สารคดีเสียงจากแผ่นดิน#5 – EP.4 : “ปลูกกิน เหลือนำไปขาย” ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ รายวัน-รายเดือน

“เกษตรพอเพียงมีกินมีใช้แน่นนอน ผักนิด ผักหน่อย ก็ขายได้ ขายได้หมดเลยนะ ป้าทำนิดเดียวยังขายได้เป็นเงินเป็นทอง พอค่ากับข้าว ทุกวันๆ มีออกทุกวัน แล้วได้ค่ากับข้าวทุกวันไม่ต้องซักเนื้อเลย”

การยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิต จนสามารถพึ่งตนเองได้ ของชาวบ้าน บ้านวังกุ่ม ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก คือกุญแจดอกสำคัญที่เข้ามายกระดับและพัฒนาชุมชนที่เคยประสบปัญหาน้ำท่วม ทำนาไม่ได้ผลผลิต เกิดหนี้นอกระบบจนกลายเป็น “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” ตัวอย่าง ที่ผสมผสาน “การทำนา” กับ “ไร่ผักสวนครัว”

โดยแต่ละปีพื้นที่ทำการเกษตร 3,300 ไร่ จะเต็มไปด้วยพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด ทั้ง พริกถั่วฝักยาว ผักบุ้งจีน และอื่นฯ หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาดชุมชน

Advertisement

คุณทองเปลว ชูวงศ์  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรทำ นาบ้านวังกุ่ม เล่าให้ฟังว่า ชุมชนที่นี่เป็นที่ลุ่มเป็นแอ่งกระทะคือน้ำทุกที่จะมารวมอยู่ตรงนี้ที่เดียว ถึงปีน้ำก็จะท่วม ชาวบ้านลงทุนหมดแล้ว ต้นข้าวเตรียมจะเก็บเกี่ยวเป็นน้ำนมหมดแล้ว แต่พอมาน้ำท่วมเสียหาย เหมือนหมดตัว

“สมาชิกทุกคน คือ หมดตัว จะต้องกิน ต้องกินต้องใช้ แต่เผอิญที่ว่าก็ยังมีทางอำเภอ พัฒานาชุมชนก็เข้ามาหากลุ่มรายได้เสริม มาสอนวิธีทำอะไรต่ออะไร กลุ่มขนม กลุ่มน้ำยาหมัก น้ำยาชีวภาพสำหรับใช้ในการเกษตร มาช่วยตรงนี้ บางคนก็ทำผัก พอเสร็จจากทำนา บางคนก็ไปรับจ้าง บางคนก็หาปลา บางคนก็ทำไร่ผักผสมกันไปเพื่อเอาเป็นอาชีพเสริม ถ้าเราไม่มีอาชีพเสริม เราอยู่ไม่ได้” 

ด้านคุณสังวาลย์ แซ่ลอ  ปราชญ์ชาวบ้านบ้านวังกุ่ม กล่าวว่า ในพื้นที่ชุมชนจะทำแต่นาก็ไม่พอกิน ต้องมีอาชีพเสริม คือ การทำไร่ไปด้วย โดยเริ่มแรกก็ทำน้อยๆก่อน พอเห็นผลก็ขยายขึ้นไป 

Advertisement

“ตัวนี้เป็นรายได้เสริมที่ว่า เราอยู่ได้ ถ้าไม่มีตัวนี้ ไม่ทำตัวนี้เราอยู่ไม่ได้เลย อย่างทุกวันนี้ผักอย่างอื่นหมด ตอนนี้ก็มี แต่ผักบุ้งก็ยังมีรายได้วันละ 300- 400 บาทก็พออยู่ได้”

ด้วยพื้นฐานของชาวบ้านวังกลุ่มส่วนใหญ่ถนัดกับการทำการเกษตร การปลูกผักสวนครัวสลับกับทำนาจำหน่าย จึงเป็นทางเลือกที่ชาวบ้านให้ความสนใจ เนื่องจากลงมือทำได้ทันที ใช้เงินลงทุนไม่มากโดยพืชผักที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เลือกปลูกจะเป็นพืชผักสวนครัวที่ใช้น้ำน้อยสามารถวางแผนให้มีผลผลิตตลอดทั้งปีได้โดยแต่ละครัวเรือนเริ่มต้นจากปลูกไว้บริโภคเป็นการช่วย “ลดรายจ่าย” ภายในครัวเรือน เหลือจึงนำไปขายในชุมชนเป็น “รายได้เพิ่ม” แต่เกษตกรบางรายยึดเป็นอาชีพหลักแทนการทำนาเนื่องจากเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ “รายวันและรายเดือน”

“ของหมู่บ้านนี้จะทำได้พวกพริก มะเขือแต่มะเขือจะน้อยมาก มะละจะเยอะ มะละ เป็นพืชที่ว่าถ้าถึงฤดูแพงของเขาจะแพงมาก แล้วก็จะมีถั่วฝักยาว แต่พวกพริกจะเก็บได้ยาว เก็บรุ่นหนึ่ง เราจะมีรุ่นสอง รุ่นสามต่ออีก เราจะวางแผนเลยว่าเราจะปลูกอะไรต่ออะไร เราจะวางแผนเลย รุ่นนี้เราจะต้องปลูก ถั่ว ประมาณกี่ร่อง กี่ร้อยหลัก ปลูกมะละเท่านี้ ปลูกพริกเท่านี้ อะไรแบบนี้” คุณทองเปลวกว่าว

การสร้างรายเสริมที่เริ่มจากครอบครัว เริ่มขยายสู่ชุมชนในลักษณะ”กลุ่มอาชีพ”โดยชักชวนคนในหมู่บ้านเข้ามาร่วมกันเป็นสมาชิก กลุ่มออมเงินสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิต กองทุนหมู่บ้าน, กลุ่มอาชีพแม่บ้าน และกลุ่มเกษตรกร ที่นำมาต่อยอด สร้างเป็นอาชีพเสริมให้กับครอบครัวและชุมชน

นอกจากนี้หมู่บ้านวังกุ่ม ยังสร้างคนต้นแบบตัวอย่างที่ได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน พัฒนาให้เป็นจุดแลกเปลี่ยนรู้ให้กับชุมชนนับเป็นโอกาสที่ดีของคนในหมู่บ้านที่จะมีการเรียนรู้ด้วยตนเองและปฏิบัติจริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image