิศฟ้า สง่าศรี
ถึงฉลาด กาจกล้า ปัญญาดี
ถ้าไม่มีคุณธรรมก็ต่ำคน”
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

2)”ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด
เว้นแต่ชั่วดีกระด้างห่อนแก้ ฤาไหว”
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

3)”ความรู้คู่เปรียบด้วย กำลัง กายเฮย
สุจริตคือเกราะบัง ศาตรพ้อง
ปัญญาประดุจดัง อาวุธ
กุมสติต่างโล่หป้อง
อาจแกล้วกลางสนาม”
(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

Advertisement

4)”A good person can make another person good; it means that goodness will elicit goodness in the society; other persons will also be good.”
(His Majesty King Bhumibol Adulyadej)

5)”ใดใดในโลกล้วน อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้ ก่อเกื้อรักษา”
(ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าใครเป็นผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจแต่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือไม่ก็ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช)

6)”พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา”
(สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)

7)”แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน”
(สุนทรภู่)

8)”แม้นใครรักรักมั่งชังชังตอบ ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา
รู้สิ่งไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
(สุนทรภู่)

9)”ยามเยาว์เห็นโลกล้วน แสนสนุก เป็นหนุ่มสาวก็หลงสุข ค่ำเช้า กลางคนเริ่มเห็นทุกข์ สุขคู่ กันนอ ตกแก่จึงรู้เค้า ว่าล้วนอนิจจัง”
(สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)

10)”เขามีส่วนเลวบ้างช่างหัวเขา จงเลือกเอาส่วนที่ดีเขามีอยู่
เป็นประโยชน์โลกบ้างยังน่าดู ส่วนที่ชั่วอย่าไปรู้ของเขาเลย
จะหาคนมีดีโดยส่วนเดียว อย่ามัวเที่ยวค้นหาสหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหาหนวดเต่าตายเปล่าเอย ฝึกให้เคยมองแต่ดีมีคุณจริง”
(ท่านพุทธทาส)

11)”อันที่จริง คนเขาอยาก ให้เราดี
แต่ถ้าเด่น ขึ้นทุกที เขาหมั่นไส้
จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย
ไม่มีใคร เขาอยากเห็น เราเด่นเกิน”
(พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image